ทีดีอาร์ไอ แนะหาคนทำผิดพลาดบริหารโควิด เท่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 40

คณะรัฐมนตรี
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

ทีดีอาร์ไอ ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 แนะตั้งกรรมการหาคนบริหารโควิดผิดพลาด เหมือนวิกฤิตเศรษฐกิจปี 2540

คณะผู้ประเมินได้นำเสนอผลการประเมินกลางเทอมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และครบรอบ 2 ปีในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยจะประเมินเฉพาะผลงานด้านการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน

รายงานทีดีอาร์ไอ ที่ออกเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2564 สรุปรายงานไว้ตอนหนึ่งว่า “การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงหลังจากนั้นทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสที่ดีดังกล่าวไป และมีส่วนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในวงกว้างจนทำให้ประเทศกลับเข้าสู่สภาวะวิกฤติอีกครั้ง”

จากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีในระลอกแรก จากการทำงานอย่างหนักของบุคลากรทางแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และการได้รับความร่วมมือของประชาชน แม้จะแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อย  ความสามารถในการควบคุมการระบาดได้ทำให้ประเทศมีเวลาและโอกาสที่ดีในการเตรียมตัวรับมือการกลายพันธุ์และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19  ตลอดจนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2563 ประเทศไทยควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกได้ค่อนข้างดี โดยสามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ แม้ช่วงนั้นจะมีการล็อกดาวน์อย่างรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำลงอยู่แล้วจากการหดตัวอย่างรุนแรงของภาคการท่องเที่ยว โดยอัตราการเติบโตของ GDP ของไทยในปี 2563 ติดลบร้อยละ 6.1 หรือหดตัวอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ในระลอกแรกน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างเช่น การมีระบบควบคุมโรคที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ก่อนการระบาด การใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และความร่วมมือของประชาชนจากความตื่นตัวในการป้องกันการระบาด จนทำให้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ต่อเนื่องมาหลายเดือนและทำให้ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ควบคุมการระบาดได้ดีในระดับโลก

ทีดีอาร์ไอแบ่งหัวข้อหลักในการนำเสนอ เรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 พร้อมแสดงข้อมูลอัตราการตายส่วนเกินของประเทศไทย จำแนกตามกลุ่มอายุในเดือน พ.ค. และ มิ.ย.2564 จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่การระบาดของโรค (คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน), และจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค (คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน)

และข้อมูลการบริหารจัดการวัคซีน พร้อมแสดงข้อมูลอัตราการฉีดวัคซีนสะสมต่อประชากร , ตารางจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนสะสมต่อประชากร 100 คน 15 อันดับแรก (ณ วันที่ 7 ก.ค.2564) ตารางการได้รับวัคซีนโควิด-19 แยกตามกลุ่มเป้าหมาย (28 ก.พ.-6 ก.ค.2564)

ทีดีอาร์ไอสรุปรายงานดังกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐของแต่ละประเทศมีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยประเทศที่ภาครัฐมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงจะไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจเป็นเวลานาน และจะสามารถกลับมาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

น่าเสียดายว่า แม้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกก่อนหน้า แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤตด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง จนสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

กรณีผิดพลาดนี้สมควรต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระคล้ายกับคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต


อ่านข้อมูลรายงานฉบับเต็ม