พรเพชร : จากเรือแป๊ะ สู่เรือเหล็ก คุมทีม ส.ว.ส่งไม้ต่อปฏิรูปรัฐบาล 2 สมัย

ในบรรดาผู้โดยสารเรือแป๊ะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อัพเกรดเป็นเรือเหล็ก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นอกจาก 3 รองนายกรัฐมนตรี 3 รัฐมนตรี รวม 6 ชีวิต ที่พลิกจากรัฐบาลทหาร มาสู่รัฐบาลเลือกตั้งแบบไร้รอยต่อ

“พรเพชร วิชิตชลชัย” เป็นอีกหนึ่งผู้โดยสารเรือแป๊ะ พลิกบทจากหัวขบวนฝ่ายนิติบัญญัติสภา คสช. มาสู่บทประธานวุฒิสภา เป็นมือกฎหมายคนแรก ๆ ที่เข้ามาช่วยงาน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร่วมขบวนร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต้นกำเนิดมาตรา 44

เป็นคนสำคัญที่ถูกตีตั๋วให้ขึ้นเรือเหล็กอยู่ในอำนาจ คุมเกม ส.ว.ลากตั้ง 250 คน โหวตนายกรัฐมนตรี ควบคุมรัฐบาลใหม่สานต่องานปฏิรูป

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนา”พรเพชร” ในบทบาทบนเรือลำใหม่ รับงานกำกับรัฐบาลเลือกตั้งให้เดินตามแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

จากเรือแป๊ะสู่เรือเหล็ก

“พรเพชร” ระบายเหตุผลที่เขาก้าวจากเรือแป๊ะมาสู่เรือเหล็กแบบราบรื่น-ไร้รอยต่อ ว่า “ผมรู้พัฒนาการของแนวคิด คสช.ว่าคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศแต่แรก แม้ผมไม่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกฯหรือเปล่า ในตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้ส.ว.มีส่วนเลือกนายกฯ แต่การทำงานของผม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคิดว่าผมรู้ใจ รู้ความคิดของท่าน และรู้ว่าท่านตั้งใจอย่างไรที่จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เหมือนกับทีมงานที่ร่วมรัฐบาลของท่านแท้ ๆ มี 4-5 คน”

รู้ใจ-ไม่ต้องจูนใหม่

“ผมสะดวกใจที่จะทำงาน เพราะผมรู้ว่า ท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) จะไปทิศทางไหน เรือลากจูง เรือไม้ เรือกลไฟ เรือเหล็กแต่ไปในทิศทางที่ไม่เฉไปอย่างอื่น ไม่ต้องมาจูนกันใหม่ เครื่องยนต์จากเรือไม้มาใส่เรือเหล็กก็เหมือนกัน และเรือเหล็กก็มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพียงแต่มีผู้โดยสารมากหน่อย ต้องเข้าใจผู้โดยสารเหล่านั้น”

“แต่ถ้าคนที่เป็นต้นหน คนเดินเรือแต่แรกหายไปหมดเลย เหลือกัปตันเรือคนเดียวแล้วมีผู้โดยสารชุดใหม่ทั้งลำ หรือคนขับในเรือเป็นคนชุดใหม่ทั้งหมด กัปตันก็จะลำบากมากขึ้น ยิ่งปริ่ม ๆ น้ำด้วย ผู้โดยสารที่ลงมาเป็นพวกใครก็ไม่รู้มาอีก ดังนั้น ถ้าได้คนที่เคยทำงานด้วยกันมา กัปตันก็จะเดินเรือด้วยความมั่นใจมากขึ้น”

รัฐบาลปริ่มน้ำ เสียวปฏิรูปสะดุด

เมื่อ 250 คน ของ ส.ว.เลือก “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็นนายกฯสมัยที่ 2 แบบเสียงโทนเดียวไม่แตกแถวครั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 คลอดออกมา “พรเพชร” มองว่าเป็นรัฐบาลที่ดี แต่ปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” อาจทำให้การปฏิรูปสะดุด

