ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่เคาะปม 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ “อนาคตใหม่” รอเก้อ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่า หลังจากมีข่าวว่าในวันนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) กรณีที่ถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่ ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันนี้มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลา 13.30 น. แต่ในวาระการประชุมไม่มีการพิจารณาคำร้องดังกล่าว เนื่องจากวันนี้เป็นการประชุมวาระเรื่องทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการชี้แจงหรือยืนยันจากทางศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ว่ามีการพิจารณาคำร้องในเรื่องดังกล่าวหรือไม่

เช่นเดียวกับกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่ ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เพื่อให้ประธานสภาฯ ส่งคําร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสิ้นสุดลงจากกรณีถือหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวภายในวันนี้

ขณะที่นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้าทีมต่อสู้คดี 27 ส.ส.ของ พปชร.ได้เข้าตรวจสำนวนคำร้องดังกล่าว โดยนายทศพล กล่าวว่า ได้มาตรวจสำนวนว่าสภาฯ ส่งเอกสารอะไรมาบ้างจะได้วางแผนการต่อสู้ถูก แต่ก่อนหน้านี้เราได้มีการแบ่งกลุ่มคดี เป็นกลุ่มคดีที่มีความเสี่ยง กลุ่มคดีกลางๆ และกลุ่มคดีที่มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะวิธีการต่อสู้ในแต่ละกลุ่มคดีไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกัน พปชร. ได้มีการหารือกับพรรคร่วม ด้วยกันถึงวิธีการต่อสู้คดี ในกรณีของ ส.ส.พรรคนั้นถูกยื่นร้องด้วย รวมถึงก็จะมีการยื่นร้อง ส.ส.ของ 7 พรรค ที่มีการถือหุ้นสื่อ โดยจะมีอีกทีมงานหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ

นายทศพลกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่กลัวเมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะสั่งให้ ส.ส.ที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะทำงานที่ต้องหาเหตุผลว่า 27 ส.ส.ของพรรค พปชร.ไม่เหมือนกับกรณีอื่น จึงไม่ควรที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยจะนำข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธินายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ จ.อ่างทอง ที่มีความแตกต่างกัน มาพิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงในคดีมีประเด็นใดบ้างที่ศาลรับฟังและไม่รับฟัง อย่างในเรื่องของการจดทะเบียนวัตถุประสงค์บริษัท ที่หลายคนมีการต่อสู้ว่าใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปของกระทรวงพาณิชย์ ถ้าเป็นแบบฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์จริงก็ควรเป็นแบบพิมพ์มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ในแบบฟอร์มข้อที่ระบุว่าทำสื่อกลับอยู่ในลำดับที่แตกต่างกัน

“รายละเอียดแบบนี้ยากมากในการต่อสู้ เพราะ ส.ส.พรรค พปชร.บางคนมีถึง 3-4 บริษัท จะต้องมีเอกสารราชการตรวจสอบ โดยได้แจ้งให้ ส.ส.แต่ละคนทำรายละเอียดออกมา บางคนไม่เข้าใจก็อ้างว่ากรอกไปตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งในความเป็นจริงอยู่ที่ตัวเราว่าจะจดทะเบียนอย่างไร บางคนเลือกจดไปก่อนทำหรือไม่ทำก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาโดยศาลฎีกามองว่า เมื่อคุณจดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้ เท่ากับมีวัตถุประสงค์จะทำสื่อ ทำให้ขัดรัฐธรรมนูญ” นายทศพลกล่าว

นายทศพลกล่าวอีกว่าอย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นการยื่นผ่านประธานสภาฯ ซึ่งก็ทำหนังสือส่งต่อมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีรายละเอียดของพยานหลักฐาน ไม่เหมือนกับคดีที่ร้องผ่าน กกต. ที่ กกต.มีการตรวจสอบแล้วว่าโอนหุ้นวันไหน โอนหุ้นเมื่อไหร่ จ่ายเงินเมื่อไหร่ ดังนั้นเมื่อคดีมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะต้องวางมาตรฐาน ว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการกับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้ไม่ได้ และคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าก็จะยื่นคำร้องพร้อมเหตุผล เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส. เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ก็จะได้รับผลกระทบกับการทำงาน เพราะไม่ใช่แค่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย เพราะว่ารัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายในรัฐสภา

“ผมมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ 27 ส.ส. ยังสามารถทำหน้าที่อยู่จนจบภารกิจ และไม่อยากให้สังคมเอาไปเปรียบเทียบ กับกรณีสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีไม่เหมือนกัน การที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาการต่อประชุมสภาฯ และรัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะไปเทียบกับกรณีของธนาธรไม่ได้ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน กรณีหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.ที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อประธานสภาฯ อาจจะคล้ายกันคือถือหุ้นสื่อ แต่ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน“ นายทศพลกล่าว