ครม.สัญจร เพิ่มแพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” แง้มประเทศเปิดภูเก็ตโมเดล

พล.อ.ประยุทธ์ ประชุมครม.สัญจร ระยอง

ครม.โปรยเงิน ปักหมุดสถานีระยองเชื่อมไฮสปีดเทรน สร้างเมืองใหม่ เท 5,400 ล้าน ตั้งศูนย์นวัตกรรมอีอีซี ทุ่ม 2,771 ล้านบาท ปรับปรุงถนน อุ้มเกษตรกรยางพารา เพิ่มสิทธิ-ท็อปอัพค่าเครื่องบิน “เราเที่ยวด้วยกัน” เห็นชอบ “ภูเก็ตโมเดล” จัด “จ็อบเอ็กซ์โป” จ้างงานล้านตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.ระยอ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 อนุมัติงบประมาณแผนงานและโครงการเศรษฐกิจทั้งในกลุ่มจังหวัด และการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคท่องเที่ยวและการจ้างแรงงาน

ปักหมุดไฮสปีดสถานีระยอง

ที่ประชุมรับข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 12 โครงการ เพื่อพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาทิ เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาเร่งรัดโครงการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สถานีที่ 10 (สถานีระยอง) โดยขอเร่งรัดการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากเดิมช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยเชื่อมต่อจากสนามบินอู่ตะเภาเข้าสู่เมืองระยอง โดยขอให้ก่อสร้างสถานีระยองให้แล้วเสร็จพร้อมกับสถานีอู่ตะเภา ในปี 2568

เห็นชอบให้เร่งรัดโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง โดยให้เชื่อมโยงกับการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจจากทั้งนักลงทุน อุตสาหกรรมต่อเนื่อง นักท่องเที่ยว และประชาชนโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา

ตั้งศูนย์นวัตกรรมอีอีซี 5,408 ล้าน

นอกจากนี้ ยังอนุมัติกรอบวงเงิน 5,408.77 ล้านบาท เดินหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568)

ทุ่ม 2,771 ล้านบาท อุ้มยางพารา

อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,771 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย กรมทางหลวง 1,719 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 1,052 ล้านบาท

โดยกระทรวงคมนาคมระบุด้วยว่า นอกจากจะช่วยสร้างความปลอดภัยทางถนนแล้ว ยังจะเป็นการช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา และระบายผลผลิตยางพาราได้อย่างเป็นรูปธรรม

ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 53 โครงการ

อนุมัติแผนงาน-โครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน จำนวน 53 โครงการ วงเงิน 142,386,554 บาท

ครม.สัญจร ระยอง

เพิ่มสิทธิ์-ท็อปอัพค่าเครื่องบิน

เห็นชอบปรับปรุงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้อย่างทั่วถึง และใช้สิทธิ์ได้อีกครั้ง จากประชาชนจองห้องพักได้ไม่เกิน 5 คืนต่อ 1 เลขบัตรประชาชน สามารถจองเพิ่มได้อีก 5 คืน เป็น 10 คืน โดยชำระค่าโรงแรมที่พักร้อยละ 60 รัฐบาลสนับสนุนร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาท และค่าเครื่องบิน จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท และสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน 2,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 1,000 บาท

นอกจากนี้ รับทราบในหลักการขยายฐานการใช้สิทธิ์สำหรับบริษัท เพื่อก่อให้เกิดการพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยให้สิทธิ์บริษัทจองที่พักและบัตรโดยสารเครื่องบินตามแพ็กเกจที่กำหนดเพื่อใช้ในการจัดอบรม ประชุม สัมมนา ดูงาน สำหรับพนักงาน ส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังเห็นชอบในหลักการให้จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่รับนักท่องเที่ยว หรือ “ภูเก็ตโมเดล” เพื่อเป็นพื้นที่คัดกรองให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร 14 วัน เมื่ออยู่ครบกำหนด 14 วัน จะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ถ้าไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ไปเที่ยวในจังหวัดอื่นได้

ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวประสงค์เดินทางไปเที่ยวจังหวัดอื่น นักท่องเที่ยวต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดอีก 7 วัน จากนั้นจะมีการตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้ง หากไม่พบเชื้อจึงจะไปเที่ยวจังหวัดอื่นได้

“จ็อบเอ็กซ์โป” ล้านตำแหน่ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.สัญจรยังไม่มีการอนุมัติมาตรการจ้างงาน เพราะต้องหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) ในอีก 1-2 วันให้จบ และเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโรคระบาดโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. เพื่อตกผลึก 3 ฝ่าย เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ดีที่สุด

ส่วนมาตรการรัฐสนับสนุนค่าจ้าง 50% ให้กับเอกชน ต้องหารือกันก่อน เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือแม้แต่ข้อเสนอของเอกชนให้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ตลาดแรงงาน จ็อบเอ็กซ์โป 2020 จำนวน 1 ล้านตำแหน่งต้องจัดแน่นอน ต้องจบให้เร็วที่สุดภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยดูสถานที่จัดงานไว้ 2-3 แห่ง เช่น ไบเทค บางนา และเมืองทองธานี แบ่งออกเป็น การจ้างงานของรัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ โดยรวบรวมอัตราการจ้างงานของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ วิสาหกิจ และเอกชน เป็นบิ๊กดาต้าเพื่อลงในแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ”

“ตำแหน่งงานของภาครัฐมีแน่นอน 400,000 อัตรา ภายใต้งบประมาณการจ้างงานงบประมาณปี 2563 อาทิ กระทรวงมหาดไทย 40,000-50,000 อัตรา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ 40,000 อัตรา กระทรวงเกษตรฯ 80,000-90,000 อัตรา ซึ่งจะต้องกลับไปดูว่างบประมาณปี 2564 จะมีเพิ่มอีกกี่อัตรา ส่วนภาคเอกชนทั่วไปมี 94,000 อัตรา และภาคเอกชนที่เกี่ยวกับส่งออก 105,000 กว่าอัตรา”

ทั้งนี้ อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,000 ล้านบาท ในลักษณะเงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย การพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตวัคซีนโควิด-19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

เปิดรับต่างชาติ ต.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ถึงแผนการเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคมว่า หลังศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจพบว่า การท่องเที่ยวในประเทศอาจไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวจำนวน 20 ล้านคนได้ จึงจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมมารองรับ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจก็จะอยู่ที่เดิม หรือไม่ก็แย่ไปกว่าเดิม ถึงขั้นปิดกิจการ ลดการจ้างพนักงาน

“ยืนยันว่าเรามีขีดความสามารถในการตรวจสอบ คัดกรอง ถ้ามีหลุดรอดมาเราก็ติดตามได้และรักษาพยาบาลได้ มีบุคลากรที่เพียงพอ เป็นสิ่งที่ต้องคิด 2 ทางเสมอ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็เอาเศรษฐกิจมาพูดทางหนึ่ง สุขภาพพูดอีกทาง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แผนจ้างงาน 6 เดือน-1 ปี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาการว่างงานกำลังพิจารณาในคณะอนุกรรมการคัดกรอง เพราะเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ พร้อมยอมรับว่าจะมีทั้งคนที่ได้งานและคนไม่ได้งาน ในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปี จำเป็นต้องเตรียมมาตรการทางการเงิน และการคลังรองรับด้วย

อนุมัติงบฯ “ปิดทองฯ” 570 ล้าน

อนุมัติกรอบงบประมาณวงเงิน 572.58 ล้านบาท ให้มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อนำไปใช้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 3 ปี 2564-2565


มูลนิธิปิดทองหลังพระฯได้รายงานผลการดำเนินงานว่า สามารถขับเคลื่อนพันธกิจไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีผลลัพธ์ที่ออกมาใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม