ถอดถอน “สิระ” ลาม “เพื่อไทย” พบหนอนบ่อนไส้ บงการ ส.ส.ถอนชื่อ

ถึงศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ให้ “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

ตามที่ ส.ส. 50 คน จากพรรคเสรีรวมไทย กับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า นายสิระเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรมนูญ มาตรา 98 (10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากการที่ “สิระ” เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ว่า “กระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341”

โดยศาลให้เหตุผลในการ “ยกคำร้อง” ว่า เพราะเหตุผลทางเทคนิก ที่ปรากฏว่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย 2 คน นางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร และนางอาภรณ์ สาราคำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ถอนชื่อ ทำให้ชื่อไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ

“ขณะยื่นคำร้องและคำร้องเพิ่มเติมนั้น สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. จำนวน 487 คน และต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องเพิ่มเติม แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามี ส.ส. จำนวน 2 คน ขอถอนชื่อออกจากการเข้าชื่อเสนอคำร้อง ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 มีผลให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเหลือเพียง 48 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งบัญญัติ”
“ดังนั้น คำร้องนี้ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย”

เพียงข้ามคืน “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เตรียมจะ ยืนยันใหม่ว่า ว่า ได้ตรวจสอบรายละเอียดภายในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แล้วพบว่านายสิระเคยมีคดีที่ถูกลงโทษถึงจำคุก คือ ความผิดเกี่ยวกับฉ่อโกง และลงโทษจำคุก 4 เดือน และยังมีอีกหลายคดีที่แสดงถึงพฤติกรรมของนายสิระ เช่น คดีเช็ค, ขับรถชนคนตาย, ทำร้ายร่างกายอีก

“ในคดีที่ผ่านมา นายสิระยอมรับสารภาพทุกคดี เอกสารที่ทำไปถูกต้องครบถ้วน และได้ติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ มีหนังสือตอบกลับ ว่ามีการลงลายมือชื่อของ ส.ส.ไม่เหมือนที่ให้ไว้กับต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จำนวน 2 คน และขอถอนชื่อ อีก 10 คน ทำให้เหลือ ส.ส.เข้าชื่อ จำนวน 50 คน จึงส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

“การถอนนั้นผมไม่ทราบว่าสาเหตุคืออะไร ผมขอสมมติว่าอาจมีการให้ผลตอบแทน หรือการข่มขู่เกิดขึ้นก็ได้ และยอมรับว่าเป็นเอกสิทธิ์แต่ผมจะทำหนังสือถึงนายชวน เพื่อให้ชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง”

ร้อนถึงพรรคเพื่อไทย โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค ต้องออกมาแจงกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ตอนหนึ่งว่า

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยได้ร่วมลงชื่อจนมีรายชื่อครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่มีมติพรรคหรือหนังสือสั่งการใดๆ จากผู้บริหารของพรรค”

“ต่อมาทราบว่ามีการให้สัมภาษณ์ในทำนองจะดำเนินคดีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมลงชื่อ ด้วยความสับสนดังกล่าวจึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งได้ขอถอนชื่อจากคำร้องดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องดังที่ทราบ”

“ประเสริฐ” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ทั้ง 2 ท่าน ยินดีที่จะร่วมสนับสนุนญัตติที่เป็นการตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากอาจจะมีกระบวนการประสานงาน หรือการสื่อสารที่ยังบกพร่อง จึงตัดสินใจถอนชื่อออกมาก่อน โดยเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องนั้นเป็นเพียงข้อกังวลเล็กๆน้อยเท่านั้น”

ขณะที่นางอนุรักษ์ และนางอาภรณ์ 2 คนต้นเรื่องได้ ร่วมกันแถลงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของนางอาภรณ์ ว่า “ทั้งสองคน ได้ทำหนังสือให้ประธานสภาฯ รับทราบว่ายังยืนยันที่จะลงชื่อตามเดิม สภาได้รับเมื่อวันที่ 7 และเป็นวันที่ เขาแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่เสนอจะถอน แต่บังเอิญ 2 ชื่อเป็นเงื่อนไข จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง”

