สนธิรัตน์ : สมการพิเศษรัฐบาลใหม่ พรรค+พวก จับขั้วล็อกโหวต “บิ๊กตู่”

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (แฟ้มภาพ)

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

 

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถอนสมอจากรัฐบาล คสช. ปักธง-ลงพื้นที่ทำแต้มเหนือจดใต้กอบ-กู้คะแนนนิยม

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค-ว่าที่ผู้จัดการรัฐบาลในช่วงนับถอยหลัง 30 วันสุดท้ายก่อนถึงวันหย่อนบัตร 24 มี.ค. 62

จุดอ่อนเศรษฐกิจปากท้อง ?

ไม่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจฐานรากฝืด เพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนแปลงรุนแรงมาก เศรษฐกิจโลกเพิ่งฟื้นตัวในช่วง 2 ปีหลัง หัวใจใหญ่ คือ สินค้าเกษตรตกต่ำ ข้าวที่เป็นจุดแข็งของไทยอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน กลไกเพิ่งเข้าสู่ระบบ ทวงแชมป์ข้าวได้ในปีสุดท้าย

รัฐบาลได้วางพื้นฐานสำคัญไว้หลายเรื่อง เช่น การเชื่อมโยงตลาด การยกระดับสินค้าเกษตร เศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี)

ข้อเสีย คือ ที่ผ่านมารัฐบาลทำเรื่องนี้ให้เป็นมิติ เป็นก้อนให้เห็นยังไม่ชัด งานของรัฐบาลที่ผ่านมา 4-5 ปี กระจัดกระจาย ทำเยอะ แต่ขาดการฟอร์มให้เป็นก้อนขึ้นมา

จุดอ่อนของรัฐบาลทหารที่ผ่านมา คือ ไม่มีโอกาสเชื่อมโยงกับเสียงของประชาชนโดยตรง ฉะนั้น นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาจึงไม่ได้สอดรับกับเสียงของประชาชน

พรรคเชื่อมั่นว่าการเชื่อมกับเสียงของประชาชนโดยผู้แทนของเราที่จะลงไปกับการเชื่อมโยงของเก่าที่ดำเนินการไปแล้ว โดยผสานสองสิ่งจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วกว่าพรรคการเมืองอื่น

ปัญหาปากท้อง คือ การเพิ่มรายได้ หัวใจการเพิ่มรายได้เศรษฐกิจข้างล่าง คือ ภาคเกษตร เช่น ข้าว ปาล์มและยางพารา ผมไม่สนว่าราคาจะเป็นเท่าไหร่ แต่ต้องสร้างกลไกราคาดีมานด์ ซัพพลาย

การไม่ประกาศว่าราคาสินค้าเกษตรต้องราคาเท่าไหร่ ขณะที่พรรคการเมืองอื่นประกาศไปแล้ว เพราะถ้าประกาศก็ต้องใช้เงินไปอุดหนุน ไม่มีประกาศแล้วไปได้ด้วยกลไกตลาด

ยิ่งตั้งเป้าหมายสูงเท่าไร ยิ่งต้องใช้เงินอุดหนุนสูงเท่านั้น ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ยั่งยืน กลไกตลาดยั่งยืนกว่า ซึ่งเป็นไปได้ที่จะประกาศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

ประชารัฐเคลื่อนทุนใหญ่ ?

เรื่องของทุนจะทำอย่างไรให้ทุนเชื่อมไปสู่ฐานรากได้ ทุนใหญ่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ หัวใจใหญ่ของคนเป็นรัฐบาล คือ จะบาลานซ์ระหว่างทุนใหญ่ให้เกื้อกูลกับเศรษฐกิจฐานรากอย่างไร รัฐบาลนี้จึงพยายามทำเรื่องประชารัฐเกื้อกูลระหว่างทุนใหญ่กับทุนเล็กและสร้างความเข้มแข็งให้กับทุนเล็ก

การวิจารณ์และใช้วาทกรรมทางการเมืองเป็นตัวกระแทกความรู้สึกเพราะทุกวาทกรรมนำมาจากจุดอ่อน ไม่ว่าใครมาบริหารก็จะถูกกระแทกด้วยจุดอ่อนนี้ เหมือนการแข่งขัน หน้าที่ของเราจึงต้องเอาความจริงมาพูดกัน

หลักการบริหาร ความต่อเนื่อง การต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่สำคัญที่สุด การเมืองเป็นเพียงองค์ประกอบของการขับเคลื่อนประเทศ

ประเทศขาดความต่อเนื่อง ?

ย้อนกลับไปสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย คือ การขาดความต่อเนื่องในการบริหาร ยุคไหนมีความต่อเนื่องทางการบริหาร เศรษฐกิจจะกลับมาดี

2 ยุคที่เป็นตัวอย่างที่ดี คือ ยุคท่านทักษิณกับยุค พล.อ.เปรม ยุค พล.อ.เปรมมีอีสเทิร์นซีบอร์ด ยุค พล.อ.ประยุทธ์มีอีอีซีซึ่งจะเป็นมรดกขับเคลื่อนประเทศไทยไปอีกอย่างน้อย 20 ปี

ความต่อเนื่องเป็นหัวใจใหญ่ที่สุดในการบริหารจัดการ ยกตัวอย่าง วันนี้ต่างชาติกับอีอีซีเริ่มลังเลใจ หน้าที่ของ พปชร. คือ ขอให้มั่นใจว่าประเทศจะเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

การบริหารประเทศไม่สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 1 ปี 2 ปี ยิ่งถ้ากลับมารื้อสิ่งที่ได้วางรากฐาน…จุดอ่อนที่ผ่านมา คือ รื้อกันไปรื้อกันมาในเรื่องนโยบาย ดังนั้น ให้โอกาส พปชร.ทำต่อสิครับ

ดอกผลที่จะเห็นถ้าเลือก พปชร. คือ เศรษฐกิจจะดีขึ้นตั้งแต่ฐานราก สินค้าเกษตรจะดีขึ้น รัฐบาลปัจจุบันแรงกดดันอาจจะน้อยกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องเร่งแก้ปัญหา สอง เราต้องเริ่มทำสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนมากที่สุดก่อน ตรงข้ามกับในอดีตที่รัฐบาลแก้ปัญหาในสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญที่สุดก่อน

“นายกฯประยุทธ์ หลังเลือกตั้งจะเป็นคนละคนกับนายกฯประยุทธ์ เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เพราะบริบทการเมืองไม่เหมือนเดิม ท่านจะมีผู้ช่วยเยอะแยะไปหมด คือ ส.ส. จากเดิมรับข้อมูลจากหน่วยงานราชการ รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองมีข้อดี ต้องสนใจอารมณ์ความรู้สึกพี่น้องประชาชน”

จุดแข็งฐานเสียงเหนือ-อีสาน ?

ภาคเหนือและอีสานเป็นพื้นที่เป้าหมายของ พปชร. มั่นใจว่าจะได้เสียงเป็นกอบเป็นกำครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี เราวัดกระแสพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผลตอบรับดี

การปิดเกมในภาคเหนือและอีสานต้องได้ตามที่ตั้งเป้าไว้และครั้งนี้ภาคกลางประเมินแล้วได้ไม่น้อย เหลือเวลาอีก 30 วัน ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายต้องทำงานละเอียดมากขึ้น

เรื่อง popularity ของ พล.อ.ประยุทธ์ เราวัดกระแสมาตลอด ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ขึ้นรูปคู่ พล.อ.ประยุทธ์กันทั่วเต็มไปหมด การตัดสินใจเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค คำนึงถึงความเหมาะสมในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน รวมถึงรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้เลือกนายกฯนอกพรรคได้

ทำไมต้องเลือกบิ๊กตู่-พปชร. ?

กระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ ต้องการนายกฯที่อาจจะแตกต่างจากบุคลิกนายกรัฐมนตรีทั่ว ๆ ไป เพราะต้องประคับประคองสถานการณ์ได้ เอาสถานการณ์อยู่ เป็นหัวใจในการเลือกนายกฯครั้งนี้ และต้องได้รับความนิยมจากประชาชน

ถ้าอยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อ ไม่สะดุด นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายที่ตั้งใจได้ พปชร. คือ คำตอบที่เหมาะสมที่สุด พรรคไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้งในอดีต เข้ามาในสภาวะประสานรอยร้าว ไม่ปรารถนาให้เลือกตั้งแล้วกลับไปสู่วังวนเดิม

เมื่อเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง คือ พรรคการเมืองคือประชาธิปไตยทั้งหมด เพียงแต่ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พปชร.ถูกป้ายไม่ให้เป็นประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ 7-8 ล้านคน ต้องตัดสินใจให้ดีว่า อะไรคือประชาธิปไตยที่แท้

ประชาธิปไตยที่แท้ต้องนำความสงบสุข ความสมานฉันท์ให้กับประเทศ เคารพความเห็นต่าง เปิดกว้าง ไม่จำกัดอยู่ที่ใครคนหนึ่งคนใด ถ้าเริ่มประชาธิปไตยว่า ถ้าพวกเราเป็นเป็นประชาธิปไตย พวกเขาไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นนิยามที่ผิดตั้งแต่วันแรก

พรรคอันดับ 3 ตั้งรัฐบาล ?

ถ้าพรรคได้เสียงไม่พอก็ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ การจะเป็นรัฐบาลต้องมีเสียงจากสภาล่างเกิน 250 เสียงแน่นอน ประเด็น คือ ต้องแยกแยะระหว่างเสียงของสภาในการจัดตั้งรัฐบาล กับเสียง ส.ว.สรรหา 250 คน ในการโหวตเลือกนายกฯ

การโหวตนายกฯกับการจัดตั้งรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน แต่การเลือกนายกฯ ถึงจะมีนายกฯแล้ว แต่เสียงในสภาไม่เพียงพอก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี

ส.ว. 250 คน มีผลต่อการเลือกนายกฯเท่านั้นเอง ส.ว.ไม่ได้มีผลรุนแรงถึงขั้นการจัดตั้งรัฐบาล นายกฯต้องการเสียงของสภาในการผ่านกฎหมาย แต่คนกังวลใจว่า นายกฯถูกล็อกไว้ให้ใครหรือเปล่า

ส.ว.ชุดนี้เหมือนเป็นตัวประคับประคองประชาธิปไตย เป็นกลไกการประคับประคองการเปลี่ยนผ่านให้นายกฯต้องมาจากการลงมติของรัฐสภา และหวังใช้กลไกนี้ให้การต่อสู้ทางการเมืองเบาบางลง

ตัวเลขในการจัดตั้งรัฐบาล ต้องดูผลของการเลือกตั้งและดูองค์ประกอบของผลการเลือกตั้ง ตัวเลขเป็นเพียงหนึ่งในมิติ แต่น้ำหนักของตัวเลขว่าจะออกไปอยู่ด้านไหน หรือพรรคไหนเป็นหัวใจสำคัญ และก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นอีกหนึ่งมิติ

หน้าตารัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ?

การฟอร์มรัฐบาล หนึ่ง คาดว่าจะเป็นรัฐบาลผสม ต้องมีรัฐบาลที่มั่นคง อย่าตั้งเงื่อนไขตั้งแต่วันแรกว่าอะไรเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ เพราะภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เจอทางตัน ต้องเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบบประชาธิปไตยให้ได้

สอง รัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้เราได้บางส่วนและเพื่อนเราได้บางส่วน เราได้ทั้งหมดไม่ได้และไม่มีดีลที่จะได้ทุกอย่างภายใต้โครงสร้างแบบนี้ ซึ่งจะนำไปสู่โครงสร้างรัฐบาลสมานฉันท์ รัฐบาลประนีประนอม

การมีรัฐบาลหลายพรรคจะมีรัฐบาลปรองดองเพื่อลดความขัดแย้งในอดีตไปสู่ระบบรัฐสภา เป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่เพื่อนำไปสู่ความปรองดองในเชิงปฏิบัติ

เวลานี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องประคับประคองความเปราะบาง สุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะประเทศอยู่ในภาวะต้องเคลื่อนผ่าน วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าจะมาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเรามีกติกาที่ต้องเดินไปก่อน ส่วนจะแก้อย่างไรก็ต้องให้เกิดความสมานฉันท์ อย่าแก้ให้นำไปสู่ความแตกร้าวอีก

ส่วนผสมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ?

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงไม่สุดโต่ง ออกแบบให้เกิดการประคับประคอง เป็นตัวบาลานซ์ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นรัฐบาลประนีประนอม ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ ต้องมีทั้งพรรค ทั้งพวก มีพรรค 2 เสียง 3 เสียงร่วมรัฐบาล

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลหลายพรรค ต้องมี 4-5 พรรค ถ้าให้ผมเดา สูงสุดของรัฐบาลนี้ พรรคการเมืองอันดับ 1 ต้องมี 130 เสียงเป็นอย่างน้อย

รัฐบาลปรองดอง คือ ต้องเอาหลาย ๆ พวกมาอยู่ด้วยกัน หลาย ๆ พรรคมาอยู่ด้วยกัน เป็นความปรองดองภาคปฏิบัติ อย่าไปตั้งเงื่อนไขก่อน ถ้ามารวมตัวอยู่ด้วยกันจะเข้าใจกันมากขึ้น ประเทศลดความเป็นสองข้าง

รัฐบาลหน้าทิศทางจะเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดการตั้งป้อมเพราะถ้าหากรวมกันได้มาก ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะมันคือการปรองดอง เวลาเราอยู่ด้วยกัน เป็นรัฐบาลด้วยกัน ทำงานร่วมกัน มันก็จะนำไปสู่ความเข้าใจกันมากขึ้น ความสุดโต่งจะได้ลดลง

ในทางปฏิบัติคงไม่ถึงกับร่วมรัฐบาล 3 พรรค (พปชร.-พท.-ปชป.) แต่โอกาสผสมกันมากขึ้น และต้องมีความละม้ายคล้ายกัน ไปกันได้ หลังเลือกตั้งยังมีอีกหลายบริบทที่จะเกิดขึ้น วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