
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
การปลดล็อกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในบรรทัดสุดท้าย ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อาจเกิดขึ้นยากยิ่งกว่ายากนับจากนี้เป็นต้นไป
เมื่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดปฏิบัติการพลิกเกมกฎหมายประชามติแบบสายฟ้าแลบ กำหนดให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น
โอกาสที่การทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจึงยาก เกือบกลายเป็น “เดดล็อก”
ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับสมญานาม “สุภาพบุรุษประชาธิปไตย” เขาฟันธงว่า ถ้าใช้กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำประชามติ เชื่อขนมกินได้ว่าไม่ผ่าน ดังนั้น ทั้งรัฐบาล พรรคการเมือง สส. และประชาชน ต้องช่วยกันผลักดัน
ล็อก 2 ชั้น เสียเงิน-เวลา
จาตุรนต์ตอบคำถามถึง การต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย ในการแก้รัฐธรรมนูญ จะสุดทางแค่ไหนว่า สู้สุดทางต้องให้เหตุการณ์ข้างหน้าเป็นตัวพิสูจน์ แต่สู้ได้แค่ไหนก็ต้องดูเหตุการณ์ข้างหน้าเหมือนกัน
แต่วิเคราะห์ได้ว่ามีความยากมาก ๆ พอ สว.ลงมติไปแบบนี้ ขั้นต่ำสุดคือทำให้การลงประชามติยืดออกไปจนไม่ตรงกับเลือกตั้ง อบจ. ทั้งเสียเวลา ถ้าร่างใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ทันอายุของสภานี้ และทำให้เพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะประชามติไม่ตรงกับการเลือก อบจ. นี่คือขั้นต่ำแล้ว
มากกว่านั้นคือทำให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าประชามติออกมาเป็นแบบของ สว. คือล็อก 2 ชั้น การทำประชามติจะผ่านยาก
ยากตั้งแต่ด่านที่ 1 การใช้ Double Majority เพราะเอาคนที่ไม่ออกเสียงไปอยู่ข้างเดียวกับผู้ไม่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็เปลี่ยนไปเป็นไม่ออกเสียงแล้วไปรวมกัน ก็จะกลายเป็นเสียงข้างมากโดยง่าย เป็นทุนอย่างน้อย 25-30% ที่ไม่เห็นด้วย
การที่ สว.ลงมติแบบนี้ นอกจากจะทำให้ทุกอย่างเลื่อนออกไปหมดแล้ว อาจจะหมายถึง สว.ชุดนี้ส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ
สารพัดล็อกประชามติ รธน.
เขาอ่านสัญญาณ สว.ที่โหวตกลับให้ พ.ร.บ.ประชามติ ไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นหนึ่งในสารพัดปัญหาที่กลายเป็น “กับดัก” แก้รัฐธรรมนูญ
“สว.ลงมติเรื่องกฎหมายประชามติแบบนี้ เนื่องจากเขาไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ พอถึงการแก้รัฐธรรมนูญก็จะยาก เพราะ สว.เหล่านี้ก็ไม่ออกเสียง มีแค่ 19 เสียงเท่านั้นที่อาจจะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ก็คงไม่พอ เพราะต้องมีอย่างน้อย 67 เสียง ที่จะต้องสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ จึงน่าเป็นห่วง”
“ปัญหาเดิมมีอยู่แล้ว คือ สส.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่เปลี่ยนมาเป็นพรรคประชาชน ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไปติดที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุวาระ โดยฝ่ายกฎหมายอ้างว่าต้องทำประชามติก่อน”
“ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยได้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่าจริง ๆ ไม่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง เสียง 6 ใน 9 เสียง ของศาลก็เห็นว่าทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ข้ามครั้งที่ 1 ไปเลย”
“และครั้งที่ 1 ก็มีปัญหาว่าจะทำได้อย่างไร ทำได้หรือไม่ และทำแล้วจะมีการร้องเรียนหรือไม่ ถ้าผ่านจะมีผลตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเขาบอกว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ารัฐสภาต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติเสียก่อน แต่ในขณะนี้รัฐสภายังไม่แสดงความต้องการ เนื่องจากมี สส.ยื่นร่างต่อประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาไม่บรรจุวาระ รัฐสภาก็ยังไม่ลงมติเพื่อแสดงความต้องการ”
“พอไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทำประชามติ ก็ไม่อยู่ในระบบของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยแก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้ารัฐสภาไม่ลงมติเพื่อแสดงความต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อ ครม.มีมติให้ทำประชามติก็เป็นเพียงแค่ถามความเห็น ซึ่งจะมีผลทางการเมืองเท่านั้น มีผลทำให้ผู้ที่อ้างว่าจะต้องไปทำประชามติก่อน จะได้หมดข้ออ้างไป เพราะทำประชามติแล้ว”
“แต่ถึงแม้ทำประชามติผ่าน เสียงเห็นชอบในสภาไม่ถึง 20% ของฝ่ายค้าน หรือ สว.ไม่เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่เกิดขึ้นอยู่ดี แม้ทำประชามติจะผ่านแล้วเพราะไม่มีผลผูกมัดอะไร แต่ตอนนี้ปัญหาซ้ำเพิ่มเติมเข้าไปอีก เพราะประชามติถูกทำให้ยากและยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ เสียเวลาต้องแก้หลายเรื่อง”
“ถ้าเสียงข้างมาก 2 ชั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่าประชามติจะไม่ผ่าน และสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ยอมให้เป็น 2 ชั้น แต่ที่ไม่ยอมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะหลักใหญ่ของมันคือ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งปี 2550 และปี 2560 ทำประชามติมาทั้ง 2 ฉบับ ทำโดยเสียงข้างมากชั้นเดียว ในเมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแม่ของมันใช้ชั้นเดียว แล้วมาร่างใหม่ไม่ครบทุกมาตรา หรือบางมาตรา ทำไมจะไปออกกฎกติกาให้แตกต่างจากการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 2 ครั้ง”
แม้ว่าจะมี สว.ออกมาระบุว่า การทำประชามติทั้ง 2 ครั้ง ก็ผ่านเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นอยู่ดี “จาตุรนต์” แย้งว่า รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 มีคนมาออกเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้กำหนดว่าต้องเกินครึ่งหนึ่ง ถ้าตอนนั้นลองกำหนดให้เป็นประชามติ 2 ชั้น พวกผมก็รณรงค์นอนอยู่บ้าน คนที่ไม่เห็นด้วยก็มารวมกับคะแนนคนนอนอยู่บ้านก็ชนะ ประชามติก็จะไม่ผ่าน
แก้ รธน.ยากกว่าที่คิด
เมื่อมีการสันนิษฐานว่า สว.ที่พลิกเกมกฎหมายประชามติ เชื่อมต่อกับพรรคการเมืองในรัฐบาลบางพรรค การต่อรองระหว่าง “การเมือง” กับ “การเมือง” จะช่วยปลดล็อกได้ไหม จาตุรนต์ตอบว่า มีผลมาจากพรรคการเมืองหรือไม่… ต้องแล้วแต่คนจะวิเคราะห์ ถ้ามีผลมาจากพรรคการเมือง จะเกิดจากความต้องการต่อรองอะไร คิดแทนยาก เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเรื่องนี้มาต่อรองอะไร ที่คิดได้ง่ายกว่าอาจจะเป็นเรื่องไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญมากกว่า ส่วนเรื่องที่จะต่อรอง อาศัยเรื่องอื่นได้หลายเรื่อง
ความแตกต่างอย่างมากตรงนี้เกิดจากการลงมติของวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนละสภากัน และโดยทฤษฎีหลักการแล้วไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับรัฐบาล จะบอกว่าเป็นการสะท้อนปัญหาของรัฐบาลไหม..ก็ไม่เชิง สะท้อนปัญหาของการจะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ภายใต้กติกาอย่างนี้มันยากกว่าที่เราคิด ยากขึ้นไปอีกตั้งแต่การได้ สว.มาแล้ว
การได้ สว.เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึงว่าจะเป็นอย่างนี้ และยิ่งคาดไม่ถึงว่าเมื่อได้มาอย่างนี้แล้วจะเกิดผลกับกฎหมายประชามติแบบนี้ และส่งผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นลบด้วย ส่วนอย่างอื่นก็จะตามมา ซึ่งต้องมาดูว่า สว.มีอำนาจอะไร
ล้าหลังเพราะ ไม่แก้ รธน.
ถามว่า ทำไมผู้มีอำนาจข้างหลัง สว. ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ “จาตุรนต์” วิเคราะห์ว่า ใครที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ก็แปลว่าได้ประโยชน์จากกติกาที่เป็นอยู่ ตัวองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก มีอำนาจเหนือทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่องค์กรเหล่านี้มีที่มาที่เชื่อมโยงกับ คสช. และต่อมาก็ผ่านการรับรอง ผ่านการเลือกมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาสู่ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารทั้งนั้น
เป็นตัวปัญหาที่ทำให้เราควรจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่พอมาตอนนี้ การรับรององค์กรอิสระ รวมทั้งอัยการสูงสุด ประธานตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอำนาจ สว. ซึ่ง สว.อำนาจน้อยไปเพียงเรื่องเดียวคือ การเลือกนายกฯ
รัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ ไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งนานวันไปยิ่งทำให้เกิดระบบที่ประชาชนคุมอะไรไม่ได้ ประชาชนเลือกพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาลแล้วทำอะไรไม่ได้มาก อำนาจไปอยู่องค์กรอื่นที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน และต่อไปข้างหน้าใครเชื่อมโยงกับองค์กรที่มีอำนาจที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนได้ ก็จะสามารถควบคุมบ้านเมืองได้
หนีไม่พ้นการกลายเป็นระบบที่ Corrupt เพราะมีอำนาจมาก แต่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
ไม่นับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ กฎกติกาอีกเยอะแยะที่วางเอาไว้ ทำให้ประเทศปรับตัวไม่ทัน พรรคการเมือง รัฐบาลแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคม ที่ต้องการเปลี่ยนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้น
ถ้าจะแก้ปัญหาประเทศได้จริง ๆ ก็ต้องทำให้เห็นว่า กติกาแบบนี้ รัฐธรรมนูญแบบนี้ สุดท้ายจะยากมากที่เราจะได้รัฐบาลและรัฐสภาที่จะมาแก้ปัญหาประเทศได้จริง ๆ ก็หมายความว่าประเทศจะล้าหลัง และประชาชนจะลำบากกันไปอีกนาน แล้วสังคมจะได้ข้อสรุปอย่างนี้ไหมว่า ถ้าจะทำให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤต ความล้าหลังนี้ไปได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แบบมี ส.ส.ร.มาร่างใหม่
ประชาชนต้องเข้ามาเกี่ยว
ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์มาถึงขั้นนี้ 1.ทำอย่างไรกับกฎหมายประชามติ ทำอย่างไรให้พูดจากันผ่านไปโดยไม่ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ถ้ายังคุยกันไม่ได้ มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. กับ สว. ทำอย่างไรไม่ให้ สส.สักคนสองคน ไปเห็นด้วยกับ สว. มติ ก็จะกลายเป็นตาม สว. ซึ่งจะต้องดูว่าสภาผู้แทนราษฎรว่าเห็นชอบหรือไม่ ถ้าเป็นตาม สส.แล้ว สว.ไม่เห็นด้วยอีก ก็ต้องรอ 180 วัน ก็จะเสียเวลาออกไป
ถ้า พ.ร.บ.ประชามติออกมาเป็นใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ต่อไปการแก้รัฐธรรมนูญก็จะทำได้ยาก เพราะการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าแก้กลับมาเป็นชั้นเดียวได้ ก็จะเสียเวลา เสียงบประมาณมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องประธานรัฐสภายังไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในระเบียบวาระ และจะมีผลตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะมีคนมาร้องคัดค้านแค่ไหน และเมื่อไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นอย่างไรต่อ
ก็ต้องดูผลอีกเปลาะหนึ่ง เมื่อประธานรัฐสภาบรรจุวาระแล้ว มีการลงมติ สุดท้ายก็ต้องการเสียงของ สว. 1 ใน 3 และเสียงของฝ่ายค้านอีกไม่ต่ำกว่า 20% ก็ไปวัดกันตรงนั้นอีกว่าจะเกิดการพูดจาอะไรกับ สว. โดยหารือเจรจากัน หรือสังคมจะช่วยกันอย่างไร
พอมองข้ามชอตไปคือ สิ่งที่จะต้องทำ คือ รัฐบาล พรรคการเมือง และ สส.ช่วยกันผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร.ให้เกิดขึ้น นอกจากจำเป็นต่อบ้านเมืองแล้ว ยังเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย เรื่องทั้งหมดมันจำเป็นต้องให้เป็นเรื่องของกระแสสังคม เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องเข้ามาเกี่ยว ไม่เช่นนั้นก็จะยาก
ส่วนพรรคเพื่อไทยจะสามารถออกจากคอมฟอร์ตโซน มาเดินหน้ารณรงค์หรือไม่ “จาตุรนต์” มองในมุมส่วนตัวว่า การรณรงค์มันก็เป็นเรื่องดี ว่า ประชาชนต้องมาเกี่ยวข้อง ข้ามชอตไปประเทศจะแก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ ก็ขึ้นกับประชาชนค่อนข้างมาก จะโดยตรง โดยอ้อมก็ตาม
แต่ในระหว่างนี้ ต้องแก้ปัญหาที่อยู่ข้างหน้าก่อน คือ เรื่องกฎหมายประชามติ เรื่องการทำอย่างไรให้ประชามติแล้วมีผลทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ทำอย่างไรให้ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ ขั้นตอนนี้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจมาก ๆ ก็ดี แต่ยังไม่ใช่ขั้นตอนของการรณรงค์เสียทีเดียว ในส่วนของรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล สิ่งที่ควรทำและทำได้ก่อนคือ การผลักดันสิ่งเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม จาตุรนต์ออกตัวว่า ผมไม่อยู่ในจุดที่กำหนดเกม ก็หวังว่าคนที่กำหนดเกมจะมีการหาทาง แต่เรื่องนี้เกินที่จะเอื้อมไปควบคุมได้
ประชามติ 3 ครั้ง ถ้าทำกันไปเลย สว.ชุดที่แล้วก็ไม่ยกมือให้ก็ตก โดยมีความคิดว่า สว.ชุดใหม่จะดีขึ้น แต่พอมี สว.ชุดใหม่ มากลับเรื่องกฎหมายประชามติ ก็เป็นสัญญาณว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะยิ่งยาก เสร็จแล้วเรื่องความคิดการทำประชามติก่อนไปอยู่ในคณะกฎหมายประธานสภา 2 คนแล้วเอาตาม คือ ท่านชวน หลีกภัย กับท่าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่บอกว่าทำประชามติก่อน จะบรรจุวาระไม่ได้ ซึ่งอันนี้จะพูดกันอย่างไร เมื่อพูดในสภาแล้ว แต่ประธานตัดสินใจอย่างนี้ กลายเป็นปัญหาโลกแตก
เกินกว่ามือรัฐบาล
จาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องรัฐธรรมนูญค่อนข้างจะมีหลายเรื่องที่สำคัญๆ และเกินอำนาจของทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย เช่น การที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เดินหน้าไปไม่ได้ และทำให้ถ้าจะทำประชามติก็จะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การมีผลผูกมัดตามองค์กรต่าง ๆ การมีผลตามรัฐธรรมนูญก็มีเครื่องหมายคำถามใหญ่
ล่าสุดที่เป็นเรื่อง สว.จะบอกว่าเป็นเพราะพรรคใดพรรคหนึ่งตามเกมไม่ทันหรืออะไร ก็ไม่เชิง เป็นเรื่องที่เกินกว่าจะควบคุมอะไรได้เป็น สว.ลงมติไปท่วมท้นแบบนั้น