ประกันชีวิตตีปีกรับดอกเบี้ยขาขึ้น “ปรับพอร์ต-ลงทุนธุรกิจใหม่” ปั้นยีลด์

โรงพยาบาล
Photo by Olga Kononenko on Unsplash

ธุรกิจประกันชีวิตเฮ ! รับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น หลังเผชิญดอกเบี้ยต่ำมานาน เร่งปรับพอร์ตลงทุนปีเสือรับยีลด์ขยับขึ้น “เมืองไทยประกันชีวิต” เตรียมแผนลงทุน “โรงพยาบาล-สถานที่พักผู้สูงวัย” หวังผลตอบแทน 10% รวมถึงเล็งจับมือธนาคารลุยปล่อยกู้ร่วมปักธงยีลด์ 6-7% ฟาก “กรุงเทพประกันชีวิต” เพิ่มการลงทุน “หุ้นนอกตลาด-หุ้นต่างประเทศ”

นายสุธี โมกขะเวส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 นี้บริษัทประกันชีวิตจะได้แรงหนุนจากแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นโอกาสการขายประกันสะสมทรัพย์ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การแมตชิ่งสินค้ากับผลตอบแทนให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะขาดทุน

“ถ้าจะแข่งขันขายสินค้าแบบการันตีผลตอบแทน ระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) อายุ 10 ปี ต้องสูงเกิน 5% ต่อปีก่อนจึงจะปลอดภัย ซึ่งภาพนี้คงอีกไกล อย่างไรก็ดี เราผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้วเมื่อประมาณปลายปี 2562 ที่บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ตกลงมาเหลือ 0.8%”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงหลักปีนี้ที่บริษัทต้องพิจารณา คือ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ซึ่งในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำแทบทุกบริษัทต้องรักษาผลตอบแทน จึงเข้าไปลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทน ทำให้เครดิตเรตติ้งของหุ้นกู้ที่บริษัทเข้าไปลงทุนถูกดาวน์เกรดลงมาบ้าง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราส่วนเงินกองทุน

นายสุธีกล่าวอีกว่า การบริหารพอร์ตลงทุนของบริษัทในปีนี้จะพยายามเน้นลงทุนระยะยาวให้ได้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนเดิม จากสิ้นปี 2564 มีสินทรัพย์รวมอยู่กว่า 6 แสนล้านบาท เป็นสินทรัพย์ลงทุนเกิน 90% ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 80% ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้และสัดส่วน 10% ลงทุนในตลาดหุ้นที่เหลืออีก 10% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ

โดยปีนี้สินทรัพย์รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเบี้ยประกันรับรายใหม่ที่เข้ามาและจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้กำลังศึกษาแผนการลงทุนโรงพยาบาลและสถานที่พักผู้สูงวัย โดยมองหาโอกาสทั้งการเข้าไปร่วมทุนและลงทุนสร้างเอง คาดหวังอัตราผลตอบแทนเกิน 10% ซึ่งจะเป็นการลงทุนระยะยาว กว่าจะถึงจุดคุ้มทุน (break even) ต้องใช้เวลานานกว่า 7 ปี

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเข้าไปปล่อยกู้ร่วม (syndicated loan) เพราะมองการลงทุนประเภทนี้ค่อนข้างจะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากตก 6-7% ต่อปี

“เวลาแบงก์ปล่อยสินเชื่อระยะยาว จะไม่ชอบรับความเสี่ยงต้นทุนไว้ยาว ๆ เพราะจะกินเงินกองทุน ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตจะไม่ชอบรับความเสี่ยงต้นทุนไว้สั้น ๆ ทำให้เวลาทำธุรกิจร่วมกันจะค่อนข้างวินวิน แต่เนื่องจากเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตปล่อยกู้ร่วมได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าแต่ละโครงการ ซึ่งเพดานตรงนี้มองว่าทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องหาพันธมิตรหลาย ๆ แห่งมาร่วมวง จึงลงทุนเองได้ขนาดไม่ใหญ่มาก” นายสุธีกล่าว

นางสาวชลลดา โสภณพนิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายการลงทุน บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพใหญ่พอร์ตการลงทุนของกรุงเทพประกันชีวิตปีนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก จากสินทรัพย์ลงทุนรวมกว่า 339,541 ล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาส 3/2564) ที่ประมาณกว่า 80% ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ซึ่งยังคงสัดส่วนนี้ไว้เหมือนเดิม ปัจจัยสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาลงมานานมากตั้งแต่ปี 2562 แต่ปีนี้กลับมาอยู่ในทิศทางขาขึ้นแล้ว

ส่วนที่เหลืออีก 20% ลงทุนในตลาดหุ้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และการให้สินเชื่อ โดยปีนี้บริษัทได้เพิ่มการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (private equity) แต่ยังไม่ใช่การลงทุนในสัดส่วนที่มีนัยมาก นอกจากนี้ ยังมีแผนกระจายพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

“เราประเมินตลาดหุ้นในปี 2565 จะมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลัก ๆ ในการเลือกลงทุนหุ้นจะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักและเน้นลงทุนระยะยาว ซึ่งด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นปีนี้โดยรวมตลาดจะหันมาชอบหุ้นคุณค่า (value stock) มากกว่าหุ้นเติบโต (growth stock) ซึ่งบริษัทคำนึงถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่ต้องเป็นหุ้นที่มีมูลค่าและยังมีอัพไซด์ด้วยจึงจะเข้าไปลงทุน” นางสาวชลลดากล่าว

สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 4.03% ลดลง 0.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.25% จากไตรมาส 2/2564 โดยมีระดับเงินกองทุนกว่า 299% สำหรับงวดสิ้นปี 2564 ซึ่งบริษัทจะรายงานงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ราววันที่ 25 ก.พ. 2565 นี้

“ปีนี้การบริหารพอร์ตลงทุนเราจะให้น้ำหนักดอกเบี้ยขาขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยหุ้นกู้บริษัทที่มีหนี้สูง ๆ และจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว เราก็จะเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงโดยมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้น” นางสาวชลลดากล่าว