“เมื่อญัตติมาถึงมือ ได้เซ็นชื่อกับเพื่อนหลายคน แต่วันต่อมามีหลายกระแส หนึ่งคือไม่ได้เป็นมติของพรรคเพื่อไทย ตน 2 คน จึงไปถอนรายชื่อออก แต่เมื่อทราบว่ารายชื่อไม่ครบ ก็ยืนยันรายชื่อเข้าไปใหม่”

“เราไม่มีผลประโยชน์ใดๆทั้งทางตรง และทางอ้อมเลย ในขณะที่เราสับสนกรณีมติพรรคเราก็ถอน แต่เมื่อเรามั่นใจว่า นี่คือการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ที่ดีที่สุดในการถอดถอนนายสิระ เราก็ยื่นเข้าไปใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ”

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า “ทั้งสองคน ได้ทำหนังสือให้ประธานสภาฯ รับทราบว่ายังยืนยันที่จะลงชื่อตามเดิม เขาแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่เสนอจะถอน แต่ปรากฏว่าสภาได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขั้นตอนจึงยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่บังเอิญ 2 ชื่อเป็นเงื่อนไข จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง”

“เพื่อไทยยืนยันในขณะนี้ว่า เราจะร่วมกับฝ่ายค้าน ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินกาเข้าชื่อกันใหม่ เพื่อยื่นคำร้องใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้เสรีรวมไทยเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมรายชื่อตามเดิม” นายชูศักดิ์ กล่าว

แต่ล่าสุด “ประเสริฐ” เลขาธิการพรรค อ่านแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ว่า กรณี ส.ส. ในพรรคเพื่อไทยบางท่านได้ถอนรายชื่อจากการขอวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ของนายสิระ ตามกรณีที่เป็นข่าวนั้น จากกระบวนการสอบสวน พรรคเพื่อไทยพบว่าการร่วมเข้าชื่อครั้งนี้มาจากคำเชิญของสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นรายบุคคล จำนวนรวม 62 ท่าน โดยเป็น ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย 24 ท่านร่วมลงชื่อ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาสมาชิกภาพของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ

“การตรวจสอบข้อเท็จจริงของพรรค พบว่ามีข้อมูลและเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า ส.ส. ของพรรคที่มิได้ร่วมลงชื่อ 1 คนกระทำการโน้มน้าว ส.ส. ในพรรค เป็นรายบุคคลให้ถอนรายชื่อจากคำขอฯ การกระทำการดังกล่าวของ ส.ส. ผู้นี้ย่อมเป็นการกระทำที่เล็งผลได้ว่าจะทำให้รายชื่อไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อผลการสอบสวนเป็นที่ยุติอย่างเป็นทางการพรรค จะพิจารณาลงโทษ ส.ส. ผู้นี้อย่างเด็ดขาด”

ส่วนกรณี ส.ส. จำนวน 12 ท่านที่ถอนรายชื่อออกนั้น พรรคพบว่า ส.ส. หลายท่านเข้าใจว่าการร่วมลงชื่อเป็นการให้ความร่วมมือเป็นรายบุคคล และเป็นไปด้วยความสมัครใจโดยมีจำนวนรายชื่อมากกว่าจำนวนขั้นต่ำเป็นจำนวนพอสมควร โดยไม่ทราบว่าการถอนรายชื่อของตนจะมีผลให้มีจำนวนไม่ครบตามกฎหมาย และในทันทีที่ทราบว่ามีความเสี่ยงที่จะมีรายชื่อไม่ครบก็ได้พยายามขอแก้ไขยกเลิกการถอนรายชื่อแต่ไม่เป็นผล

“ดังนั้น ส.ส. ที่ถอนรายชื่อหากมีความบริสุทธิ์ใจย่อมจะได้รับความเป็นธรรม แต่หากพบว่าเป็นไปโดยประสงค์ผลให้จำนวนรายชื่อไม่เพียงพอ ย่อมเป็นความผิดที่พรรคจะพิจารณาโทษต่อไป และทางพรรคจะดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่ยุติโดยเร็วที่สุด”


ศึกถอดถอน “สิระ” ยังไม่จบ เช่นเดียวกับการตามล่า “งูเห่า” ในเพื่อไทยที่บงการให้ ส.ส.ถอนชื่อ จนญัตติไม่ครบ