พปชร.วิ่งสับเปลี่ยนกำลัง มุ้ง “พี่ใหญ่” เปิดศึก “รุมทึ้ง” ทีมเศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ

เมื่อปัจจัยการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจเขี่ยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นอำนาจฝ่ายบริหารได้ เพราะรัฐบาลกำเสียงข้างมากท่วมท้น มากกว่าฝ่ายค้านหลายเท่า

แต่ที่หนักใจ เป็นปัจจัยเสี่ยง คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ถึงแม้ “ปัจจัยเสี่ยง” ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะถูกปลดชนวน

ทว่า “ระเบิดลูกใหญ่” คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาวะ “ยากลำบาก” โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาการ “แข็งค่า” ของค่าเงินบาท และเงินไม่ถึงรากหญ้า

กระหน่ำซ้ำจากแผลสดทางการเมืองที่ถูกฉีกกลางสภาในศึกซักฟอก ดังนั้น ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แกนนำตัวจ่าย” จับชีพจรรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้อง “ปรับใหญ่” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่“ทีมสมคิด” ยัง “แก้ไม่ตก”

ปรับขบวน รื้อทีมเศรษฐกิจ

แกนนำพลังประชารัฐ ตั้งวงวิเคราะห์ ว่า “กรุงศรีฯ ไม่สิ้นคนดี-คนเก่ง โดย ดึงคนนอก นักบริหารเศรษฐศาสตร์ มืออาชีพ มาบริหารเศรษฐกิจแทนทีมสมคิด เพื่อไม่ให้รัฐบาลกอดคอกันตายหมู่”

“ถ้าท่านนายกฯ ไม่เปลี่ยนเศรษฐกิจไม่ได้ เอาไม่อยู่ ท่านก็คงไปคุยกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจก่อนว่าทำอย่างไรให้ไปถึงรากหญ้า ทำแบบเดิมเงินไม่ถึงรากหญ้า 80% ต้องไปสู่คนจน 20% ต้องถึงมนุษย์เงินเดือน นี่คือปัญหาประเทศหลัก ไม่ใช่นายทุน”

“เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางอย่างมาก แต่ถ้าจะดึงใครมาสักคนทุกพรรคต้องเห็นด้วย กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นไร้คนดีหรอก ไม่งั้นรัฐบาลตายหมู่ เรื่องเสียงในสภา ตอนผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 รัฐบาลได้ 254 254 254 เสียงตลอด” แกนนำพรรคพลังประชารัฐระบุ

คนดี-คนเก่ง ที่ถูกชี้เป้า คือ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มไฟแรง-ทฤษฎีคนละสำนักกับสมคิด แต่ไม่ฝักใฝ่การเมือง อดีตผู้ช่วย MD ธนาคารไทยพาณิชย์ ประธานบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา/บอร์ดธนาคารทหารไทย

“เศรษฐพุฒิ” เป็น 1 ใน 6 “ทีมกุนซือ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ยังควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. ได้เซ็นคำสั่งทิ้งทวน-แต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 2.นายปิติ ตัณฑเกษม 3.นายเศรษฐพุฒิ

4.นายดิสทัต โหตระกิตย์ ซึ่งขณะนี้ขยับขึ้นไปเป็น “เลขาฯนายกฯ” 5.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และ 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รวมถึง “ปรีดี ดาวฉาย” นายกสมาคมธนาคารไทย จากธนาคารกสิกรฯ ที่ถูกโยนหินถามทาง

“สมคิด” ออกแรงป้องเก้าอี้

สูตรปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 กลุ่มที่ครอบครอง ส.ส.มุ้งใหญ่ ปักมีดใส่ “ทีมสมคิด” ออก “ทั้งกระบิ”

การเขย่าโผ ครม.รอบใหม่ จะเกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จึงต้องจับตาว่า “สมคิด” จะมี “ท่าไม้ตาย” เหมือนเมื่อครั้งปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการเปลี่ยนตัวหัวหน้า-เลขาธิการพรรค

โดยเฉพาะ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค-รัฐมนตรีพลังงานที่ไม่สามารถเล่นบท “ผู้จัดการรัฐบาล” ได้สมจริง ปล่อยให้ “ลูกพรรค” อดอยากปากแห้ง จึงถูกเขย่า-ขย่มเก้าอี้เลขาฯ-รัฐมนตรีพลังงานอย่างหนักหน่วง

จน “สมคิด” ต้องจูงมือ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นหลังตึกไทยคู่ฟ้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนจะสามารถต่อต้าน “ปฏิบัติการยึดพรรค” ได้สำเร็จ

โดยมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำสามมิตร เป็น “เพลย์เมกเกอร์” คนสำคัญรวมถึง “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมเข้าข่าย 3 ปัจจัยถูก “ปรับออก” 1.ขาลอย-ไม่ได้จ่าย 2.ไม่มีจำนวน ส.ส.อยู่ในมือ และ 3.ไม่เข้าพรรค-พวก

ทว่า อาจจะไม่ง่ายนักที่ “สมคิด” จะใช้ “มุกเดิม” เอาตัวรอดจากวิกฤตที่รุมเร้า รักษาพวก-พ้อง ทีมเศรษฐกิจที่อยู่โยงมาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ถึงฝั่ง ไม่ถูกเขี่ยออกได้หรือไม่

เกมเขย่าในพรรค

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ วิเคราะห์เอฟเฟ็กต์หลังการอภิปราย-ลงมติโหวตไม่ไว้วางใจแล้วว่า ดูตรงภาพรวมของการอภิปรายตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย จึงสามารถสรุปได้ว่าการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร การปรับ ครม.จะมีหรือไม่ เพราะหากรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายตอบดี จากที่ร้าย ๆ อยู่ก็อาจจะกลายเป็นดีเลยก็ได้ รวมถึงความกลมเกลียว ความสามัคคีภายในพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าหากผ่านตรงนี้ไปได้ อาจจะดีเลยก็ได้ รัฐบาลอาจจะไปรอดเลยก็ได้

