16 ล้านล้านต้นทุนรัฐประหาร 4 ปี มรดกไทยนิยม-รัฐธรรมนูญฉบับ “จักรี”

22 พ.ค. ครบ 4 ปี ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าควบคุมอำนาจแทนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ผ่านมา 4 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกฯ ที่มาจากรัฐประหารนานเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการยึดอำนาจ 2490 ที่อยู่นาน 10 ปี จอมพลถนอม กิตติขจร ครองอำนาจแทนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ปี 2506 ถึง 2516 (รวมการเปิดการเลือกตั้งปี 2511-2514) นาน 10 ปี และจอมพลสฤษดิ์ ครองอำนาจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2501-2506 และอาจทำสถิติเทียบเท่าจอมพลสฤษดิ์ หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในปี 2562

4 ปี ที่รัฐนาวาประยุทธ์บริหารประเทศ มีสถิติที่ควรบันทึกไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น

มี ครม.ทั้งหมด 5 ชุด

พล.อ.ประยุทธ์เริ่มต้นบริหารด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดแรกที่เรียกว่า ประยุทธ์ 1 เมื่อ 31 ส.ค. 2557 ประกอบด้วยรัฐมนตรี 32 คน 34 ตำแหน่ง

ผ่านไปแค่ 2 เดือนเศษ ก็มีการปรับ ครม.ครั้งแรก เรียกว่า “ประยุทธ์ 2” เมื่อ 20 พ.ย. 2557 โดยปรับเพิ่ม 2 เก้าอี้ ดึง “อำนวย ปะติเส” มาเป็น รมช.เกษตรฯ และ “วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็น รมช.คลัง เสริมทัพทีม “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ

นโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในเวลานั้น มีทั้ง digital economy และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แต่ก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงปรับ ครม.เป็นครั้งที่ 3

ครม.ประยุทธ์ 3 เกิดขึ้นเมื่อ 20 ส.ค. 2558 โดยโละทีมเศรษฐกิจของ “หม่อมอุ๋ย” แบบยกเซต 11 คน แล้วเอาทีมของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เข้ามาแทน 10 ราย คนที่เจ็บปวดที่สุดคือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่พ้นตำแหน่งไปด้วย

หลังการเข้ามาของทีมเศรษฐกิจสมคิด ได้ปรับแผนเศรษฐกิจ ผุดโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ ควบคู่กับการเดินหน้าระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ผ่านมา 1 ปีเต็ม ก็มีการปรับ ครม.ประยุทธ์ 4 เมื่อ 16 ธ.ค. 2559 ครั้งนี้ ไม่มีการปรับใครออก เป็นการแต่งตั้งโยกย้ายเก้าอี้ 12 ตำแหน่ง และเพิ่มรัฐมนตรีใหม่เพิ่มเข้ามา 5 คน อาทิ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น รมช.พาณิชย์ เสริมทัพเศรษฐกิจ-ต่างประเทศ

การปรับครั้งที่ 5 เป็นคิวล่าสุดเมื่อ 24 พ.ย. 2560 มีรัฐมนตรีสายทหารหลุดจากเก้าอี้เป็นครั้งแรก อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “สับเปลี่ยนกำลัง” นายพลที่โดนปรับออกคือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ และ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหม รวมกับสายพลเรือนอีก 6 คน อาทิ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา พิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม โดยรัฐมนตีที่พ้นจากตำแหน่ง 9 คน

ไฮไลต์อยู่ที่คนเข้ามาแทน 10 คน ที่ดึง “นักการเมือง” เข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกคือ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” เป็น รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

มีนายทหารที่เข้าประจำการใหม่คือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล มาเป็น รมช.กลาโหม แทน พล.อ.อุดมเดช

รวม ๆ แล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีการปรับ ครม.ไปแล้ว 5 ครั้ง มีรัฐมนตรีเข้า-ออก ครม.รวมกันกว่า 47 คน

อยู่ 4 ปี ผ่านงบฯ 16 ล้านล้าน

ขณะเดียวกันรัฐบาลบริหารงบตั้งแต่ปี”57 และวงกรอบใช้งบยาวถึงปี”62 รวม 6 ปี เป็นวงเงิน 16,453,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณปี”57 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาท ปี”58 วงเงิน 2,575,000 ล้านบาท ปี”59 วงเงิน 2,720,000 ล้านบาท ปี”60 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท ปี “61 วงเงิน 2,900,000 ล้านบาท เมื่อรวมปี”62 ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอนุมัติ วงเงิน 3,000,000 ล้านบาท

โดยเป็นงบฯกลาง-เป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่รัฐบาลสามารถหยิบเงินได้ใช้ได้ตลอดเวลา 6 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ งบฯกลาง ปี”57 วงเงิน 343,131 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองจ่ายฯ จำนวน 72,500,000 บาท ปี”58 วงเงิน 375,708 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองจ่ายฯ จำนวน 88,823,680,500 บาท ปี”59 วงเงิน 422,721 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองจ่ายฯ จำนวน 103,545,462,800 บาท

ปี”60 วงเงิน 346,015 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองจ่ายฯ จำนวน 90,985,862,200 บาท ปี”61 วงเงิน 97,823 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองจ่ายฯ จำนวน 91,423525,500 บาท และงบกลาง ปี”62 (อยู่ระหว่างส่ง สนช.) วงเงิน 468,032 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการ “โอนงบประมาณรายจ่าย” ปี”59 วงเงิน 22,106 ล้านบาท และปี”60 วงเงิน 11,866 ล้านบาท บางรายการไปให้งบกลางอีกด้วย

กองทัพอู้ฟู่ ได้งบปีละ 2 แสน ล.

ด้านงบฯ กองทัพ ได้งบขึ้น-ลงเฉลี่ย 1.8-2 แสนล้านมาตลอด จนถึงปีที่ 5 ในปี”62 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล-คสช.ก่อนจะมีการเลือกตั้งเดือน ก.พ.62

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง-รมว.กลาโหม ทิ้งทวนทะลุ 2.2 แสนล้านบาทไปแล้ว ได้แก่ ปี”57 วงเงิน 183,819 ล้านบาท ปี”58 วงเงิน 192,949 ล้านบาท ปี”59 วงเงิน 206,461 ล้านบาท ปี”60 วงเงิน 210,777 ล้านบาท ปี 61 วงเงิน 111,962 ล้านบาท และปี”62 วงเงิน 227,671 ล้านบาท

ขณะที่งบประมาณตามยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่งทั้งทางเรือ-ราง-ทาง-อากาศนั้น ทันทีที่ คสช.กลายร่างควบรัฐบาลได้ อนุมัติแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี (2558-2565) วงเงิน 1,912,681 ล้านบาทเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 58

กระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ล้านล้าน

สำหรับงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากนั้น รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ไม่นับโครงการเบี้ยหัวแตก รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ไปแล้วกว่า1 ล้านล้านบาท

หากมาไล่เรียงกันอีกที ตั้งแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 57 ครม.ได้เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือนแรก วงเงิน 364,465 ล้านบาท

ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแม่ทัพเศรษฐกิจ-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ วันที่ 1 ก.ย. 58 ครม.อนุมัติแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ วงเงิน 136,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการ “ช็อปช่วยชาติภาค 1-ภาค 2” ปี”58 และปี”59 โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท มาตรการ 2 ครั้ง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี 4,000 ล้านบาท ขณะที่ปี”60 รัฐบาลเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ซึ่งสูญเสียรายได้ 200-300 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ3 ครั้ง ดังนี้ ปี”59 วงเงิน 56,000 ล้านบาท ปี”60 วงเงิน 190,000 ล้านบาท และปี”61 วงเงิน 150,000 ล้านบาท

รวมถึงโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 วงเงิน 19,000 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงิน 35,679 ล้านบาท

นอกจากนี้ 28 พ.ย. 60 ครม.ยังไฟเขียว “ล้วง” เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 150,945 ล้านบาท ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา” เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 60 ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนฐานรากไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท

4 ปี “ปฏิรูป” ไม่ถึงไหน

แต่หนึ่งในข้ออ้างการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล้มเหลวคือการปฏิรูป หากนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา 5 คณะใหญ่ ๆ

คณะที่ใหญ่ที่สุดคือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีจำนวน 250 คน มาจาก 77 จังหวัด และอีก 173 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ รวม 11 ด้าน มี “เทียนฉาย กีระนันทน์” เป็นประธาน แต่ สปช.อยู่ในตำแหน่งเพียงแค่ 11 เดือน ก็ต้องถูกยุบทิ้งไป ทิ้งผลงานวาระปฏิรูป 37 วาระ

ต่อมาคือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี “ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ” เป็นประธาน รับไม้ต่อจาก สปช. ผ่านมา 1 ปี 9 เดือน พ้นวาระไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 60 แต่การปฏิรูปยังมีแค่แผน ผลงานที่ “ร.อ.ทินพันธุ์” ภูมิใจว่าเป็นผลงานของ สปท.คือ ผลักดันให้มี “ศาลอาญาคดีทุจริต” ขึ้น

ในช่วงท้ายของ สปท. “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เมื่อ 17 ม.ค. 2560 เป็นคณะปฏิรูปชุดที่ 3

ชุดที่ 4 คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน โดยตั้งตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ และมีคณะทำแผนยุทธศาสตร์อีก 6 คณะ เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลใหม่ต้องทำตาม

ชุดที่ 5 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ถูกตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งทั้ง 11 ด้านยังต้องมานั่งประชุม และนำผลการศึกษาการปฏิรูปในชั้น สปช.-สปท. และมาศึกษาเพิ่ม วนลูปกันไปเรื่อย ๆ ทำให้ ผ่านมา 4 ปี การปฏิรูปยังไม่บังเกิด

ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอแรงเสียดทานทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ แต่ก็ยังฝ่าฟันมาได้จนถึงบัดนี้