กทม. ชวนคนหลักสี่-จตุจักร เลือกตั้งซ่อม ส.ส. 30 ม.ค. 2565

เลือกตั้ง

กทม. เชิญชวนคนหลักสี่-จตุจักร ออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 30 ม.ค. 2565

วันที่ 11 มกราคม 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 9 ได้เปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง ระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2565

ปรากฏว่า มีผู้สมัครทั้งสิ้น 8 ราย ได้แก่ หมายเลข 1 นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี หมายเลข 2 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า หมายเลข 3 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย หมายเลข 4นางสาวกุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ

หมายเลข 5 นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์
หมายเลข 6 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล
หมายเลข 7 นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ
หมายเลข 8 นายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

ภายใน 7 วันนับแต่วันปิดรับสมัคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้น จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่ประกาศรายชื่อนั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติต่อไป

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตเลือกตั้งที่9 ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 เวลา 08.00-17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีรายชื่อ

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นดำเนินการ ณ ฝ่ายทะเบียน ชั้น1 แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึง นายทะเบียนท้องถิ่นเขตหลักสี่ หรือแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์สำนักบริการการทะเบียน https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main โดยสามารถแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิได้2ช่วง คือ ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ระหว่าง 23 – 29 ม.ค.65 หรือหลังวันเลือกตั้งใน 7 วัน คือ 31 ม.ค.- 6 ก.พ. 65

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. 2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ. 4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น 6.ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่นผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่นและเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
โดยการถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง