เรืองไกร ชีวิตหักศอก ออกจากพรรคทักษิณ สู่ พลังประชารัฐ

ชีวิตหักศอกของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” จากพรรคทักษิณ สู่ พลังประชารัฐ

“ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร” ใช้ได้เสมอกับการเมืองไทย

เมื่อ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” เจ้าพ่อนักร้อง (เรียน) ในตำนาน ย้ายสลับข้าง สลับขั้วการเมือง จากพรรคเพื่อไทย ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ

ในการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย 2565 ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏชื่อ “เรืองไกร” เป็นหนึ่งใน 13 กมธ.ของพรรค

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “เรืองไกร” สวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ย้ายไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุกับไทยรักษาชาติ เขาหวนกลับมานั่งโควตา กมธ.งบประมาณในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย ในการพิจารณางบประมาณ 2563

และยังสวมบท “นักร้องเรียน” ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีอาศัยบ้านพักทหาร เรื่องบัญชีทรัพย์สินของขุนพล 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในกรณีนาฬิกาหรู

และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กรณีจักรยาน ซึ่งเป็นนักปั่นจักรยานตัวยง

ทั้งที่ 3 ป. เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล และมีพรรคพลังประชารัฐเป็น “ไม้คำยัน” อำนาจในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่ที่สุด “เรืองไกร” ก็เปลี่ยนเสื้อคลุม มาสวมเสื้อ พลังประชารัฐ ในฐานะสมาชิกพรรค ตามการเปิดเผยของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล

ย้อนไทม์ไลน์การเมืองของ “เรืองไกร” เขาเป็นที่รู้จักในฐานะสมาชิกวุฒิสภาสายสรรหาชุดแรก คลอดจากรัฐธรรมนูญ 2550 มรดกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

มีข่าวลือที่ติดตัว “เรืองไกร” ว่าเป็นเด็กปั้นของ “คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา” อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รุ่นเดียวกับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่เกิดปัญหาแตกคอกันภายหลัง

เคยอยู่รวมกับกลุ่ม 40 ส.ว. ประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามพรรคพลังประชาชน พรรคนอมินีของ “ทักษิณ ชินวัตร”

จุดสูงสุดของ ”เรืองไกร” คือการ โค่น “สมัคร สุนทรเวช” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะในเดือนพฤษภาคม 2551 เขาได้ฟ้องนายสมัครว่าการจัดรายการโทรทัศน์ “ชิมไป บ่นไป” ว่าเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง ทำให้คณะรัฐมนตรีพรรคพลังประชาชนทั้งคณะต้องสิ้นสุดลง

“เรืองไกร” ได้รับสมญาว่า “แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์” ผลจากกรณี “ยักษ์ล้ม” ครั้งนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชาชนมากมาย นายสมัครไม่ได้กลับมารับตำแหน่งนายกฯ ตามเดิม กลุ่มเพื่อนเนวินของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่สนับสนุนนายสมัครก็ก็ถูกลดบทบาท กระทั่งแยกตัวออกเป็นพรรคภูมิใจไทย

ที่สำคัญยังส่งผลให้กลุ่มของตระกูล “ชินวัตร” พลิกบทบาทขึ้นมาเป็นแกนนำหลักของพรรคตั้งแต่บัดนั้นจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

แต่แล้ว..เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน ใจคนก็เปลี่ยนตาม “เรืองไกร” เปลี่ยนจากเสื้อสีเหลืองในคราบเสื้อคลุมอำมาตย์ หันมาใช้คำนำหน้าว่า “ไพร่”

ในช่วงปี 2553 เขาตระเวนไปเวทีสัมมนาต่างๆ ของคนเสื้อแดงแทบทุกเวที

20 วันก่อน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ประกาศยุบสภาในเมื่อ 9 ธันวาคม 2556 “เรืองไกร” ปรากฏบนเวทีเสื้อแดงที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นเวทีต่อต้านการชุมนุมของ กปปส.นาทีนั้นเขาอยู่ท่ามกลางวงล้อมบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย แล้วเขาก็มีชื่ออยู่ใน 125 คน ปาร์ตีลิสต์พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่กลายเป็น “โมฆะ” ในเวลาต่อมา

ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว “เรืองไกร” เล่าเหตุผลที่มุดรั้วเข้าสู่พรรคเพื่อไทยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนที่จะมีการยุบสภาตัวเขามีความคิดจะลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว. ที่จะเกิดขึ้นราวเดือน เม.ย.2557 แต่เมื่อ “ยิ่งลักษณ” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศยุบสภา เขาจึงเปลี่ยนใจ

“ผมเลือกมาทางนี้ (พรรคเพื่อไทย) เพราะเขาไม่ติดใจเรื่องที่เคยทำคุณสมัครออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าไปทางโน้น (พรรคประชาธิปัตย์) เขาก็อาจจะติดใจผมที่เคยร่วมเวทีเสื้อแดง ผมจึงมาสมัครเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีอคติ ยึดกติกา ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น”

“หรือถ้าผมไปบอกลุงกำนันว่าขอร่วมขบวน กปปส.ด้วยคน เขาก็คงไม่เอาผม เพราะตอนร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ผมก็แอนตี้ที่เขาไปปิดสนามบิน”

“เรืองไกร” ยอมรับว่า ผลจากวีรกรรม “ล้มยักษ์” เมื่อกาลก่อน ส่งผลถึงทุกวันนี้ ในยามที่เขาต้องกลับมาอยู่ในพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเหมือนเงาของพรรคพลังประชาชน และ พรรคไทยรักไทย เพราะยังมีคนในพรรคเพื่อไทยบางกลุ่ม บางคนไม่ชอบหน้าเขา

“บางกลุ่มกลัวว่าเราเข้ามาอยู่ในพรรคแล้วจะมีปัญหา เพราะเราเป็นคนซักคุณสมัครในศาล แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ในสิ่งที่เราทำในอดีต เพราะเราทำเขาพ้นไปทั้ง ครม.”

แต่เมื่อการเมืองเว้นวรรค 5 ปี เรืองไกรยังโคจรทั้งพรรคเพื่อไทย – ไทยรักษาชาติ และกลับมาพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ในยุคที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

“เรืองไกร” บอกว่า เป็นเพราะในพรรคไม่มีใครมาทำหน้าที่ยื่นคำร้องเรียนต่าง ๆ เขาจึงถูกชวนกลับมา

แต่ก็ถึง “จุดเปลี่ยน” เมื่ออำนาจของคุณหญิงสุดารัตน์ ไปไม่ถึงสภาผู้แทนราษฎร เพราะที่นั่นเป็นอาณาเขตของผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยอีกกลุ่มหนึ่ง คือขั้วของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรค และ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ณ วันนั้น)

ในการแต่งตั้ง กมธ.งบประมาณ 2564 ชื่อของ “เรืองไกร” ถูกปลดกลางอากาศ แล้วมีชื่อของ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย ลูกชาย “สมพงษ์” หัวหน้าพรรคเข้าไปแทนที่ เขาจึงประกาศลาออกจากเพื่อไทยทันที

หลังจากนั้น “เรืองไกร” ก็เปิดบัญชีแค้นเพื่อไทย ด้วยการยื่นเรื่องสอบบัญชีทรัพย์สิน สมพงษ์ – จุลพันธ์ และคนอื่น ๆ เช่น ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ขุนพลฝีปากกล้าเพื่อไทย ทั้งเรื่องที่ดิน และ นาฬิกา แถมยังเคยทำให้ผู้คนในพรรคเพื่อไทยขวัญผวา เพราะขู่ว่าจะยื่นยุบพรรค กรณี “ทักษิณ” ครอบงำพรรค

“เรืองไกร” ยังเดินเข้าออกอาคารรัฐสภา ในฐานะอนุกรรมาธิการงบประมาณ 2564 ใช้โควตาของพรรคเสรีรวมไทย ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรค

แต่ในการพิจารณางบประมาณ 2565 “เรืองไกร” คัมแบ็กอีกครั้ง


คราวนี้อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ นื่คือชีวิต บนโค้งหักศอกของ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