เกมซักฟอกรัฐบาล-กฎหมายลูก 2 ศึกใหญ่ เดิมพัน “ประยุทธ์” อยู่ครบวาระ

นำ

 

จบศึกอภิปรายงบประมาณ 2566 วาระที่ 1 รับหลักการ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังคุมสภาพการเมืองในสภาไว้ได้

หายใจหายคอโล่งไปอีกหนึ่งเปลาะ อาจเป็นนักเลือกตั้งต้องการเม็ดเงินลงพื้นที่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

หรืออาจเป็นเพราะบารมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คุมพรรคเล็กพรรคน้อยไม่ให้แตกแถว แม้ก่อนหน้านี้จะมีแรงกระเพื่อมอยู่บ้าง

แต่ถือว่าเกมงบประมาณสมประโยชน์กันทุกฝ่ายในทางการเมือง

ทว่ายังมี 2 ศึกใหญ่ ที่ยังจ่อคอหอย พล.อ.ประยุทธ์ อาจหมายถึงความเป็นความตายของรัฐบาลว่าจะอยู่ หรือไป

ศึกแรก อภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย 6 พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ขยับคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจให้กระชั้นขึ้น มาเป็นวันที่ 15 มิถุนายนที่จะถึงนี้

ทั้งที่ตอนแรกฝ่ายค้านวางแผนไว้ว่า จะรอให้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ผ่านวาระ 3 เสียก่อน

เพราะเกรงว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ “ยุบสภา” หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือรัฐบาลประสบอุบัติเหตุ โดยที่กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับยังร่างไม่เสร็จ จะไม่มีกฎหมายลูกซึ่งถือเป็นรายละเอียด “กติกา” การเลือกตั้งมาบังคับใช้ อาจกลายเป็นช่องว่างให้เกิด “รัฐบาลรักษาการ” อยู่ยาว ๆ ไป

แต่สิ่งที่ทำให้ฝ่ายค้านตัดสินใจขยับการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เร็วขึ้น แม้ว่ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับยังไม่เสร็จ เพราะฝ่ายค้านอ่านเจตนาว่า รัฐบาลตั้งใจ “เตะถ่วง”

“ฝ่ายค้านมีการคุยกับรัฐบาลว่าขอให้เอากฎหมายลูก 2 ฉบับ มาพิจารณาก่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่ ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมตอบมา ทำให้ฝ่ายค้านไม่รู้ว่าจะได้ประชุมรัฐสภาอีกเมื่อไหร่”

“และคิดว่าสถานการณ์น่าจะไม่ปกติ มีเจตนายื้อการอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไป ฝ่ายค้านจึงไม่เล่นตามเกม เพราะถ้าเราเอาการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปผูกติดไว้กับกฎหมายลูกก็จะเลื่อนลอย ไม่รู้ฝ่ายรัฐบาลลากไปยาวแค่ไหน” แหล่งข่าวจากแกนนำฝ่ายค้านระบุ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแตกร้าวภายในพรรครัฐบาล กำเนิดกลุ่ม 16-พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นจุดศูนย์กลางความคิด ตั้งวงเรียกค่างวดการเมืองจาก พล.อ.ประยุทธ์

แกนนำฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในวงเตรียมการซักฟอกรอบใหม่ วิเคราะห์โอกาสที่รัฐบาลอยู่-ไป ว่า ข้อมูลของฝ่ายค้านมีสิทธิน็อกรัฐบาลได้ แต่แม้ว่ารัฐบาลน่วมขนาดไหน แย่ขนาดไหน ถ้ารัฐบาลยกมือให้กันก็อยู่ต่อได้

“ดังนั้นขึ้นกับพรรคเล็กจะแตกออกจากรัฐบาลหรือไม่ ถ้ามีโอกาสรัฐบาลพังก็มีสูง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์คงจ่ายหนักอยู่แล้ว พรรคเล็กพรรคน้อยฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์อาจจะสอยกลับไปได้ แต่พรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อาจจะไม่ได้”

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ฉันใด นักการเมืองในสภาย่อมอ่านใจกันออกไม่ต่างกัน แหล่งข่าวรายเดิมอ่านใจ พล.อ.ประยุทธ์จะเฉือนโควตารัฐมนตรีให้พรรคเศรษฐกิจไทยของ “ผู้กองนัส” เพื่อระบายแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ ว่า

“หากให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอม จะฆ่ากันขนาดนี้ ด่ากันขนาดนี้ ถ้าให้เก้าอี้รัฐมนตรีแก่พรรคเศรษฐกิจไทย พล.อ.ประยุทธ์ก็หมดสภาพ ทางที่ดีให้ พล.อ.ประวิตรคุมกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ธรรมนัสก็อาจจะพอใจ เพราะให้ประโยชน์ทางอ้อม แต่ให้ทางตรงคงไม่ได้ ต้องให้โค้ง ๆ”

อย่างไรก็ตาม หันไปมองฝ่ายค้าน ก็ยังมีเสียงแตกปลายอยู่ไม่น้อยที่อาจโดนฉกไปเป็นของฝ่ายรัฐบาล