“เป็นรัฐบาลที่ดีนะ เพราะ ส.ว.ใช้ดุลพินิจเลือก (นายกฯ ) อย่างนั้น แต่รัฐบาลที่ดีกับเสียงในสภาเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเสียงในสภาไม่พอ หรือเสียงปริ่มน้ำรัฐบาลจะเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศมีปัญหาเหมือนกัน”

“ตอบยากว่า ส.ว.จะไปช่วยเรื่องเสียงที่ปริ่มน้ำได้ไหม เพราะ ส.ว.ได้แต่ให้ความเห็นชอบนายกฯ ส่วน ส.ส.ยังมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนสิ่งที่ส.ว.ทำได้ คือ ถ้ารัฐบาลนั้นไม่ดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ และฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง ส.ว.มีสิทธิส่งเรื่องหรือดำเนินการต่าง ๆ ได้ แต่จะไปช่วยให้พรรคการเมืองที่แม้จะเห็นว่าดี เราชอบ อยู่ได้ด้วยวิถีการเมืองมันไม่เปิดทาง”

ทำดีได้แต้ม ละเลยถูกเช็กบิล

ขณะเดียวกัน ถ้าแต่ถ้าเปลี่ยนตัวเป็นรัฐบาล ที่ไม่ใช่ “พล.อ.ประยุทธ์ 2/1” และยังไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิรูป- ยุทธศาสตร์ จะถูก ส.ว.เช็กบิล หรือไม่

“พรเพชร” บอกว่าอย่าระแวง ส.ว.จะโค่นล้มรัฐบาล แม้ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศ

“พูดตรง ๆ ตอนที่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพิ่มบทบาทของ ส.ว.ให้ร่วมเลือกนายกฯ ผมยังไม่รู้ และยังไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกฯ ขอให้ลบภาพตรงนั้นไป… ผมมองว่าจำเป็น ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาต้องทำเรื่องปฏิรูป ไม่ได้มองว่าทำเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่มองว่าเราอยากให้สิ่งที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำไปนั้นไม่ถูกทิ้งไปในกระดาษ หรือลอยไปในดิจิทัลในระบบสมัยใหม่ แต่จะอยู่ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล อย่าไประแวงว่าจะโค่นล้มหรืออะไร…ไม่ใช่”

“หากรัฐบาลอื่นละเลยปฏิรูป การเช็กบิลก็มีโอกาสเกิด แต่ในแง่พัฒนาการที่ก่อนนี้เราไม่มีองค์กรอิสระ ใครไม่รู้คิดขึ้นมา องค์กรอิสระก็ไม่ได้เช็กบิลอะไรใคร คนก็บอกว่าเป็นการดี ถ่วงดุลตรวจสอบ การเมืองจะไปลงโทษการเมืองด้วยกันได้อย่างไร นี่ก็เช่นกัน อย่าไปมองว่าโค่นล้ม ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดมีการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น”

“แต่ถ้า ส.ว.ไปรังแกรัฐบาลขึ้นมาก็อยู่ไม่ได้หรอก ผมไม่อยากให้มองอย่างนั้น และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นมาในบ้านเมือง ซึ่งไปเริ่มต้นวัฏจักรใหม่ อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ อย่าไปบอกว่าเขาไม่ลงท้องถนน มันจะกลายเป็นบทเรียนและทำให้สิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่นั้นสูญหายไป นวัตกรรมใหม่ คือ อำนาจ ส.ว.ที่เพิ่มขึ้น ในการเข้ามาดูแลการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าอยู่ตัวแล้วและรัฐบาลเข้าใจ ใครก็อยากทำเพราะเป็นผลงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

“ผมไม่เชื่อว่า แผนปฏิรูปประเทศจะไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แผนต้องวางไว้ดี เพียงแต่แผนนั้นยังยากเกินไป ไม่ไปสู่จุดหมาย ถ้ารัฐบาลพยายามปรับเปลี่ยนแผนปฏิรูปก็เปลี่ยนได้ ถ้าไม่สนใจเลยจะถูกเช็กบิล ถ้าแผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติมีเป้าหมายที่ดี ก็มีประโยชน์กับประเทศรัฐบาลทำไปก็ได้แต้ม”

ไม่เป็นเปลือกหอยคุ้มครองบิ๊กตู่

เขายืนยันว่า ส.ว.ไม่ใช่ “เปลือกหอย” ที่คอยคุ้มครองรัฐบาล “ไม่มีความเป็นเปลือกหอย ส.ว.ชุดนี้ต่างจากในอดีตที่เข้าไปร่วมโหวตไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ แต่ ส.ว.ชุดนี้มีอำนาจแค่เห็นชอบนายกฯ ถ้าถามว่ามีความหมายอะไรไหม …มีมาก เพราะถ้านายกฯท่านนั้นดูแล้วจะไม่เดินตามรัฐธรรมนูญในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ก็คงไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.”

เมื่อถาม “พรเพชร” ว่า ปรากฏการณ์หลังเลือกตั้งได้ 28 พรรคที่มี ส.ส. และมีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรค มองว่าทั้งหมดเป็นการปฏิรูปไหม เขาตอบว่า “คือ…เรายังไม่ได้ปฏิรูปเต็มที่ เรื่องทางการเมือง ผมก็วิเคราะห์ลำบาก การเมืองที่มีหลายพรรคการเมืองเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากในระบบที่ทุกคะแนนมีความหมาย ดังนั้น ถ้าใครที่คิดว่าจะได้ความนิยมจากประชาชนในวงกว้าง เขาก็ต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และไปแข่งกันในเวที ซึ่งมีพรรคได้ ส.ส. 1 คน เยอะแยะ ได้ ส.ส.10 คน โดยที่ตัวเองไม่ได้ต้องลงเลือกตั้งก็มี เมื่อเป็นระบบอย่างนี้จะไปพูดถึงปฏิรูปอะไร…ยังไม่ถึง”

ภารกิจ Extra ส.ว.ยุคเปลี่ยนผ่าน

อย่างไรก็ตาม นอกจากกำกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กฎเหล็กของ “พรเพชร” 4 ข้อ ที่ ส.ว. ต้องทำให้ครบถ้วน เป็นภารกิจ extra คือ 1.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ กลั่นกรองกฎหมาย 2.ตรวจสอบรัฐบาล 3.ดูแลองค์กรอิสระให้ได้คนที่ดี 4.ดูแลยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ในข้อ 4 ไปกระทบเรื่องนิติบัญญัติ เพราะถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ หรือกฎหมายบางอย่างที่จะมีผลกระทบต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส.ว.เข้าไปมีบทบาทมากกว่ากฎหมายธรรมดา เพราะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ใช่กลั่นกรองแบบกฎหมายธรรมดา ดังนั้น อาจทำให้สมาชิกคิดแต่เรื่องปฏิรูปอย่างเดียว ผมก็ต้องคอยเตือนว่า อย่าทิ้งข้ออื่น

กับคำถามสุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. 250 คน เป็น ส.ว.”ยุคเปลี่ยนผ่าน” คำว่า “เปลี่ยนผ่าน” จะไปสู่อะไร

เขาตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “เปลี่ยนผ่านเพื่อให้ ส.ว.ชุดต่อไปที่เลือกกันเอง 200 คน ต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญดีไซน์อายุ ส.ว.ชุดเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แต่รัฐบาลอยู่ 4 ปี ก็หวังว่า ส.ว. 250 คน จะส่งไม้ต่อ โดยดูว่ารัฐบาลใหม่ใช้ได้ เดินแผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ และเมื่อพ้นไปแล้ว มี ส.ว.ที่เลือกกันเองเข้ามา ส.ว. 250 คน ก็คงสบายใจว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องดูไปว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!