แจก “ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ” ปิดจ็อบ กกต.หลังเลือกตั้ง

ทุกครั้งหลังการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นตำบลกระสุนตก-เป้าทางการเมือง

ยิ่งรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง “ยกระดับ” กกต.ให้เป็นองค์กรที่มี “ความกล้าหาญ” กล้าตัดสินข้อโต้แย้งทางการเมือง

เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 22 (3) วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการ (10) ในการควบคุม กํากับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการที่จะต้องดําเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําใดอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ “คําสั่งของ กกต.ให้เป็นที่สุด” โดยเฉพาะ “ใบส้ม” ที่งอกขึ้นมาจากการเลือกตั้งในอดีตที่มีแค่ “ใบเหลือง-ใบแดง”

ซึ่งการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 อำนาจการแจก “ใบเหลือง-ใบแดง” ไปอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้ง และมี “ใบส้ม-ใบดำ” เพิ่มขึ้นมา

ใบส้ม = เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่แจกก่อน “ประกาศผลเลือกตั้ง” ระงับสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว 1 ปี

และสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยพรรคของผู้สมัครที่ถูกใบส้มจะไม่สามารถส่งคนลงเลือกตั้งได้ใหม่ และคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้นจะถูก “ล้าง” ออกไปทั้งหมด ไม่นำมาคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ส่วนหลังการเลือกตั้งนั้น จะเป็นระดับ การแจก “ใบเหลือง-ใบแดง-ใบดำ”

ใบเหลือง = เขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทําของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้ กกต.ยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่

ใบแดง = หลังการรับรองผลเลือกตั้งจะเป็นอำนาจของศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ใบดำ = เป็นอำนาจของศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ทั้ง “ใบเหลือง-ใบแดง-ใบดำ” กกต.จะมีหน้าที่ “สืบสวนหรือไต่สวน” ก่อนส่งให้ศาลฎีกา เป็นผู้ชี้ขาดเป็นที่สุด

ซึ่งกรณี “ใบดำ” เป็นเคสที่ร้ายแรงที่สุด คือไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

ระบุใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 138 ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบแดง) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น (ใบดำ)

เส้นทางการแจกใบส้ม-ใบแดง-ใบเหลือง-ใบดำ จะยังเข้มข้นต่อไป