“ฝากขัง” กับ “ขังระหว่างพิจารณาคดี” ทนายนรเศรษฐ์ ชี้ความต่าง

ความต่างของฝากขัง
ภาพโดย Arek Socha จาก Pixabay

“ทนายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ชี้ความต่างกรณี “ฝังขัง” กับ “ขังระหว่างพิจารณาคดี” จากกรณีส่งฟ้อง 4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี อัยการสำนักงานคดีอาญา 7 สั่งฟ้อง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ 4 ผู้ต้องหา แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 เเละข้อหาอื่น จากการชุมนุมที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ – สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน

ต่อมา นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ดูแลคดีแกนนำม็อบคณะราษฎร ทวีตข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อัยการสั่งฟ้อง ทนายอานนท์ เพนกวิน หมอลำแบงค์ และพี่สมยศ ในข้อหา 112 ถือเป็นการสั่งฟ้องคดีแรก นับตั้งแต่การชุมนุมในปี 2563 เป็นต้นมา ร่วมกันจับตาดูว่าทั้งสี่คนจะถูกขังหรือไม่?

สิ่งที่ทนายอานนท์ เพนกวิน หมอลำแบงค์ และพี่สมยศ กำลังเผชิญอยู่เบื้องหน้าจากการถูกฟ้องมาตรา 112 มันไม่ใช่การ “ฝากขัง” แต่มันคือการ “ขังระหว่างพิจารณาคดี” ซึ่งฝากขังทำได้สูงสุดแค่ 84 วัน แต่ขังระหว่างพิจารณาคดี ยาวนานไม่มีกำหนด หากไม่ได้นัดประกันตัว จะต้องถูกขังจนกว่าคดีจะจบหรือยกฟ้อง

 

ฝากขัง

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบ หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาในการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา ตามวิ.อาญา มาตรา 87 ระบุว่า ถ้ามีความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่า 3 วัน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนหรืออัยการ ต้องยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ศาลอาจเรียกพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรือ อาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ โดยใช้อัตราโทษคดีที่ถูกกล่าวหาเป็นเกณฑ์

กำหนดระยะเวลาคุมขัง ดังนี้

  1. ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน
  2. ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
  3. ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน

ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี

งานวิจัยจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเผยแพร่โดยประชาไท ระบุว่า “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนในขั้นตอนของตำรวจและอัยการ, ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา-ไต่สวนในขั้นตอนของศาลชั้นต้น และผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกาในขั้นตอนของศาลอุทธรณ์-ฎีกา ซึ่งผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทั้ง 3 ประเภทนี้มีจำนวนมาก

สำหรับ “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” นั้น ระยะเวลาการถูกคุมขังจะมีผลกระทบต่อสังคมและตัวผู้ต้องขังเอง ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ว่างงาน ขาดรายได้ สูญเสียโอกาสต่าง ๆ ทางสังคม ครอบครัว เกิดความเดือดร้อน และถึงที่สุด หากคดียกฟ้องก็เท่ากับว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับสิ่งที่เสียไป แม้ว่าปัจจุบันจะมีการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากผู้ต้องขังไม่ได้กระทำผิด แต่กฎหมายดังกล่าวก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก