ประยุทธ์ สั่งเร่งพิจารณา 3 หลักเกณฑ์ เยียวยา นักดนตรี ผับ บาร์

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างอาชีพกลางคืน พิจารณา 3 หลักเกณฑ์เยียวยา

วันที่ 4 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้เร่งหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างอาชีพกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานสรุปผลการเจรจากับตัวแทนสมาคมเครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ คลับ บาร์ คาราโอเกะ

โดยเบื้องต้น  กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้พิจารณาวงเงิน และหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มนายจ้าง สถานประกอบการ ซึ่งส่วนมากอยู่ในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐบาลจะให้นโยบายเยียวยารายละ 3,000 บาท ตามจำนวนลูกจ้างต่อเดือน

2. กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 อยู่ในธุรกิจ ผับ บาร์ ทั้งเด็กเสริฟ พ่อครัว เสมียนบัญชี จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 รัฐบาลจะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50% และส่วนที่

2 หากไม่เพียงพบในการใช้จ่ายจะนำส่วนของเงินกู้สภาพัฒน์ฯโดยประมาณการตัวเลขเบื้องต้นไว้ที่ 5,000 บาท ทั้งนี้หากอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้ 2 ส่วน โดยให้ประกันสังคมช่วย 50% อีกส่วนขอเงินกู้จากรัฐบาล3. กลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินอิสระ อาจต้องขึ้นทะเบียนตามมาตรา 40 ของประกันสังคม ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบเบื้องต้นมีจำนวนประมาณไม่เกิน 1.5 แสนรายโดยจะขอให้สมาคม/สมาพันธ์รับรองบุคคลเหล่านี้ รวมทั้งในส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่เข้าข่ายมาตรา 40 จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรม สำรวจจำนวนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนในทุกสาขาอาชีพให้ได้รับการดูแล บรรเทาความเดือดร้อน อย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากที่สุด โดยได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนต้องทำงานควบคู่กันเพื่อเร่งพิจารณาหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือด้วย โดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ COVID Free Setting เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการ” โฆษกรัฐบาลกล่าว