ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกิจ ‘ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชทพ.’ รู้หลบเป็นปีก

ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล

การชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” ยุติลงชั่วคราว หลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร สลายการชุมนุมม็อบล้อมทำเนียบรัฐบาลเมื่อย่ำรุ่งวันที่ 15 ตุลาคม 2563

ตามมาด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 36/2563 แต่งตั้ง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีเป็น “ผู้กำกับการปฏิบัติงาน” ของ “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะ “หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง”

“พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งกองบัญชาการเผชิญเหตุ “ม็อบคณะราษฎร 2563” รวมศูนย์อำนาจการบริหารสถานการณ์ไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล-ฉายหนัง “ม้วนเดิม”

ไม่ต่างไปจากในยุค ศอฉ. สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และ ศอ.รส. สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์สำรวจ 20 พรรคร่วมรัฐบาล

ประเมินข้อเรียกร้อง “ประยุทธ์ออกไป” ของ “คณะราษฎร 2563” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ต่างขะมักเขม้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

ทว่าครั้งนี้ต่างออกไป เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” จูงมือรัฐมนตรีโควตากลาง-สายตรง และโควตาพรรคร่วมรัฐบาล หัวหน้าพรรค-แกนนำมุ้ง เรียงหน้ากระดานมาร่วมแถลงซ้ำ-ย้ำจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันเสียงแข็ง “ไม่ลาออก” เรียกความมั่นใจ-รอยยิ้นจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ยืนคุมเชิงอยู่ข้างหลัง การันตีว่า การ “ลาออก” หรือ แม้กระทั่งการ “ยุบสถา” จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้

เพราะทุกพรรคการเมือง “รู้อยู่เต็มอก” ว่า หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจลาออกขณะนี้ อย่างไรเสีย ชื่อ “นายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ก็ยังชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะกติกาการเลือกตั้งเก่า-รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ที่ให้ ส.ว.250 คน มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี

ซึ่งการ “ฟอร์มรัฐบาลใหม่” ไม่มีอะไรการันตีว่า “เก้าอี้เสนาบดี-โควต้ารัฐมนตรี” ของพรรคร่วมรัฐบาล แม้แต่กับพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐเอง จะได้ “กระทรวงเกรดเอ” เหมือนที่เสวยสุขกันอยู่ตอนนี้

ยิ่งหาก “พล.อ.ประยุทธ์” ชิง “ยุบสภา” จะกลายเป็น “งานหนัก” ของบรรดานักการเมืองอาชีพ ที่ไม่มีใครพร้อม-ไม่มีใครอยากที่จะเลือกตั้งใหม่ เพราะต้องเสียทั้งพลังงาน-พลังเงินมหาศาล

คำถามลอยลม-ฝันหวานที่หวังว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” อย่างพรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา จะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คงเป็นได้เพียงความคิดของ “คนโลกสวย”

“วราวุธ ศิลปอาชา” คีย์แมนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แม้ไม่เห็นการออกมายืนแถวหน้า-แลกหมัดกับแกนนำผู้ชุมนุมแทนรัฐบาล แต่ได้ส่ง “นิกร จำนง” ไปนั่งเคลื่อนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็น “แสงสว่างในปลายอุโมงค์”

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ยังไม่แน่ใจว่า ประเด็นอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป้าหมาย
ที่แท้จริงคืออะไร ถ้าเป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเราเห็นตรงกันแล้วว่าควรจะแก้”

“วราวุธ” ตอบข้อสงสัยที่ว่า อะไรทำให้ไม่เห็นพรรคร่วมรัฐบาล “แอ็กชั่น” เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งเท่าที่ควร

เพราะ “ไม่เห็นมีใคร (ผู้ชุมนุม) พูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย และพรรคเทิดทูนสถาบันเหนือสิ่งอื่นใด”

ดังนั้น เมื่อเป็นประเด็นเรื่องสถาบัน การ “เงียบที่สุด” และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาจึงเป็น “ทางออก” ของทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุม

ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญยังอยู่ในเส้นทาง-ไม่ถูกคว่ำก็ยังเป็นช่องทาง “ผ่าทางตัน”

ด้าน “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.แห่งภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะตัวแทนพรรคในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ก่อนลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เห็นว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่จริง และเห็นว่าต้องแก้ไข

“หัวหน้าพรรค อนุทิน ชาญวีรกูล ได้นำสมาชิกแถลงว่าเราขอให้ ส.ส.ร.มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่ประชุมของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคได้อภิปรายสนับสนุนมาโดยตลอด ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะเห็นร่วมกับเราหรือไม่ เราจะแก้ในฐานะพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ และเห็นปัญหา”

ขณะที่ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” และสถานการณ์พัฒนาไปในทิศทางที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

“สาทิตย์” มองผ่านแว่นคนเคยทำม็อบ จำแนกประเด็นเรียกร้องของผู้ชุมนุม 2 ประเด็นใหญ่ 1.ข้อเรียกร้องทางการเมือง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป ปฏิรูปการศึกษา-การเมือง สามารถเรียกร้องได้ เป็นการชุมนุมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และ 2.ข้อเรียกร้องสถาบันพระมหากษัตริย์

“การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่สำคัญ เพราะประเด็นข้อเรียกร้องทางการเมืองทั้งหมดถูกคลุมทับด้วยประเด็นเรื่องสถาบัน จุดประเด็นความไม่พอใจ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนจำนวนมาก”

มาถึงขณะนี้ “สาทิตย์” มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเรื่องเดียวไม่สามารถทำให้แก้ปัญหาหรือท่าทีของผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด แต่สามารถ “ลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง” ซึ่งทุกพรรคการเมืองกำลังดำเนินการอยู่ “แต่ไม่ใช่ทางออก”

“เป็นห่วงเรื่องการดันเพดานให้สูง ทำให้คนไม่พอใจมากขึ้น ควรจะทบทวนท่าที เพราะทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการศึกษา-เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำหายไปหมด กลายเป็นประเด็น (สถาบัน) เดียว และสร้างความขัดแย้งง่ายที่สุด”

เมื่อแกนนำถูกจับกุมไป แต่สถานการณ์การชุมนุมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น แยกราชประสงค์ ยังดำเนินต่อไป ในฐานะ “ม็อบรุ่นพี่” เปรียบเทียบ “ม็อบยุคใหม่” ว่า การชุมนุมในยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมเรียกว่า “ยุคทีวีดาวเทียม” ระดมมวลชนผ่านทีวีดาวเทียม-เครือข่าย และมารวมกลุ่มกันบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยแกนนำสามารถควบคุมได้

“แต่ปัจจุบันนัดกันผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งข้อเรียกร้องไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะจับแกนนำไปแล้ว แต่เชื่อว่าคงจะมีการชุมนุมเรียกร้องในลักษณะเป็นจุด ๆ ต่อไปอีก”

ส่วน “ฉากจบ” การชุมนุมในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร “สาทิตย์” ยอมรับว่า “ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้”

“การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และมีการจับกุมแกนนำ แน่นอนย่อมไม่มีคนเห็นด้วย มีการกล่าวโทษไปที่รัฐบาล หรือสูงกว่ารัฐบาลเข้าไปอีก สร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมออกมา หรือแสดงออกมากขึ้นก็เป็นไปได้”

“ขณะเดียวกันการดำเนินการตามกฎหมายจัดการกับแกนนำทำให้คน ที่สามารถนำมวลชนได้จะลดลงฉะนั้นการเคลื่อนไหวของมวลชนก็จะเปลี่ยนทิศทางไป เช่น ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้นเป็นกลุ่ม มีการกระจายมากขึ้น”

“แต่หลายคนกังวลว่า การกระจายไปจะบานปลายไปสู่กลุ่มบางกลุ่มที่เคยทำงานในลักษณะใต้ดินหรือไม่ เช่น การก่อความรุนแรง ซึ่งเป็นการคาดการณ์ อาจจะไม่มีก็ได้”

ดังนั้น ไม่ว่าจะซีนาริโอเหตุการณ์-พยากรณ์ฉากจบอย่างไร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลอภิสิทธิ์ “ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลและสังคม”


ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมยังจึงยังเขม็งเกลียว-รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  ยังไม่หาทางออกโดย “สันติวิธี” ด้วยการ “เจรจา” เมื่อผู้ชุมนุมที่ยกระดับจาก “คณะราษฎร” เป็น “ราษฎร”