เลือกตั้งซ่อมหลักสี่ แข่งครั้งใหญ่ เปิดเหตุผลลึกสุดใจ ทำไมประชาธิปัตย์ถอย

เลือกตั้ซ่อมหลักสี่

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร เข้าสู่ช่วงโค้งหักศอก 20 วันสุดท้าย หลังเดดไลน์-ปิดรับสมัครในวันที่ 10 มกราคม 2565

วันที่ 6 มกราคม 2565 เป็นวันแรกของการรับสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร

3 พรรคการเมืองซีกฝ่ายค้าน-ซีกฝ่ายรัฐบาล กับ 2 พรรคน้องใหม่ เปิดหน้า-เปิดตัว ไม่มีกั๊ก-ไม่มีฮั้ว พร้อมใจกันมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร

ไม่ว่าจะเป็น “เมียสิระ-เจ้หลี” สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย “เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล “เอ๋” อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี

ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ !!!

ฉากหน้า “พรรคเก่าแก่” ให้เหตุผลเป็นเรื่อง “มารยาททางการเมือง” ของพรรคร่วมรัฐบาล-ไม่ส่งลงแข่งขันกับเจ้าของเก้าอี้เดิม-พรรคพลังประชารัฐ

“องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-รับผิดชอบพื้นที่ กทม. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึง “เหตุผล” ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ว่า

มีหลายเหตุผล ไม่ใช่เหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง การไม่ส่ง ไม่เกี่ยวกับส่งแล้วจะไม่ชนะ แพ้ หรือชนะเป็นเรื่องปกติของการแข่งขัน และไม่เกี่ยวกับเรื่องฐานเสียงเดียวกันกับพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จัตุจักร

“เหตุผลอายุสภาเหลือน้อยไม่ใช่ทั้งหมด การไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จัตุจักร ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คนกรุงเทพฯพิจารณาเป็นครั้ง ๆ ไป ลงคะแนนแต่ละครั้ง ๆ ไป”

“อดีต ส.ส.กทม.หลายสมัย” ยกตัวอย่างปี 2547 เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาชนในกรุงเทพฯ เลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผ่านไปอีก 5-6 เดือน เลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป ประชาธิปัตย์สอบตกเกือบทั้งหมด ส.ส.เก่าสอบตกหมด เขาเป็น ส.ส.เก่าคนเดียวที่ได้รับเลือกตั้ง จากเขตบางกอกน้อย

“คุณจะเห็นว่า ผ่านไป 6 เดือนเอง ถ้าเป็นนักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระดับประเทศบอกว่า ประชาธิปัตย์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้คะแนนนำทั้งกรุงเทพฯทุกเขต ดังนั้น อีก 6 เดือนข้างหน้า เลือก ส.ส. ประชาธิปัตย์จะกวาดเรียบ ซึ่งมันไม่ใช่ ผมเป็นคนบอกเองว่า มันไม่ใช่ เราอยู่กับการเมืองกรุงเทพฯมา ทั้งชีวิต ชาวบ้านดูเป็นเรื่อง ๆ ไป”

“องอาจ” ขยายความว่า การเลือกตั้งซ่อม ประชาชนก็เลือกในแบบของการเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งทั่วไปเลือกรัฐบาล เลือกนายกฯ ประชาชนพิจารณาอีกแบบหนึ่ง เลือกผู้ว่าฯก็พิจารณาอีกแบบหนึ่ง

“เราเห็นว่าคราวนี้ ไม่เหมาะสมเราก็ไม่ลง อยู่ที่ความเหมาะสมเป็นครั้ง ๆ ไป มากกว่า” องอาจเตรียมตอบคำถามคน กทม.ถึงเหตุผลการไม่ส่งเลือกตั้งซ่อมในวันที่ถึงเวลาต้องลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งใหญ่

“แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง เมื่อมีผลการเลือกตั้งออกมา เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาของประชาชนในการลงคะแนนเสียงแต่ละครั้งนั้น พิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่ใช่ว่า ครั้งนี้เลือกแบบนี้ อีก 5-6 เดือนข้างหน้า หรือ อีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะเลือกแบบเดียวกัน มันไม่มีสูตรสำเร็จ”

ทว่าหากวันข้างหน้า ส.ส.เขต กทม.ว่างลง-เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตอื่น อาจจะไม่ใช้เกณฑ์ดียวกับการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9

“อาจจะไม่ใช้ก็ได้ อาจจะพิจารณาในคราวนั้น ถ้าเราส่งจะเหมาะสมไหม ถ้าไม่ส่งจะเหมาะสมไหมพรรคการเมืองอื่นก็พิจารณากันแบบนี้ เพื่อไทยก็พิจารณาว่าเหมาะสมไหม ที่ชุมพร ที่สงขลา ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ส่งลง หลักสี่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อไทยก็ส่งลง”

คำว่า “เหมาะสม” หมายถึง “มีโอกาสชนะ” ใช่หรือไม่ ?

“องอาจ” ขยายความแบบกลม ๆ ของคำว่า “เหมาะสม” ว่า ไม่ใช่ส่งแล้ว “มีโอกาสชนะ” แต่หมายถึง “ไม่มีความเหมาะสมเพียงพอที่พรรคจะส่งลง”

“ไม่มีหลบ ไม่มีหลีก ไม่มีฮั้วให้ใครทั้งนั้น การพิจารณาส่งหรือไม่ส่งของพรรคอื่น ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์”

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนเหมือนพรรคอื่น คือ “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จัตุจักร ที่ได้คะแนนอันดับสี่ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา “ไม่ติดใจ”

“ไม่ติดใจอะไร คุยกันเรียบร้อย เขา (ผู้การแต้ม) เข้าใจ เขาพูดกับผมเอง ว่า พี่องอาจ ผมเป็นคนมีวินัย เป็นข้าราชการเก่า พรรคพิจารณาดีแล้ว ผมก็ปฏิบัติตาม ถ้าพรรคเห็นว่าดี ตอนนี้เขาก็ทำพื้นที่ต่อเนื่อง แจกของ ลุยช่วยคนติดโควิด”

ขณะที่กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่งเปิดเผยถึงเหตุผลที่พรรคไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักรว่า หนึ่ง ส่งลงไปแล้วคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ไม่เปลี่ยน ไม่ลดลง สอง ส่งไปแล้วตัดแต้มกันเองกับพรรคไทยภักดี พรรคกล้า รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ จึงประเมินแล้วว่าโอกาสชนะน้อย การไม่ส่งจะดีกว่า เพราะหากตัดสินใจส่งแล้วต้องชนะ การไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ไม่มีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีนัยต่อเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้ามากกว่า

สรุปว่า เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้รับสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร 10 เหตุผล-ข้อยกเว้น ดังนี้

1.คะแนนของคู่แข่ง (เพื่อไทย) ที่เคยได้อันดับ 2 เป็นคะแนนจัดตั้ง ปชป.ส่งลงไปก็หาคะแนนเพิ่มได้ยาก
2.ส่งไปแล้วตัดแต้มกับพรรคไทยภักดี พรรคกล้า รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ-โอกาสชนะน้อย (ฐานเสียงเดียวกัน)
3.อายุสภาเหลือเพียง 1 ปี
4.ไม่มีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า
5.หวังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มากกว่า (มีนัยต่อเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า)
6.ส่งแล้วต้องชนะ
7.การเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่มีสูตรสำเร็จ (การเลือกตั้งซ่อม ประชาชนเลือกที่ตัวผู้สมัคร)
8.พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัคร ไม่ติดใจ ที่พรรคไม่ส่งลงรับสมัคร
9.พรรคจะพิจารณาการส่งคนเลือกตั้งซ่อม เป็นคราว ๆ ไป
10.เพื่อความเหมาะสม