ก้าวไกล ยื่นญัตติให้รัฐสภาตีความแก้ไข รธน. “ไพบูลย์” เชื่อ ไร้ปัญหา

ก้าวไกล ยื่นประธานรัฐสภาให้ตีความ การใช้ข้อบังคับที่ 124 ของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญว่าแก้เกินหลักการหรือไม่ เหน็บเพื่อไทย กระหนุงกระหนิงช่วยเหลือพลังประชารัฐ “ไพบูลย์” ไม่หวั่น แค่เรื่องใช้สิทธิเล็กน้อย  

วันที่ 13 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่. … พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือก)  ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

นายธีรัจชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ยังเป็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และไม่ได้เป็นการแก้ไขเรื่องการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตราเท่านั้น 

ซึ่งมีการโต้เถียงตลอดการพิจารณาเสมอ ว่ากรณีแบบนี้จะพิจารณามาตราอื่นได้หรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 หลักการในการแก้ไขต้องเป็นไปโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ความชัดแจ้งของเรื่องนี้ คือ แก้ไขมาตรา 83 จำนวน ส.ส. และ มาตรา 91 เรื่องการคำนวณคะแนน  

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการจะตีความแก้ไขเกินเลยไปหลายมาตรา โดยเฉพาะการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกข้อกำหนดเองได้ เหมือนเป็นการมอบอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้ กกต. ถามว่าเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่

อีกทั้งยังมีการแก้ไข มาตรา 85 86 92 93 และ 94 ถามว่าเหล่านี้เป็นการแก้ไขเกินหลักการหรือไม่ อาศัยเสียงข้างมากตีความตามอำเภอใจหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ระบุว่า รัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย และหลักนิติธรรม แต่รัฐธรรมนูญฉบบนี้พยายามตีความให้เกินเลย แปลงร่างให้เอาร่างของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ที่ถูกตีตกไปแล้วตั้งแต่ชั้นรับหลักการวาระแรกมาใส่ให้ได้ 

“และทั้ง 2 พรรค ค่อนข้างเอื้ออาทร กระหนุงกระหนิงช่วยเหลือกันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พรรคก้าวไกลเหมือนถูกกันออก ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าจะตีความตามอำเภอใจไมได้ แต่ต้องตีความตามหลักนิติธรรม ดังนั้น 

เพื่อให้เกิดความชัดเจนเราจึงได้พิจารณาแล้วว่าในวันที่ 13 สิงหาคม จะยื่นให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราจึงได้มีพิจารณาสมควรให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง ว่าการตีความแก้ไขเกินหลักการนี้ 151 เปิดช่องไว้ให้รัฐสภาตีความว่าชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่  ยื่นในวันนี้เพื่อให้เป็นญัตติก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภา เสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุก่อนพิจารณาวาระ 3” นายธีรัจชัย กล่าว 

ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหลือเชื่อไปเลยว่าการแก้รัฐธรรมนูญออกมาเป็นแบบนี้ เราเห็นความพยายามในการสอดไส้การแก้กฎหมายมาหลายครั้ง และครั้งนี้ได้ทำอีก การรับหลักการวาระ 1 แก้ได้แค่ 2 มาตรา แต่ กมธ.แก้ไขถึง 6 มาตรา และเพิ่มใหม่อีก 2 มาตรา 

วาระที่ 1 ที่ให้แก้ 2 มาตราไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ ให้ตนเองได้ประโยชน์แม้ว่าจะเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญ เราจึงรู้สึกผิดหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ไม่นำพาประเทศนี้ออกจากวิกฤตการเมืองได้

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การยื่นให้รัฐสภาตีความมาตรา 151 เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมายก่อนการพิจารณาแก้ไข ทั้งนี้ ไม่ใช่การตีรวน แต่เป็นการตรวจสอบการกระทำที่มีการสอดไส้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีผู้ยื่น 40 คน ที่เป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล และ เสรีรวมไทย 1 คน เพียงพอต่อการยื่นญัตติต่อรัฐสภา 

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 กล่าวถึงการที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นให้รัฐสภาใช้ข้อบังคับที่ 151 วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.ว่า  ส.ส.พรรคก้าวไกลคงเห็นว่าข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราอื่นใด 

ทั้งนี้ ก็เป็นอำนาจของรัฐสภาต้องตีความเพื่อพิจารณาวินิจฉัย แต่ประเด็นอยู่ที่ข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 นั้นเขียนไว้ชัดเจน โดยเฉพาะวรรค 3 ที่สมาชิกสามารถแปรญัตติเพิ่มมาตราได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการ หากเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการก็จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น กรณีบทเฉพาะกาล 

ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พิจารณานั้นดำเนินการตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 วรรค 3 ที่เขียนชัดเจน ถ้าพรรคก้าวไกลติดใจก็เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ แต่ตนเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาหากได้อ่านข้อบังคับดังกล่าวแล้วก็เห็นว่าทุกอย่างมีความถูกต้อง ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา 

“เชื่อว่าจะไม่มีผลทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งผู้ยื่นเองก็ต้องเขียนให้ดี เพราะข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 เขียนไว้ชัดเจน หากยังต้องไปตีความ ตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิ์และเป็นเรื่องเล็กน้อย” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีปัญหา ซึ่งเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่สามารถทำได้ ตนในฐานะประธานก็ต้องควบคุมการประชุม ทุกอย่างอยู่ที่ผลสุดท้าย ถ้าการประชุมและการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตนในฐานะประธานก็มีความพอใจ 

“โดยเฉพาะข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 วรรค 3 ที่สามารถแปรญัตติเพิ่มมาตราได้แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ หรือเว้นแต่เกี่ยวเนื่องกัน เขียนไว้ชัดเจนขนาดนี้ตนเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะทางวุฒิสภาก็อ่านกฎหมายกันเป็นประจำอยู่แล้ว ทุกอย่างมีความชัดเจนทุกประการ และที่ผ่านมาวุฒิสภาก็ไม่ได้มีการทักท้วงอะไรด้วย”นายไพบูลย์ กล่าว