ประวิตร ผ่าน EIA โปรเจ็กต์เชื่อมพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 สะพานพระราม 8

สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
แฟ้มภาพ

ประวิตร นั่งหัวโต๊ะ บอร์ดสิ่งแวดล้อม ไฟเขียวอีไอเอโครงการต่อเชื่อมถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 กับสะพานพระราม 8 แก้ปัญหาจราจร-โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าการติดตามการแก้ไขปัญหามลพิษ กรณีโรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการประสานงานกับอัยการ จังหวัดระยอง และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมาย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ยังรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัย สารเคมี บทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้ กรณีโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จ.สมุทรปราการ

โดยกระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกันพิจารณา มาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพย์ฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนะไปยัง 4 ภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ (กำกับดูแล) หน่วยงานรัฐ (สนับสนุน) และภาคประชาชน

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณา ด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการต่อเชื่อม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 กับสะพานพระราม 8 ของสำนักการโยธา กทม. เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด รวมระยะทาง 3.5 ก.ม.

2.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อเพิ่มช่องทางความสะดวกในการสัญจร ข้ามทะเลสาบสงขลา รวมระยะทาง 7 ก.ม. รองรับการส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่

นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เห็นชอบ นโยบายการบริหารงานที่สำคัญ คือ (ร่าง) แนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการ “พื้นที่สีเขียว” อย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่

1.ให้ทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกและหน้าที่ในการจัดการพื้นที่สีเขียว 2.ให้เมืองมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถรองรับภัยพิบัติและมีฐานทรัพยากร เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

3.มีเครื่องมือ กลไกเพื่อเอื้อต่อการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียว และ 4.ให้ตระหนักในภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อสร้างพลังทางสังคม

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า รวมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการ “ขยะ” ของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การจัดการขยะที่ต้นทาง 2.การเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะ และ 3.การพัฒนาเครื่องมือ การบริหารจัดการขยะ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้กระทรวงทรัพย์ฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามโครงการที่ยังดำเนินการล่าช้าและกำกับขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว ให้เป็นไปตามมาตรการฯในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขอนามัยของประชาชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน พร้อมทั้งต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ทราบเพื่อให้การดำเนินงานมีความเข้าใจและเกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป