30 องค์กรล้อมสภาแก้ รธน.

นอกจากพรรคฝ่ายค้านเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญฉบับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกสมัยประชุมสภา 30 องค์กรไม่รับ (ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ปี 2559 ถือกำเนิดขึ้นมา ในนามคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ขยับแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับนอกสภาภารกิจ 3 เดือนนับจากนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) รณรงค์-รวบรวม “มติมหาชน” และปักหมุด “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ในวันที่ 10 ธ.ค. 62

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตแกนนำกลุ่ม NEWDAM และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้ไร้สังกัดแต่ไม่ได้หยุดนิ่ง ได้ระดมความคิดจากหลายภาคส่วน นาม “เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า”

รูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนด้วยภาษาเข้าใจง่าย-สั้น เช่น รัฐธรรมนูญสหรัฐ 7 พันคำ ขณะที่รัฐธรรมนูญไทย 4 หมื่นคำ กระบวนการหาฉันทามติ ต้องหาจุดร่วม ไม่ใช่จุดต่าง คือ “การเลือกแบบอนุมัติ-approval voting” โดยการถามประชามติไม่เห็นด้วย-เห็นด้วยได้มากกว่า 1 ร่าง

“ข้อเสนอเรื่องเนื้อหา 1.การให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิ เช่น ตั้งสภาเยาวชนเพื่อเสนอกฎหมายให้สภาพิจารณา การสามารถถอดถอน ส.ส.ในพื้นที่ได้ 2.วุฒิสภา ควรจะมาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง ควรจะเพิ่มอำนาจ หรือลดอำนาจ”

ข้อเสนอที่จะยื่น คือ การปรับระบบรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว คือ สภาผู้แทนราษฎร เพราะทิศทางของโลกเป็นสภาเดี่ยว ประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภา 31 ประเทศ มี 21 ประเทศกลับมาใช้สภาเดี่ยว อีก 11 ประเทศที่เป็นสภาคู่ มี 2 ประเทศที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง

“ข้อดี คือ ลดการใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี และความรวดเร็วในการออกกฎหมาย ถ้าท้ายสุด กลัวว่าจะไม่มีการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ขอ บอกว่าไม่มีอะไรอันตรายมากไปกว่าการมี ส.ว.ให้ท้ายฝ่ายบริหารเต็มที่”

ด้าน “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซับเซต นปช.-คนเสื้อแดง จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เพื่อให้มีการเลือกตั้งทางตรง คือ เลือกคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ตัด ส.ว.ออก เหลือแต่ ส.ส. เพราะ ส.ว.เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ให้องค์กรอิสระขึ้นกับสภาผู้แทนฯ กระจายอำนาจโดยการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกเลิกศาลทหาร และให้มีเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง เช่น 3 จังหวัดภาคใต้ สิทธิการชุมนุม ล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหาร และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี”49”

สำหรับ 30 องค์กร ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ ภาควิชาการ 7 องค์กร อาทิ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 3.เครือข่ายนักวิชาการราชภัฏราชมงคลเพื่อพลเมือง (ครพ.) 4.เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) 5.กลุ่มเวทีเสนวนาประชาธิปไตยภาคใต้


ภาคนักศึกษาและนักกิจกรรม 7 องค์กร อาทิ 1.สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-นักกิจกรรมเคลื่อนไหวการเมือง 2.ดาวดิน ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ภาคประชาชน 14 องค์กร อาทิ สมัชชาคนจน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน