สภาโหวตผ่าน “งบกลาง” 5.8 แสนล้าน พรรคก้าวไกล ย้ำตีเช็กเปล่าให้ ประยุทธ์

REUTERS/Chalinee Thirasupa

มติที่ประชุมสภา 326 ต่อ 52 เสียง ผ่านงบกลาง 5.8 แสนล้าน “ศิริกัญญา” ก้าวไกล ย้ำปมตีเช็คเปล่าให้ “ประยุทธ์” แฉใช้งบโควิด-19 พัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน-ประมง ด้าน “นพ.ชลน่าน” แนะ “ประยุทธ์” ใช้งบ 1.6 หมื่นล้าน ที่นำมาเพิ่มงบกลาง ซื้อวัคซีน mRNA ฉีดให้คนไทยทุกคน 

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 ช่วงบ่ายมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยพิจารณาในมาตรา 6 ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงิน 571,047,326,800 ล้านบาท 

ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เสียงข้างมากได้ปรับเพิ่มหมวด 3/1 ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 16,362,010,100 เป็น 587,409,336,900 ล้านบาท ไว้แก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลระบุว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.งบฯ อภิปรายขอสงวนคำแปรญัตติ มาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง ว่า ตนขอตัดงบกลางลง 20,000 ล้านบาท เหลือ 551,047,000,000 บาท 

เพราะในปีนี้ได้มีการเพิ่มรายการตามมาตรา 6 เป็นรายการที่ 3/ 1 คือ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 16,362,010,100 บาท ทั้งที่ปีนี้ได้มีการตั้งเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นอยู่แล้ว 8.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนคิดว่าก็จำเป็นมากจนเกินพอ 

แต่เมื่อกมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ก็ได้มีการโอนเพิ่มมาที่รายการใหม่นี้ ซึ่งมีปัญหาในหลายเรื่อง ประเด็นแรกคือ การใช้งบกลางเป็นการให้อำนาจในการเห็นชอบโดยสมบูรณ์แก่นายกรัฐมนตรี ทำให้กระบวนการตรวจสอบต่างๆ เป็นไปได้อย่างยากลำบากมาก

ประเด็นที่สองคือ สภาฯ เพิ่งจะอนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไปอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อการแก้ไขปัญหา โควิด-19 ดังนั้นประเด็นงบประมาณไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาโควิด-19 จึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญคือการใช้จ่ายงบประมาณไม่เกิดประสิทธิภาพ น่าจะเป็นประเด็นมากกว่า

ยกตัวอย่างการตรวจสอบที่ยากมาก เช่น การข้อมูลจากสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา เพื่อจะตรวจสอบการเบิกจ่ายงบกลางก็พบว่าสามารถหาข้อมูลการเบิกจ่ายงบกลางได้ถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้น โดยระยะเวลา 9 เดือน ใช้งบกลางเพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหา โควิด-19 เบิกจ่ายไปเพียงแค่ 23% 

ส่วนงบกลางในรายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ระยะเวลา 9 เดือนเช่นกัน เพิ่งเบิกจ่ายไปได้แค่ 3% หรือ 2,743 ล้านบาทเท่านั้น  จากการสืบค้นข้อมูลในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่างบกลาง ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา โควิด-19 นั้นถูกใช้ไปในโครงการ 

เช่น งบอนุมัติให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตั้งด่าน และซื้อหีบลวดหนามเพื่อใช้กันชายแดน และตรวจโควิด-19 จำนวน 393 บาท การอนุมัติงบให้กับกรมราชทัณฑ์เพื่อแก้ไข โควิด-19 ในเรือนจำ เช่น การซื้อชุดตรวจและอุปกรณ์ทำโรงพยาบาลสนาม 312 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ก็พอเข้าใจได้ 

นอกจากนี้ยังมีค่าจัดทำ State Quarantine ของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 1,613 ล้านบาท ส่วนนี้ก็เริ่มเอ๊ะ เพราะหากวัดความเชี่ยวชาญและความเกี่ยวข้อง ไม่น่าจะเป็นกระทรวงกลาโหมหรือไม่ที่มาทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อเป็นงบกลางที่เป็นอำนาจเต็มของนายกรัฐมนตรี อะไรก็เกิดขึ้นได้

แต่ที่สงสัยเป็นอย่างมากเมื่อเริ่มมีโครงการที่อ่านชื่อแล้วไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา โควิด-19 อย่างไร เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน สู่ Oleochemical 22 ล้านบาท โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงแหล่งน้ำชุมชนสำนักงานประมง จังหวัดนครราชสีมา 1.147 ล้านบาท

ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเนินทรายงามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route 19.12 ล้านบาท แบบนี้เป็นการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้อย่างไร 

เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง เงินสำรองใช้จ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะชื่อบอกไว้ว่านำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ แต่เราก็ยังเจอกรณีที่มีโครงการซ่อมสร้างถนนมากถึง 180 โครงการ โครงการทำแหล่งน้ำประปา 250 โครงการ อยากถามว่าโครงการเหล่านี้มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร 

และการที่เรายิ่งเพิ่มงบกลางในส่วนนี้เข้าไปให้มากขึ้นก็เท่ากับว่าในส่วนของเงินสำรองฉุกเฉินฯ ก็จะมีมากพอที่จะนำไปใช้กับโครงการอะไรก็ได้ที่อยู่ในอำนาจความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ แบบนี้คือการเซ็นเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจากรัฐสภาใช่หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ตนขอตัดลดงบประมาณลง 2 หมื่นล้านบาท 

“ทวี” แฉ งบกลางใช้ในกองทัพ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า งบกลางซึ่งเอาไว้ช่วยประชาชน แต่ถูกไปใช้ในภารกิจความมั่นคงของนายกฯ หรือ รัฐบาล ปัจจุบันประชาชนมีความลำบาก จึงเห็นว่างบกลางมีความไม่โปร่งใส และมีการเขียนระเบียบว่า อนุมัติงบกลาง 10-100 ล้านบาท ให้นายกฯ รับทราบ แต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปให้นายกฯ ขออนุมัติที่ประชุมคณะรัฐมนต 

การที่อำนาจอยู่กับคนๆ หนึ่งคนเดียวแล้วไม่มีการตรวจสอบ รายงานให้ประชาชนทราบ แม้ว่าพูดว่ามีความซื่อสัตย์ แต่ผลออกมาแล้วว่าการใช้งบกลางจำนวนมากไม่ได้สร้างความสุขกับประชาชน และช่วยเหลือประชาชนเท่าที่ควร เห็นว่าควรจัดงบกลางให้เล็ก ให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เขารู้ปัญหาดีได้ใช้ จึงขอตัดงบกลางลง 10% 

พท.แนะงบกลางซื้อวัคซีน mRNA 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เพื่อไทย ขอตัดงบกลาง 20% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ สังคมไม่ไว้วางใจผู้ที่นำงบประมาณไปใช้ เห็นใจ กมธ.เสียงข้างมากเป็นอย่างมาก เพราะตัดสินใจยากมากในชีวิตของการเป็นกรรมาธิการ เพราะวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาไม่เคยนำงบที่ปรับลดได้ไปใส่ในงบกลาง 

แต่เติมงบที่ปรับได้มีแผนงานชัดเจนเป็นประโยชน์กับประชาชน เว้นแต่หลีกเลี่ยงการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 144  งบประมาณที่ลงพื้นที่เฉพาะหายไปทั้งหมด นับแต่มีรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะกรรมาธิการไม่สามารถเสนอความเห็นนำงบก้อนี้ไปลงพื้นที่ได้เลย เพราะถูกตีความทันทีว่านำงบประมาณไปใช้ทางตรงหรือทางอ้อม 

ถ้าลงท้องถิ่นเป็นงบอุดหนุนทั่วไป เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เมื่อนำลงในพื้นที่ไม่ได้ และรัฐบาลต้องการนำเงินไปแก้โควิด-19 แต่ไม่มีหน่วยรับงบประมาณมารองรับเลย กมธ.จึงต้องนำไปไว้ในงบกลาง ผู้กำกับดูแลงบกลางคือนายกฯ 

เพื่อความมั่นใจ 1.63 หมื่นล้าน เราต้องการแก้ไขปัญหาโควิด -19 และประชาชนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น ดีที่สุดหลังกจากสภาเห็นชอบงบกลางแล้วต้องนำไปซื้อวัคซีน mRNA ให้กับคนไทย เพราะงบกลางเมื่อผ่านตุลาคมแล้วสามารถไปใช้ได้ทันที 

“ถ้าไม่ทำอย่างนี้ สิ่งที่ประชาชนเกรงว่าจะนำงบไปใช้ปุ้ยี่ปู้ยำจะเกิดความเสียหายเกิดขึ้น ถ้านายกฯ ประกาศขอขอบคุณ กมธ. ขอบคุณสภาเป็นอย่างมากที่อนุมัติเงิน 1.63 หมื่นล้าน ให้กับรัฐบาล จะนำเงินก้อนนี้ไปซื้อวัคซีน mRNA ให้กับคนไทยทุกคน ตัดปัญหาการให้ซิโนแวคที่สั่งมาทีละ 10 -12 ล้านโดส ราคาก็ไม่แตกต่างกัน เราให้เงินคุณไปซื้อมา ตัดปัญหาความรับผิดชอบต่อเสียงข้างมาก” นพ.ชลน่าน กล่าว   

นายกฯ – ครม.โยกงบกลาง 

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอขอตัดงบกลาง 5% เพราะงบกลางปกติแล้วมีไว้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการของรัฐบาล ดำเนินการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ไม่ต้องมีรายละเอียด ตัวชี้วัด ตรวจสอบยากกว่างบประมาณของกระทรวง  ปี 48 ปี 50 ถ้าบอกว่าหมื่นล้านก็วุ่นวายแล้ว สภาก็อภิปรายกันวุ่นวาย เพราะงบประมาณเป็นสิทธิขาดของคณะรัฐมนตรี ควรจะมีปริมาณน้อยที่สุด และจำเป็นมากที่สุดในการนำไปใช้ 

เงินเบี้ยบำนาญทำไมอยู่ในงบกลาง 3.1 แสนล้าน ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานราชการ 7.4 หมื่นล้าน เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ 7.2 หมื่นล้าน ขอคำตอบว่าเป็นงบกลางได้อย่างไร คำถามมีต่อว่า นายกฯ และ ครม.โยกงบเหล่านี้ไปภารกิจอื่นได้หรือไม่ คำตอบคือได้ ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ 

และงบกลาง 5.9 แสนล้าน เกือบเท่ากับงบลงทุนประเทศ 6.5 แสนล้าน ไม่เคยเห็นประเทศไหนเอางบมากองไว้เกือบเท่าหนึ่งของงบลงทุนและให้สิทธิขาดนายกฯ และ ครม. ที่จัดมาสอดคล้องกับหลักการฉุกเฉินและจำเป็นอย่างไร ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ

แจงเหตุเพิ่มงบกลาง 1.6 หมื่นล้าน

นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ.งบประมาณ กล่าวชี้แจ้งว่า ในการพิจารณากฎหมายงบประมาณปี 2564 มีการตั้งงบประมาณกลางไว้ 6.4 แสนล้าน สำหรับปี 2565 ตั้งลดลง 5.7 ล้านเศษ คิดเป็นสัดส่วนงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ปีที่ 2564 อยู่ที่ 18.95 ปี 2565 อยู่ที่ 18.70  

ซึ่งในงบกลางปี 2564 มีตั้งงบกลางโควิด 4 หมื่นล้าน แต่งบปี 2565 ไม่มีสิ่งนี้ เป็นเหตุผลที่อนุ กมธ.มารายงานต่อ กมธ.ใหญ่ว่า การปรับลดงบประมาณได้ให้เหตุผลต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ว่า ปรับลดงบประมาณเหล่านี้เพื่อนำไปบริหารจัดการโควิด-19 

กมธ.จึงมีความเห็นร่วมกันว่า งบ 2565 ไม่มีรายการเรื่องโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์ของโควิด-19 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ใช้เงินส่วนนี้อยู่จึงได้แปรญัตติตามที่รัฐบาลเสนอเป็นงบแปรญัตติให้ กมธ.พิจารณา เพราะ กมธ.ไม่มีสิทธิที่จะตั้งรายการ เพื่อแปรญัตติเพิ่มในงบประมาณได้ กมธ.จึงพิจารณา 1.6 หมื่นล้านบาทเศษเพื่อไปดูแลโควิด-19 

กมธ.ได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้วและเห็นความสำคัญของโควิด จึงแปรงบ 1.6 หมื่นล้าน เข้าไปอยู่ในงบกลางเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19” นายวิเชียร กล่าว

ไฟเขียวงบกลาง 5.8 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังอภิปรายมาตรา 6 นานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมงบกลาง ตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอให้มีการแก้ไข ด้วยมติ 326 ต่อ 52 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 4 จากจำนวนผู้ลงมติ 383 คน