ฝ่ายค้าน ดีเดย์ 19 ก.ค. ถกซักฟอก ล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ในสภา

ฝ่ายค้านเตรียมนับหนึ่ง ถกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างจริงจัง ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นำโดย พรรคเพื่อไทยนัดประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ล็อกเป้า ซักฟอก – ไม่ไว้วางใจรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบรัฐสภา

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้นัดหารือกันเพื่อกำหนดรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายว่าเป็นใครบ้าง ประเด็นหลักที่วางไว้คือวิกฤติโควิดที่รัฐบาลแก้ไขไม่ได้ บริหารผิดพลาดและส่อว่าจะทุจริต

ผู้ที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่ๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะรับผิดชอบโดยตรงและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข

“ถ้าประเด็นโควิดโยงถึงใครจะนำมาอภิปราย เชื่อว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน เราจะชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดการบริหารที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ประชาชนเสียชีวิตเพราะการ บริหารงานผิดพลาด”

หน่วยรวบรวมข้อมูลซักฟอก ของ “เพื่อไทย” มี “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

พรรคเพื่อไทยได้หารือกันเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่งจนได้ข้อสรุปว่าจะต้องอภิปรายเพื่อทำให้สังคมได้ตระหนักรู้และเห็นว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพชุดนี้ ทำงานไม่ได้เรื่อง ล้มเหลว ผิดพลาด ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสร้างความเสียหายให้ประชาชนและประเทศชาติอย่างรุนแรง

จนวันนี้พี่น้องประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลที่ทำให้ต้องทุกข์ยาก เสียงสะท้อนทุกฝ่ายเจ็บปวดไม่แตกต่างกัน ถ้าปล่อยให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปประชาชนก็ต้องลำบากมากขึ้น สถานการณ์ก็มีแต่จะหนักมากขึ้น ดังนั้นทางรอดน่าจะมีเพียงทางเดียว คือหาคนใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความหวังอยู่บ้าง พรรคเพื่อไทยจึงไม่สามารถปล่อยให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคมีเป้าหมายที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพราะประเทศขณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้นำที่มีศักยภาพและมีความสามารถมาแก้ไขปัญหา แต่เราไม่เกี่ยงว่าจะเป็นใคร ขอให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถจริงๆ และมีที่มาตามครรลองกติกาประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็จะยอมรับ”

“สุทิน” ยก เหตุการณ์การอภิปราย ส.ป.ก.4-10 ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล กุม “เสียงข้างมาก” ในสภา แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ไปต่อไม่ได้ มาเทียบเคียงกับรัฐบาลพลังประชารัฐ ที่เป็น “ลมใต้ปีก” ของ “พล.อ.ประยุทธ์”

“ไม่ห่วงว่าเสียงของฝ่ายค้านในสภาจะยังน้อยกว่าเสียงของฝ่ายรัฐบาล เพราะเชื่อว่าแม้การนับมือในสภาอาจล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่การเปิดเผยข้อมูลความไม่ดีไม่งามของรัฐบาลที่ซุกไว้ให้ประชาชนและสังคมได้เห็นจะทำให้ประชาชนตระหนัก”
“แม้ยกมือในสภาจะแพ้ แต่นอกสภาจะชนะใจประชาชน แล้วในที่สุดรัฐบาลก็จะไปไม่รอด เป็นการทำให้ความเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลต่อเนื่องจากในสภามาสู่ประชาชน ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหลายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกรณี ส.ป.ก. 4-01 หรือกรณีหนี้เน่าธนาคารกรุงเทพพาณิชยการฯ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็อยู่ต่อไปไม่ได้”

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลหวั่นไหวมากที่สุดและเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงแบบไหน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีโดยใช้กลไกสภา”นายสุทิน กล่าว

ขณะที่ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองไปในทางเดียวกันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ

เพราะภาพการบริหารจัดการ โควิด-19 มีเรื่องล้มเหลวให้เห็นมากมาย และเราอาจจะได้เห็นกรณีเกิดเสียงแตกในพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากมีการเปิดโปงความล้มเหลวเรื่องของโควิดในสภาฯ

“หากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลยังยกมือโหวตพายเรือให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเหมือนเดิม” จะค้านสายตาสังคมและค้านสายตาประชาชน”

“พิจารณ์” บอกว่า ก้าวไกลกำลังง่วนอยู่กับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในชั้น กมธ. ส.ส.เกือบครึ่งพรรคไปนั่งติดตามตรวจสอบงบชั้นอนุ กมธ. จะมีอีกทีมงานเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผลของการอภิปรายรอบนี้จะไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงในสภาฯครั้งใหญ่อาจจะเกิดขึ้น

ฝ่ายค้านพร้อมรบ ล็อกเป้าโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ในยามที่รัฐบาลกำลังหลังพิงฝาเรื่องการจัดการโควิด-19 ล้มเหลว