“ช่วงปีสุดท้ายกลุ่มที่เขาจะย้ายพรรคอาจจะรับจ็อบจากปลายทาง โหวตตาม ออร์เดอร์ของพรรคใหม่ที่จะไปสังกัด มีโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะเสียแต้ม”

หากแกะเสียงรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และขั้วสะวิงโหวต ณ ตอนนี้ แบ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านมี 208 เสียง ประกอบด้วย

พรรคเพื่อไทย 132 เสียง พรรคก้าวไกล 51 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง (มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรค มักระบุว่าเป็นฝ่ายค้านช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่าอยู่ในกลุ่ม 16 )

ทั้งนี้ 208 เสียง รวมงูเห่าในเพื่อไทย 3 เสียง-ก้าวไกล 4 เสียง ที่ไปอยู่ภูมิใจไทย

พรรคร่วมรัฐบาล นับเฉพาะพรรคหลัก ที่ไม่มีโอกาสแตกแถว มีอยู่ 228 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 97 เสียง พรรคภูมิใจไทย 62 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง

ขั้วพรรคการเมือง-ส.ส.ที่มี “แนวโน้ม” สะวิงโหวต ประมาณ 39 เสียง +- ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง พรรคไทยรักธรรม 1 เสียง
ขึ้นอยู่กับข้อต่อรองหน้างาน-พล.อ.ประยุทธ์ ยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองหนักแค่ไหน เพื่อประคองรัฐบาลให้อยู่ต่อไปได้จนจบการประชุมเอเปค หรืออยู่ครบเทอมกลางปี 2566

ชิงโหวตล้มกฎหมายลูก

อีกศึกหนึ่งที่ชุลมุนไม่น้อยไปกว่ากันคือ การโหวตกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระที่ 2 และ 3 ที่มีสภาพไปต่อก็ไม่ได้ กลับตัวก็ยุ่งเหยิงไปกันใหญ่

เหตุมาจากสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เริ่มมีความเห็นที่ขัดกันระหว่าง ผู้มีอำนาจในทำเนียบรัฐบาล กับ ฝ่ายนิติบัญญัติพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะเอาสูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500

ซึ่งสูตรหาร 100 วิธีคิดคือ นำคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกัน แล้วนำมาหาร 100 ผลลัพธ์ที่ได้คือ สัดส่วนคะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ต่อ 1 คน ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องการ เพราะเคยแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งปี 2554 แต่พรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบเต็ม ๆ

ส่วนสูตรหาร 500 คือ ใช้จำนวน ส.ส.ทั้งสภา คือ 500 เป็นตัวหาร เพื่อให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนเสียงที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส.พึงมี ซึ่งเป็นความต้องการของพรรคขนาดกลาง พรรคเล็ก

ทว่าขณะนี้ เริ่มเกิดการประลองกำลังในรัฐสภา ระหว่างสูตรหาร 500 โดยมีเสียง ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแบ็กอัพ ขณะที่สูตรหาร 100 ที่มี พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ยังคงยืนกรานเสียงแข็งว่า และยังไม่มีสัญญาณมาจาก “พล.อ.ประวิตร” หัวหน้าพรรคจะให้เคาะสูตรไหน

ดังนั้น แม้ว่าเสียงข้างมากใน “กรรมาธิการกฎหมายลูก” 32 ต่อ 11 เสียง เลือกสูตรหาร 100 แต่โอกาสพลิกกลับไปเป็นหาร 500 ยังเป็นไปได้

แหล่งข่าวจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรค เห็นเป็นทิศทางตรงกันว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เลือกหาร 500 เมื่อถึงเวลาก็คงต้องสู้กันในวาระที่ 2 และ 3

สูตรหาร 100 มี พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย เป็นตัวยืน

ส่วน สูตรหาร 500 ภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล ที่ชอบสูตรนี้มากกว่า เป็นสูตรเดียวกับการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งทำให้ได้เปรียบ รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่อาจถูกกดปุ่มให้พลิก 360 องศา ตามคำบัญชาการจากทำเนียบรัฐบาล

ดีไม่ดีถ้าผู้มีอำนาจเข็นต่อไม่ไหว อาจล้มกฎหมายลูกแล้วกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ นับ 1 ใหม่ ด้วยการโหวตคว่ำวาระ 3 หรือ โยนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีตก เพื่อกลับมานับ 1 แก้รัฐธรรมนูญกลับไปเป็นบัตรใบเดียวอีกครั้ง

“ถ้าล้มก็จะล้มด้วยเหตุผลว่า การใช้สูตรหาร 100 ยังมีปัญหาติดขัดเรื่อง ส.ส.พึงมี ในมาตรา 93, 94 แต่ถ้าหาร 500 ก็จะไปขัดกับมาตรา 91 เพราะติดคำว่า “สัมพันธ์โดยตรง” เลือกสูตรไหนก็มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ มีปัญหายุ่งเหยิงในอนาคต ปัญหาจึงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สะเด็ดน้ำจึงออกกฎหมายลูกยาก เมื่อกลับไปแก้รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นมหากาพย์”

เป็น 2 ศึก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเตรียมรับมือ