ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งสำรองราชการ – ปลด พล.ต.อ.วิระชัย จากรอง ผบ.ตร

ศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่งสำรองราชการ – ปลดวิระชัย จากตำแหน่งรอง ผบ.ตร. เหตุ เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คืนสิทธิประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมสั่งคุ้มครองชั่วคราวจนกว่าคดีถึงที่สุดหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

วันที่ 30 กันยายน 2564  ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาพล.ต.อ. วิระชัย หรือสุวิระ ทรงเมตตา หรือเผือกบางนา ฟ้องว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ,คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ,นายกรัฐมนตรี รวม 4 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลว. 29 ก.ค. 2563 ให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และสำนักนายกรัฐมนตรีมีประกาศ ลว. 31 ส.ค. 2563 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แล้ว แต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาตามหนังสือ ลว. 4 ธ.ค. 2563 ยกคำร้องทุกข์ จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองกลาง

โดยคำพิพากศาลปกครองกลางสรุปว่า คำสั่งกรรมการสอบข้อเท็จจริงระบุไว้ชัดเจนว่าให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับผู้ฟ้องคดีกรณีการสั่งการคดีคนร้ายลอบยิงรถยนต์ของบุคคลหนึ่งและได้ส่งเทปบันทึกเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นหรือไม่และการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลเป็นการกระทำความผิดทางวินัยและทางอาญาหรือไม่

เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ ผบ.ตร.เห็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บันทึกเทปการสนทนาพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ถึงแม้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการหรือมีอำนาจในการพักราชการหรือมีอำนาจในการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ตาม

แต่ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆไป คือหากผู้ได้รับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายในการสั่งให้สำรองราชการหรือสั่งให้พักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว

ซึ่งคดีนี้ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการถึงแม้ข้อ 3 ของกฎก.ตร. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจสำรองจะกำหนดไว้ว่าบุคคลที่จะถูกสำรองราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ตาม  แต่มิใช่เงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยเด็ดขาดว่า เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แล้วผู้บังคับบัญชาจะต้องสั่งให้สำรองราชการทุกกรณี 

จะต้องมีเหตุผลอันสมควรและสมเหตุสมผลประกอบการพิจารณาด้วย จะต้องมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งสำรองราชการเท่านั้น หากมีการสั่งให้สำรองราชการโดยจุดประสงค์อื่นย่อมทำให้คำสั่งสำรองราชการไม่ชอบด้วยกฎหมายคดีนี้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นผู้สั่งสำรองราชการ ได้ให้เหตุผลเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญาและเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในภาพรวมของ ตร. 

โดยที่จะมีคำสั่งสำรองราชการนั้นมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีลักลอบบันทึกเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผบ.ตร. กับผู้ฟ้องคดี เเละส่งบุคคลอื่น

กรณีจึงเห็นได้ว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรงเเละแม้จะมีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแต่ในขั้นตอนการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการเป็นคนละขั้นตอน 

ดังนั้นก่อนที่ จะมีคำสั่งสำรองราชการจึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปว่ามีเหตุผลอันสมควรและสมเหตุสมผลสำรองราชการหรือไม่ เมื่อ ผบ.ตร. เป็นผู้กล่าวหาเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีมาแต่ต้น กล่าวคือการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาจากการสั่งการของ ผบ.ตร.ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อมายังได้นำผลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาใช้ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเเละยังได้สั่งการให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดีด้วย ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมมีอคติต่อผู้ฟ้องคดีไม่ว่าในทางหนึ่งทางใด

อีกทั้งย่อมทราบอยู่แล้วว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค.63 และจะเป็นผู้สรรหาข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และข้าราชการตำรวจที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง โดยคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วเสนอ ก.ต.ช. เห็นชอบก่อน ก่อนเสนอโปรดเกล้าฯ 

เมื่อผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในบัญชีที่จะได้รับการคัดเลือกได้ แต่เมื่อมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงมีผลผูกพันผู้ฟ้องคดีจนกว่าจะถูกเพิกถอน ทั้งหลังจากยังได้เสนอเรื่องของผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เพื่อให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง 

การที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการดังกล่าวแม้จะมีขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่ง หลังจากมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการก็ตาม แต่ในทางพฤตินัยถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่เหมาะสมในการที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้สำรองราชการแล้ว จะไม่สามารถเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.ได้เพราะผู้ฟ้องคดีถูกสำรองราชการอยู่ ตลอดจนก่อนที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือมีพยานบุคคลใดได้ร้องว่าผู้ฟ้องคดีไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือเป็นอุปสรรคในการสอบสวนหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ตลอดจนหากให้ผู้ฟ้องคดียังคงอยู่ในตำแหน่งแล้วทำให้เกิดความเสียหายเเก่บุคคลอื่น

“การที่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคำสั่งที่ระบุว่าเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญาหาก แต่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการโดยมีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ เเละมิใช่กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขหรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้” 

เหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นจึงเห็นว่า พฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงแม้จะมิใช่ความไม่เป็นกลางโดยสภาพภายนอก แต่เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี จึงถือว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางโดยสภาพ

คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่387/2563 ลงวันที่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงมีผลทำให้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจ (ผู้ฟ้องคดี) พ้นจากตำแหน่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่อ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีสภาพร้ายแรงโดยสภาพจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่อ้างว่าได้เสนอเรื่องไปยังนายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ให้ความเห็นชอบให้ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการนั้น เห็นว่าก่อนที่จะมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เห็นชอบให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ 

อีกทั้งกรณีเสนอเรื่องของผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิใช่เป็นการขอความเห็นชอบก่อนมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการหากแต่เป็นกรณีผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.แห่งชาติข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่อ้างว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีความไม่เป็นกลาง เพราะได้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่าการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นการพิจารณาจากการประเมิน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีเป็นคนละกรณีกับข้อพิพาทในคดีนี้ ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างอื่นของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่นอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเนื่องจากไม่ได้ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

มีประเด็นวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในคราวการประชุมมีมติยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้อาศัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ที่ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน 

สำหรับกรณีผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนการทางปกครองที่เกี่ยวข้องหรือเป็นที่มาของการออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว นั้นเห็นว่ากระบวนการทางปกครองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นที่มาของการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง จึงยังไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี 

ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนการทางปกครองต่าง ๆเกี่ยวข้องหรือเป็นที่มาของการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ ส่วนกรณีผู้ฟ้องคดีมีคำขอห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่นำคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปใช้ดำเนินการอย่างใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น

เห็นว่าเมื่อศาลวินิจฉัยเเล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ ซึ่งผลของคำสั่งศาลดังกล่าวทำให้เสมือนหนึ่งว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกคำสั่งให้สำรองราชการและไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ  กรณีจึงไม่มีคำสั่งในส่วนนี้อีก

พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในคราวการประชุม ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีโดยให้มีผลย้อนหลังนับ แต่วันที่คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4  มีผลใช้บังคับ และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายและระเบียบกำหนดต่อไปคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ส่วนคำสั่งศาลลงวันที่ 13 ก.ค.64 ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่387/2564ลงวันที่ 29 ก.ค.64 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำเเหน่ง รองผบ.ตร.นั้นมีผลต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น