วิพากษ์ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ล็อกประเทศ 20 ปี-ผิดฝาผิดตัว

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นมรดกทางการเมืองชิ้นหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภูมิใจเสนอ เขียนล็อกอย่างแน่นหนาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ควบคู่กับแผนปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ 11 ด้าน ซึ่งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง รวมถึงกลไกราชการต้องปฏิบัติตามทั้งยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ หากไม่ทำตามจะมีความผิดตามกฎหมาย

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาวิชาการ “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อ 30 มกราคมที่ผ่านมา ถึงผลกระทบที่จะตามมาเมื่อมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

เศรษฐกิจทรง ไทยแป้กถาวร

โดยชี้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะไปแบบเดิม เป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง เป็นคนป่วยแห่งเอเชียต่อไป ในภาพรวมศักยภาพเติบโตอยู่ที่ 3-4 เปอร์เซ็นต์แทบจะต่ำที่สุดในโลก สำหรับประเทศกำลังพัฒนาเราต่ำสุดในอาเซียนมา 10 กว่าปี และยังมีลักษณะความอ่อนแอในเศรษฐกิจ แข็งนอกอ่อนใน

การเติบโตต้องพึ่งพาต่างประเทศ พึ่งพาเศรษฐกิจโลก พึ่งพาท่องเที่ยว ส่งออก แข็งบนอ่อนล่าง คนระดับล่างไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำยังมีลักษณะเช่นเดิม แข็งไม่ถาวรยังมีการเปราะบางในการเติบโต แต่ยังมีข้อดีที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพทางการเงิน มีศักยภาพทางสถาบันทางการเงิน และเสถียรภาพทางการคลังที่อยู่ในขั้นค่อนข้างดี โอกาสเกิดวิกฤตในระยะสั้นค่อนข้างต่ำ แต่เป็นประเทศที่แป้กถาวรไปอีกระยะหนึ่ง โดยรวมทางเศรษฐกิจไม่ค่อยตื่นเต้น เพราะรัฐบาลใหม่คงจะใช้นโยบายเดิม ๆ มองในแง่ดีถ้าแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่แผลงฤทธิ์ในทางลบ ส่วนในทางบวกยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์ชาติขยายรัฐมโหฬาร

ไทยเริ่มพัฒนาประเทศยุคแรก การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศดีมากระดับต้น ๆ ของโลก จากประเทศยากจนที่มีรายได้ต่อหัว 100 เหรียญสหรัฐ/คน ขึ้นมาเป็น 3,000 เหรียญ แต่หลังจากปี 2535 เป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ จนเกิดวิกฤตปี 2540 หลังจากนั้นโตต่ำมาตลอด 5 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปีแรก และ 3 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปีหลัง เป็น 20 ปีหลังวิกฤต จนได้ฉายาว่าเป็นกับดัก เป็นคนป่วยแห่งเอเชีย

ปัจจัยหนึ่งหลังวิกฤต ประเทศไทยขยายรัฐอย่างมโหฬารไม่ใช่แค่งบประมาณโตจาก 17 เปอร์เซ็นต์ เป็น 22 เปอร์เซ็นต์/จีดีพี แต่ข้าราชการเพิ่ม 2.3 ล้านคน ขณะที่ประชากรเพิ่มแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ เราขยายรัฐวิสาหกิจจากทรัพย์สินแค่ 3 ล้านล้านบาท วันนี้เป็น 17 ล้านล้านบาท ออกกฎหมาย กฎระเบียบมหาศาลหลายหมื่นฉบับมีใบอนุญาตกว่า 3,000 ชนิด ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แนะนำว่าไม่ควรมีเกิน 300 ชนิด คือการขยายบทบาทและอำนาจรัฐมโหฬาร

ประเทศเราปัญหาใหญ่คือคนทั้งหมด แก่ก่อนวัย เราล้มเหลวเรื่องการศึกษามาตลอด เงินร่อยหรอ หนี้สาธารณะเริ่มเพิ่มขึ้น

ยังไม่นับรวมหนี้ที่ซ่อน ๆ ไว้ แต่เรากลับทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปกับการขยายภาคส่วนที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าประสิทธิภาพต่ำ ถ้าไม่ปรับโครงสร้างตรงนี้ศักยภาพยังติดกับดักมาก ยังไม่พูดถึงการกระจายอำนาจ ทั้งหมดไม่มีใครตระหนักและพยายามปฏิรูปเรื่องพวกนี้

ไม่ได้โทษรัฐบาลนี้ เป็นมาตลอด ไม่ว่าช่วงทักษิโณมิกส์ สุรยุทธโนมิกส์ อภิสิทธิ์โนมิกส์ ประยุทธโนมิกส์ คิดอะไรไม่ออกอัดรัฐลงไป หวังว่าจะแก้ได้ แต่ทำให้ประสิทธิภาพของประเทศอ่อนลง

ที่น่ากลัวที่สุด ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศยิ่งขยายรัฐแบบมโหฬาร เพราะเขียนโดยข้าราชการ อดีตข้าราชการ นักธุรกิจที่ค้าขายพึ่งพารัฐ มีนักวิชาการประปราย มีประชาสังคมนิดหน่อยในคณะกรรมการที่มี 17-18 คณะ 200 กว่าคน

แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรว่าจะมีแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นกฎหมาย ทั้งที่เป็นแผนที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ตลอดเวลา ไม่ใช่แผนยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นกฎหมาย ผมพยายามทักท้วงตั้งแต่ร่าง รัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 2 มาตราเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติที่บังคับว่าจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ผิดฝาผิดตัว ล็อกมือรัฐบาลใหม่

เพราะโดยธรรมชาติกฎหมายเป็นการกำกับเสรีภาพให้อยู่ในระเบียบ และยุทธศาสตร์ชาติกำลังจำกัดเสรีภาพของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการจำกัดเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศด้วยโดยผ่านกฎหมาย ปกติกฎหมายทั่วไปเป็นกฎหมายที่ห้ามทำ มีน้อยกฎหมายที่สั่งว่าต้องทำ แต่ยุทธศาสตร์ชาติเป็นลักษณะนี้ ลองคิดดูว่าพอออกมาทั้งหมด 3,000 หน้า รัฐบาลต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องทำเต็มไปหมด เป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนกฎหมายที่ประยุกต์กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะกฎหมายจะต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ ตีความได้ทุกคำ ตรงข้ามกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องมีความยืดหยุ่น วิธีการจัดทำต่างกับกฎหมายโดยสิ้นเชิง แต่เอาสองเรื่องมาผูกกันอย่างน่าอัศจรรย์

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติผิดฝาผิดตัว ไม่ทราบว่าออกเป็นกฎหมายมาได้อย่างไร เกิดจากวิสัยทัศน์ชั่ววูบไม่ได้คิดให้รอบคอบ แต่ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องแทนที่จะทัดทาน เนติบริกรจัดการออกมาจนเป็นกฎหมายอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายลูก 2 ฉบับ มีคน 200 กว่าคน หลายท่านเป็นคนหวังดีแห่เข้าไปช่วยทำ ส่วนหนึ่งหวังดี ส่วนหนึ่งจะต้องเข้าไปทัดทาน เพราะกลัวว่าจะมีเรื่องไม่เหมาะสมออกมา อีกส่วนหนึ่งตกรถไฟไม่ได้ เพราะกลัวว่าจะมีอะไรที่ไปขัดผลประโยชน์จึงมีกระบวนการจัดทำ ซึ่งวันนี้ยังไม่เสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ พอไปออกกฎหมายลูก ไประบุเวลาจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ต่ำกว่า 20 ปี หลาย ๆ รายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติพูดถึง 20 ปี กฎหมายบอกว่า

แผนปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ลองคิดดูเขียนกฎหมายได้อย่างไร ของเสร็จก่อนต้องสอดคล้องกับของเสร็จทีหลัง พอไปอ่านก็ไม่สอดคล้องจริง ๆ

กฎหมายบอกว่ากรรมการยุทธศาสตร์หมดวาระพร้อมกัน 5 ปี ประมาณกันยายน 2565 หมดอายุพร้อมกันวันเดียว แล้วนายกฯวันนั้นตั้งใหม่หมดทุกคน เป็นการเขียนกฎหมายที่งงว่าปรมาจารย์กฎหมายเขียนกฎหมายได้อย่างไร ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะใครที่เป็นนายกฯในวันนั้นก็สามารถตั้งคณะกรรมการชุดใหม่และล็อกประเทศไปอีก 5 ปี

โครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเรียกว่าโปลิตบูโรไม่เกิน 35 คน 18 คนเป็นโดยตำแหน่ง นายกฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกฯ เป็นข้าราชการ 8 คน เป็นพลเอก 7 คน ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการกองทัพบก เรือ อากาศ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คนที่เป็นพลเรือนคือ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

และที่น่าแปลกใจมาก เพราะไปตั้งประธาน Trade Association เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นมายาคติของสังคมไทยที่ชอบคิดว่าทำหน้าที่เพื่อสังคม แต่เปล่าเลยเพราะเขารักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเขา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ไม่ได้ว่าใครโดยส่วนตัว แต่คือธรรมชาติของเขา ส่วนคณะกรรมการที่เหลือคือผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม 1 คน เป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน 6 คน

แนะวิธีถอนพิษยุทธศาสตร์ชาติ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจควบคุมให้รัฐบาลต่อไป ทุกหน่วยงานในองคาพยพรัฐต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ถ้าไม่ทำตามก็จะมีอำนาจที่จะชี้โทษและส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้โทษ ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

แม้แต่นาฬิกายังหาไม่เจอ

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นมีแต่คำสวยหรู มองว่าที่ไม่ออกแผนที่ละเอียดมา เพราะไม่รู้จะเขียนอย่างไร เขียนไม่ได้ หรือดึงไว้ก่อนว่าแผนนี้มันจะบังคับตัวเองหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์ชาติต้องเลิกให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะล็อกชาติ

อย่างไรก็ตาม เชื่อในพลังสังคมที่ตระหนักความอันตรายของยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าจะแก้ให้หมดก็ต้องแก้โดยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องยาก อาจจะต้องแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ หรือแก้ที่ตัวแผนจาก 3,000 หน้าให้เหลือ 4 หน้า ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติต้องเลิก ต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก และทางเดียวที่ต้องเลิกคือเจ้าของไอเดียไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!