วิบากกรรม ชีวิต “แกนนำม็อบ” ขึ้นศาลสู้คดีการเมือง ติดคุก ชดใช้ทางแพ่ง

วิบากกรรมม็อบ19กันยาฯ

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 19 กันยาฯ ทวงอำนาจคืนราษฎร “นับแสน” กินพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สนามหลวง ตามมาด้วยคดีแพ่งและอาญาตามรอยม็อบรุ่นพี่ ต่างกรรม-ต่างวาระ

การปัก “หมุดคณะราษฎร 2563” ใจกลาง “สนามหลวง” ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน” สำคัญของชาติในปี 2520 และมีผู้รับผิดชอบแจ้งความกล่าวหากับ สน.ชนะสงคราม 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานเขตพระนคร และกรมศิลปากร

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 32 ระบุองค์ประกอบ-ฐานความผิดว่า มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถานหรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

สำหรับคำปราศรัย-ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ พาดพิงสถาบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ “มอนิเตอร์” พร้อมบันทึกภาพและเสียงเพื่อเป็นหลักฐาน-วัตถุพยานดำเนินคดีว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 หรือไม่

เบื้องต้นสำนักงานตำรวจนครบาลพบการกระทำผิด 6 ประเด็น คือ 1.การบุกรุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 2.การชุมนุมในท้องสนามหลวง 3.การรื้อถอนทำลายรั้วสนามหลวง

4.การค้างคืนในท้องสนามหลวง 5.การปักหมุดคณะราษฎรที่ 2 ในท้องสนามหลวง และ 6.การเคลื่อนตัวจากท้องสนามหลวงไปชุมนุมในที่สาธารณะ ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัยกรณี “ณฐพร โตประยูร” ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

คำร้องระบุว่า การชุมนุมปราศรัยในวันดังกล่าวมีผู้กล่าวปราศรัย 3 คน คือ นายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดยให้ผู้ถูกร้องทั้งสามเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวัน

ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา

ปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “ม็อบเสื้อเหลือง” ชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ “นายกฯนอมินี” รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดังนี้ 1.คดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 6 แกน พธม. 6 คน จำคุก 8 เดือน ไม่รอลงอาญา 2.คดีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลแพ่งตัดสินให้แกนนำ พธม.กับพวกรวม 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 522 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจาก 3 ธันวาคม 2551

นอกจากนี้ ศาลแพ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีบริษัทวิทยุการบินฯ เรียกค่าเสียหาย 103 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

3.คดียึดสถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นบีที ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกนายธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 84 คน (กลุ่มนักรบศรีวิชัย และอดีตการ์ด พธม.) ลดหลั่นตามฐานความผิดตั้งแต่ 4-9 เดือน 4.คดีปิดล้อมรัฐสภา ศาลอาญายกฟ้องแกนนำ-แนวร่วม 21 คน 5.คดีตีกรอบ-ดาวกระจายขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องแกนนำ พธม.กับพวก 9 คน

และ 6.คดีชุมนุมคัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง 10 แกนนำ พธม.

ปี 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “ม็อบเสื้อแดง” ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คดีบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ซัมมิท) เมื่อปี 2552 ที่พัทยา ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์จำคุกแกนนำนปช.กับพวก 12 คน 4 ปี

คดีบุกบ้านป๋า-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ศาลอาญาพิพากษายืนจำคุกแกนนำ นปช.จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4-7 จำนวน 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

คดีก่อการร้าย-ปิดล้อมสถานที่ตั้งแต่แยกผ่านฟ้า-แยกราชประสงค์ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง 24 แกนนำ นปช.คดีบุกกระทรวงมหาดไทย-ทุบรถยนต์อภิสิทธิ์ ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 แนวร่วม นปช. 2 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำ นปช.อุบลฯเป็นรายบุคคล ดังนี้ 1.จำคุกตลอดชีวิต 2.จำคุก 33 ปี 4 เดือน 3.จำคุก 2 ปี 4.จำคุก 1 ปี 4 คน 33 ปี 4 เดือน และอีก 4 คน 2 ปี 3 คน 8 เดือน และอีก 1 คนยกฟ้องข้อหาก่อการร้าย แต่จำคุก 1 ปี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

และยกฟ้อง 9 ราย คดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง 7 แกนนำ นปช.มุกดาหาร

ปี 2557 กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือ “ม็อบนกหวีด” ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์-ต่อต้านนิรโทษกรรมยกเข่ง

โดยอัยการสั่งฟ้อง 38 แกนนำในคดีกบฏ และแยกสำนวนสั่งฟ้องเพิ่มตามฐานความผิด ดังนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 และนายชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 ฐานร่วมกันก่อการร้าย

นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11

นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 และนายอมร อมรรัตนานนท์ ผู้ต้องหาที่ 37 ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้ต้องหาที่ 24

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ต้องหาที่ 30

นายพิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 33

และนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ต้องหาที่ 58

อาทิ ฐานสนับสนุนการกบฏ อั้งยี่ ซ่องโจร ร่วมกันบุกรุก ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง

ที่มาผ่านมาศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “พระพุทธะอิสระ” 1 ปี 6 เดือน ให้รอลงอาญา 1 ปี ในฐานความผิดอั้งยี่ ซ่องโจร หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น

ศาลพิพากษาจำคุกนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือ “มือปืนป๊อบคอร์น” 37 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันฆ่า พยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมืองที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำอาวุธปืนออกนอกเคหสถานภายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ศาลอาญายกฟ้อง 4 แกนนำ กปปส. ได้แก่ 1.นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม 2.นายสกลธี ภัททิยกุล 3.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และ 4.นายเสรี วงศ์มณฑาข้อกล่าวหากบฏ

เป็นวิบากกรรม-จุดจบของแกนนำม็อบการเมือง