ครม. เคาะชดเชยแรงงานกระเทือนโควิด ว่างงานได้เงิน ร้อยละ 50 

คณะรัฐมนตรี เคาะชดเชยแรงงานกระเทือนจากโควิด ว่างงานได้ร้อยละ 50 

วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.จ่ายชดเชยกรณีว่างงานร้อยละ 50 ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2.การลดจ่ายเงินค่าสมทบสำหรับลูกจ้างและนายจ้างจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ มกราคม – มีนาคม 2564

และ 3.การจ่ายเงินเด็กแรกเกิดจาก 600 บาท เป็น 800 บาท และค่าคลอดบุตร จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยโรคโควิด-19 ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดที่มีการสั่งปิดพื้นที่ หรือ 1 ปีปฏิทินไม่เกิน 90 วัน บังคับใช้ตั้งแต่ 19 ธ.ค.63

คาดว่า ร่างกฎกระทรวงจะช่วยผู้ประกันตนในพื้นที่ปิด เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ กทม. นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ได้รับ 5.7 ล้านคน 5,225 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลดอัตราเงินสมทบต่อเนื่องอีก 3 เดือน ทำให้กองทุนฯ จัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 15,660 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุน 4 กรณี ซึ่งเป็นการจ่ายสิทธิประโยชน์ระยะสั้น ประกอบด้วยกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพและตาย หากกองทุนขาดสภาพคล่องในการใช้จ่ายในแต่ละปี จะส่งผลให้ต้องนำเงินกองทุนในอนาคตมาใช้

นอกจากนี้กองทุน 2 กรณี ประกอบด้วย กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้ว่าในด้านกระแสเงินสดยังคงเพียงพอต่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน แต่เงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพลดลงประมาณ 7,339 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน

ในขณะนที่สำนักงานประกันสังคมมีภาระค่าใช้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญ แก่ผู้ประกันตนในอนาคต เพราะต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ อัตราและสูตรบำนาญที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งการที่สำนักงานประกันสังคมไม่ได้รับเงินสมทบเต็มจำนวน ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลซึ่งจะต้องนำเงินมาสนับสนุนกรณีกองทุนไม่เพียงพอในอนาคต