“แต่ถ้าจะมีการเขย่ากันภายในพรรคก็คงจะเป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องอภิปราย ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรให้สะดุดขาตัวเองก็คงจะอยู่ได้”

ขณะที่ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นจุดที่อาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีการปรับเปลี่ยน “ครั้งใหญ่” ภายในรัฐบาล

“แกนนำกลุ่ม กทม.” สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ว่า จากตัวเลขจีพีดีปี”62 เติบโตเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าเรา

เรื่องกระบวนการกระจายเม็ดเงินลงสู่รากหญ้าโดยตรง กระบวนการในการนำเงินลงไปต้องให้ถึงประชาชน ถึงแม้ว่าไอเดีย “ชิม ช้อป ใช้” จะดีและด้วยเงินที่ลงไปจำนวนมาก แต่การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง การเมืองต้องทำ 1 ประชาสัมพันธ์ 10

“เรื่องค่าเงินบาทแข็ง มาตรการลงทุนซื้อเครื่องจักร เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เตรียมลงทุนอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครบังคับให้ทำ บริษัท ปตท.ต้องลงทุนให้ได้ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อไปซื้อเครื่องจักรต่างประเทศค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลง”

“ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์มีแผนลงทุนเท่าไหร่และสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขเงินลงทุนแล้ว 5 แสนล้านในการลงทุน เมื่อประกาศไปแล้วก็จะไม่เกิดต่างชาติเก็งค่าเงินบาท รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนเครื่องจักรแสนล้านบาท”

เฮ้ง-แฮงค์ เด็กดื้อ ขอลุ้นเก้าอี้

นอกจากมีแววการปรับ ครม.เศรษฐกิจ การเขย่าขวด ครม.ในประยุทธ์ 2/2 ยังมีวี่แววลามไปกระทรวงอื่น

“สุชาติ ชมกลิ่น” ส.ส.ชลบุรี ในฐานะประธาน ส.ส.พปชร.ผู้คุมกำลัง ส.ส.ย่านภาคตะวันออก-กลาง อดีตแคนดิเดต รมว.แรงงาน ในช่วงการฟอร์มรัฐบาล หล่นวลีการเมือง ประกาศตัวร่วมลุ้นโควตารัฐมนตรี ในการปรับ ครม.ว่ายอมเป็น “เด็กดี”

“ผมเป็นเด็กดี และถ้ามีเด็กดื้อ ได้ขนม แล้วจะทำให้ทุกคนที่เป็นเด็กดี กลายเป็นเด็กดื้อทั้งหมด ตรงนี้เป็นความคลาดเคลื่อน ซึ่งผมจะทำให้ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สบายใจไปทำไม พวกเราต้องสนับสนุนท่านนายกรัฐมนตรี ทำงานให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และบ้านเมือง”

ว่ากันว่า “สุชาติ” ซุ่มซ้อม คิดโปรเจ็กต์กระทรวงจับกังล่วงหน้า หากมีลุ้นได้-เสีย พร้อมนั่งตำแหน่งทันทีถ้ามีโอกาสมาถึง

เช่นเดียวกับ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท รองประธานยุทธศาสตร์พลังประชารัฐ นอกจากมี “นาย” สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นหัวหน้าทางการเมืองเบอร์ 1 ยังแนบแน่น กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พลังประชารัฐ เคยมีลุ้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยคลังแต่ก็พลาด แม้ตั้งโต๊ะทวงสัจจะของชายชาติทหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ เฮ้ง-แฮงค์ เข้าถึง “บิ๊กป้อม” เกมเขย่าในพรรคครั้งนี้ จึงมีลุ้นสมใจ “เด็กดื้อ”

ขันนอตทีมโฆษก

นอกจากทีมเศรษฐกิจที่ยังเป็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาลแล้ว การสื่อสารของ “ทีมโฆษกรัฐบาล” ที่แกนนำกรรมการบริหารพรรคสาย กทม. ต้อง “ขันนอต” ประกาศให้ “ทีมโฆษกรัฐบาล” ปรับตัว-เลิกเดินตาม พล.อ.ประวิตร และหากไม่จำเป็นต้องตาม พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ก็ไม่ต้องไป และใช้เวลามาทำงานในทีมโฆษกรัฐบาลให้เข้มแข็ง

รวมถึง อย่าเอาแต่ขอบเขตงาน-ผลงานของพรรค (ร่วม) ของตัวเอง ต้องบริหารจัดการทีมงานให้เข้มแข็งและทำตัวเป็น “ศูนย์กลาง” ของข้อมูล-ข่าวสารรัฐบาลมากกว่าที่เป็นอยู่

“ท่านนายกฯทำเยอะ ท่านตั้งใจ แต่ทำไมการสื่อสารออกมาผิดฝาผิดตัวไปหมด ดังนั้น ต้องเอาปัญหาออกมาเปิดเพื่อมาแก้ ไม่เอาปัญหาซุกไว้ใต้พรม วันนี้ถึงจุดที่ปัญหาต้องแก้ ต้องไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอีก ผมต้องรักษานายกฯ เพราะนอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว การประชาสัมพันธ์คือส่วนหนึ่งของปัญหาต้องแก้ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นมาแก้” แกนนำพรรคพลังประชารัฐระบุ

ทว่า หากไม่ปรับตัว-แนวทางการทำงาน อาจถูกปรับออกจากตำแหน่งก็เป็นได้