พิธาถาม สมช.มีประสบการณ์แก้วิกฤตเศรษฐกิจแสนล้าน หรือไม่

พิธา-ปัญหาเศรษฐกิจ
ภาพจากข่าวสด

พิธาตั้งกระทู้สดถามประยุทธ์ สังคมไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ วิกฤตพลังงานในครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกเท่าไหร่ งง ตั้งสมช.แก้วิกฤตเศรษฐกิจแสนล้าน

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ​ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน จากวิกฤตของแพงค่าแรงถูก

ซึ่งนายกฯ ติดภารกิจ มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มาตอบแทน ว่า ตนจะถามสิ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมากที่สุดคือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งราคาพลังงาน ราคาอาหาร ค่าเดินทาง และรายได้ที่ลดลง เป็นกำแพง 4 ด้านที่ค่อยๆ บีบความเป็นอยู่ของประชาชนลงเรื่อยๆ

ทั้งยังมีหนี้ครัวเรือนคอยกดดันมากเป็นประวัติการณ์ เป็นการอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ ฟุบคือ รายได้ และเฟ้อคือรายจ่าย โดยยังมีมหาพายุวิกฤตเศรษฐกิจอีก 3 ลูก คือ

1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย และยูเครน

2.เรื่องซีโร่โควิด ของจีนที่น่าจะกลับมาเร็วขึ้น โดยนักท่องเที่ยวของจีนก็น่าจะกลับมาเร็วขึ้น และเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าอุปทานของโลก

3.การต่อสู้กับเงินเฟ้อของโลก ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวมากที่สุดในรอบ 6 ปี นี่คือความเร่งด่วนของปัญหา ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

นายพิธากล่าวว่า ตนจะตั้งคำถามโดยเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง สำหรับ คำถามแรก คือ วิกฤตพลังงานในครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่าจะยืดเยื้อไปอีก 1 ปี และจะต้องใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 6 ของงบประมาณแผ่นดิน งบเยอะขนาดนี้เราใช้อย่างตรงจุดและยั่งยืนตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งไว้หรือไม่ แผนสำรองกรณีที่ยืดเยื้อไปมากกว่านี้ หรือจะคงมาตรการแบบนี้ต่อไปหรือไม่

คำถามที่สอง คือ ราคาอาหาร ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเพราะเนื้อหมู ซึ่งมาจากปัญหาอาหารสัตว์ขาดแคลน ที่ได้รับผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์โลก เกี่ยวกับสงครามรัสเซียและยูเครน หลายประเทศได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น ญี่ปุ่น ตั้งรัฐมนตรีความมั่นคงเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ที่มีคุณสมบัติและเชี่ยวชาญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหาร การต่างประเทศ และเคยเป็น ส.ส. แต่ไทย เราใช้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อจัดการปัญหา

“ผมจึงต้องตั้งคำถามว่า สมช. เคยทำเรื่องความมั่นคง หรือเรื่องอาหารหรือไม่ เพราะองค์ประกอบขององค์กร มี เลขาฯ สมช. ที่เป็น วีรบุรุษร่มเกล้า และรองเลขาฯ สมช. อีก 3 คน มีประสบการณ์แก้ปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย ต่อต้านการก่อการร้าย 9/11 ที่นิวยอร์ก และดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ผมจึงอยากถามว่า สมช. ที่มีงบประมาณ 200 ล้านบาทนั้น เคยมีประสบการณ์แก้ไขวิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร งานด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการต่างประเทศ หรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ที่มีมูลค่าหลายแสนล้าน จะถูกแก้ไขด้วย เลขาฯ สมช.คนนี้ หรือไม่” นายพิธา กล่าว

นายพิธากล่าวว่า และคำถามที่ 3 คือ วันนี้ ครบ 15 วันที่ กระทรวงคมนาคม และขสมก. สัญญาที่จะแก้ปัญหาเรื่องการเดินรถสาธารณะที่มีจำนวนลดลง ทั้งที่อยู่ในช่วงที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ขนส่งมวลชน ทำให้กระทบต่อเวลาที่ใช้ในการเดินทาง และค่าครองชีพ ทั้งที่ประเทศอื่นสนับสนุนการใช้รถสาธารณะ

พิธา-ปัญหาเศรษฐกิจ
ภาพจากข่าวสด

ต่อมาเวลา 11.19 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวตอบกระทู้ว่า เราทราบกันดีว่า ค่าครองชีพเกิดจากราคาน้ำมันแพงเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ และไม่รู้ว่าสถานการณ์รัฐเซีย-ยูเครน จะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องคาดการณ์แผนระยะสั้น กลาง และยาว เราควรจะทำอะไร ส่วนค่าเดินทาง เข้าใจว่าคนยากคนจนใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนมากจึงได้รับผลกระทบ ต้องแจ้งถึงแผนสำรองว่า ระยะสั้นเราดำเนินการ ใช้เครื่องมือทางการคลังลดภาษีน้ำมันดีเซล

ฉะนั้นเรื่องมาตรการภาษีเราช่วยเหลือ แม้จะไม่เห็นราคาน้ำมันที่ลดลงก็ตาม แต่เรามีกองทุนน้ำมันที่มีการอุดหนุนน้ำมันดีเซลค่อนข้างมากตัวเลข 10-11 บาท ซึ่งถ้าเราจะอุดหนุนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เกินฐานะกองทุนที่จะรับได้ นั่นจึงมีมาตรการตรึงราคาขึ้นมา แต่การตรึงราคาก็ยังไม่สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งแน่นอนว่าเราลดให้กับน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตามการลดภาษีในตรงนี้มีต้นทุนรายได้ของภาครัฐเอง ซึ่งเราก็จะสูญเสียรายได้จากส่วนนี้ไปถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เราเสียไปนี้เราต้องดูในฐานะการจัดเก็บรายได้ที่เพียงพอหรือไม่ เพราะมันเป็นก็ยังถือว่าพอไปได้ และประเมินสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด

ส่วนการพยุงราคานั้น ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถการกู้ยืมเงิน บวกกับเรื่องของการเจรจาต่อรอง ของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการอยู่ ต้องบอกว่า ช่วงสถานการณ์ปกติเราไม่ค่อยได้ปรับขึ้นราคาพอเมื่อเกิดภาวะช็อกขึ้นมาเป็นเรื่องที่ยากที่จะปรับราคา

ส่วนระยะต่อไปนั้นจะเป็นการปรับเปลี่ยนพลังงานที่ไม่พึ่งพาในส่วนของฟอสซิล และการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งมีกิจการหลายแหล่งที่พร้อมใช้โซลาร์ อย่างไรก็ตามเรื่องมาตรการประหยัดพลังงาน ซึ่งตอนนี้เรามีมาตรการรัฐบาลออกมา การที่ประหยัดนั้นต้องไปดูให้ถูกกลุ่ม เราเห็นด้วยกับสมาชิกที่ช่วยเหลือให้ถูกตรงกลุ่มเป้าหมาย

นายอาคม กล่าวว่า เรื่องอาหารนั้นเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วย แต่เรื่องของปุ๋ย ข้าวสาลี คงต้องใช้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เพราะเรื่องน้ำมัน อาหารเป็นสองหมวดที่สำคัญในตะกร้าของประชาชน

ส่วนการแก้ปัญหานั้นที่ให้สมช.ดู ต้องบอกว่าสมช.เป็นงานความมั่นคง แต่เป็นเรื่องด้านความมั่นคงประเทศ ทหาร สังคม ส่วนเศรษฐกิจนั้นก็อาจจะต้อการหน่วยงานต่างๆมากกว่า นายกฯมอบหมายสมช.ทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีการประชุมไปแล้วก็น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมา ร่วมทั้งแผน 1 แผน 2 ต่อไป

นายอาคม กล่าวอีกว่า เรื่องการขนส่ง เข้าใจว่าเราเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน กระทรวงคมนาคมปรับราคา แต่มีความจำเป็น ส่วนการลดเที่ยววิ่งด้วย ตนก็ได้สื่อสารไปแล้วว่าลดแต่ต้องอยู่ในมาตรฐานขนถ่ายให้ประชาชนให้เพียงพอ

ส่วนการจัดหารถจากแบบ NGVเป็นEV เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นแผนระยะกลางหรือระยะยาว ไม่เกี่ยวกับวิกฤต เพราะเราทำกันมาตลอด แต่แค่อาจจะล่าช้าไป ตนจะไปติดตามโครงการนี้ต่อไป

ตอบกระทู้สดพิธา
ภาพจากข่าวสด