ถอดรหัสประชานิยมชิงมวลชน “ประชารัฐ-ไทยนิยม” สไตล์ “บิ๊กตู่”

กระแส “ไทยนิยม” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไหลเชี่ยวท่วมทุกตำบล-หมู่บ้าน

เม็ดเงินลูกล่าสุดกว่า 1.5 แสนล้านบาท ถูกทุ่มลงไปผ่านเครื่องมือภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ทั่วทุกภูมิภาค ภายหลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. … ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เดินคู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.วินัยการเงิน-การคลัง ประกาศห้ามรัฐบาลทำนโยบายประชานิยม ตามมาด้วยคำถามว่า แล้วโครงการ “ไทยนิยม” เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่

สถาบัน “ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม” เปิดฟลอร์ “ดิเรกเสวนา” หัวข้อ “ประชานิยมในโลก (ไร้) ประชาธิปไตย” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา” หรือ Populism : A Very ShortIntroducation

เปิดพื้นที่วิชาการ-วิพากษ์นโยบายประชานิยมไทยเชิงเปรียบเทียบระหว่างนโยบายประชานิยมในยุคทักษิณ ชินวัตร-ประชารัฐในแบบฉบับ พล.อ.ประยุทธ์

“ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ ผู้แปลหนังสือ “ประชานิยม : ความรู้ฉบับพกพา” เปิดประเด็น “ประชานิยมในโลก (ไร้) ประชาธิปไตย” ว่า คำนิยาม “นโยบายประชารัฐ” คือการทำนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ประชารัฐจึงไม่ได้มุ่งเน้นที่การนิยมชมชอบจากประชาชนในระยะสั้น เพราะนโยบายที่ประชาชนนิยมชมชอบแต่จะมีผลเสียตามมาในอนาคตก็เป็นได้และคนที่ชอบใช้ประชานิยมก็เพื่อหวังผลจากเสียงเลือกตั้งในระยะสั้น

“นโยบายประชารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญของแหล่งที่มาของอำนาจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ประชารัฐไม่แคร์ว่าจะเป็นอำนาจที่ประชาชนโหวตเลือกมาหรือมาจากปากกระบอกปืน ขอเพียงประโยชน์จากการดำเนินนโยบายตกอยู่กับประชาชนก็พอ ให้ for the people ก็พอ ไม่จำเป็นต้อง by the people”

“ความแตกต่างระหว่างนโยบายประชารัฐกับประชานิยม คือ ประชารัฐตัดประชาธิปไตยออกไปได้เลย มีประชารัฐได้ โดยไม่ต้องมีประชาธิปไตย ประชารัฐเป็นเสรีนิยมรูปแบบใหม่ รูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อจะหวนกลับไปเลือกตั้งก็หันไปใช้ populism”

“ในที่สุดก็ออกเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ห้ามประชานิยม เป็นการบังคับวินัยการเงินการคลังแบบอำนาจนิยมเพื่อบังคับใช้กับทุกรัฐบาลหลังจากนี้เป็นต้นไป เพื่อประกันว่าจะไม่ใช้จ่ายเงินเกินงบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าทำอย่างนั้นเมื่อไรตีความได้ว่าเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการบอนไซนโยบายประชานิยมไปในตัว”

“กรณีไทย เสน่ห์ของคุณทักษิณ ขึ้นมาในระเบียบการเมือง-ระเบียบการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เป็นการประกบทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน คือ ขึ้นมาด้วย Politic populism และดำเนินนโยบายแบบ economic populism ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นทางเดียวของการตอบโต้ คือ การรัฐประหารและเป็นเผด็จการ เกิด คมช.และ คสช. เพราะคุณทักษิณขึ้นมาโดย by people ซึ่งขัดกับระเบียบอำนาจเก่า”

“ทำไมคนชั้นกลางบน หรือ กปปส. ถึงหันหลังให้กับประชาธิปไตยเพราะทักษิณเอื้อเฟื้อให้คนชั้นกลางล่าง ซึ่งมีฐานจำนวนมาก”

“ศ.ดร.เกษียร” ย้อนยุครุ่งเรืองที่สุดของชนชั้นกลางบน คือ ยุค พล.อ.เปรมและยุค พล.อ.ชาติชาย เป็นการเมืองในฝันของ กปปส. (ทิ้งคนชั้นกลางล่าง) แต่สมัยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งกับยุคทักษิณคนชั้นกลางล่างกวดใกล้ไล่ทันกับคนชั้นกลางบนแทบจะเท่ากัน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางบนและล่าง และเป็น “ปม” ให้เกิดประชานิยมที่ไร้ประชาธิปไตยในเมืองไทย

ด้าน “ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองละตินอเมริกันศึกษา 1 ในดินแดนต้นแบบประชานิยม อธิบายประชานิยมแบบไทย ๆ ว่า เวลาเราพูดถึงการเมืองไทย องค์ประกอบที่เป็นอุดมคติของคนชั้นนำ คือ หนึ่ง เป็นเรื่องของบุญพาวาสนาส่ง สอง เรื่องของอัศวินขี่ม้าขาว สาม กองทัพ เพราะฉะนั้น คำว่า Thai-Style populism คือ เป็นลักษณะ Top-Down จากบนลงล่าง

“คนจำนวนน้อย ลงสู่คนข้างล่าง เกิดเป็นคำว่า Thai-ness คือ การแบ่งออกเป็นสองขั้ว ระหว่างคนรวย คนจน คนดี คนเลว เกิดการแบ่งออกเป็น ไทยกับไม่ไทย ทำให้เกิดแนวความคิดประชานิยมทางการเมือง แบ่งคนออกเป็นสองฝั่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นประชานิยมเช่นกัน เกิดเป็น “ไพร่ฟ้า ข้านิยม” ”

“ปัจจุบันไทยสไตล์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ เช่น ค่านิยม 12 ประการ สั่งว่า ถ้าเป็นไทยต้องเป็นแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้วาทกรรมมากกว่าทักษิณผ่านรายการทุกวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์นอกจากใช้ political populism แล้ว ยังใช้นโยบาย economic populism เช่น นโยบายประชารัฐ ไทยนิยม ซึ่งก็คือประชานิยมเศรษฐกิจโดยเผด็จการ ซึ่งต่างจากละตินอเมริกาเพราะมีการเลือกตั้ง”

“ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์” ทิ้งท้ายว่า เพราะฉะนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ใช้นโยบายทั้งในด้านการเมือง เป็นประชานิยมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชานิยมทางการเมือง “เข้มข้นมากกว่าทักษิณ”