ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ BEM มั่นใจข้อเสนอสายสีส้มเป็นประโยชน์ต่อรัฐ

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ BEM
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ บุญรวม

เปิดเวทีแถลงข่าวในรอบ 3 ปีนับจากสถานการณ์โควิด ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 “ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้สัมภาษณ์อัพเดตสถานการณ์ภาพรวมธุรกิจ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ข้อเสนอสายสีส้ม “ประโยชน์ต่อรัฐ”

“ดร.สมบัติ” เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เกิดการระบาดโควิด-19 รายได้ของบริษัทหายไปกว่า 60% แต่บริษัทก็ได้ยืนหยัดดำเนินธุรกิจฝ่าช่วงวิกฤตมาอย่างเต็มที่

โดยมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุดในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าและทางด่วนมั่นใจในการใช้บริการ รวมทั้งได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ทั้งโครงการแจกหน้ากากอนามัย มอบวัคซีนไวรัสโควิด-19 และล่าสุดคือ โครงการแจกสเปรย์แอลกอฮอล์ 1 ล้านชิ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่พี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้จัด โครงการ “MRT พิชิต TCAS 66” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ซึ่งมีน้อง ๆ เข้าร่วมกว่า 10,000 คน เพื่อให้น้อง ๆ นักเรียนมีโอกาสได้รับความรู้อย่างเต็มที่

รถไฟฟ้า-ทางด่วนฟื้นตัว 85-90%

ดร.สมบัติเปิดเผยว่า ในส่วนของผลการดำเนินธุรกิจของ BEM พบว่า ปริมาณผู้ใช้ทางด่วนฟื้นตัวกลับมาเร็วมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้ทางเฉลี่ยอยู่ที่ 1,100,000 เที่ยวคัน/วัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของปริมาณผู้ใช้ทางก่อนเกิดโควิด

ส่วนรถไฟฟ้า “MRT สายสีน้ำเงิน” ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 320,000 เที่ยวคน/วัน คิดเป็นสัดส่วน 85% ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด

นำไปสู่การคาดการณ์ว่า ข่าวดีภายในสิ้นปี 2565 แนวโน้มจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า

และคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะใกล้แตะ 500,000 เที่ยวคน/วัน จากปัจจัยหลักเนื่องจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเปิดให้บริการครบทั้งเส้นทาง

ประกอบกับมีการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวโครงการใหญ่ ๆ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า ประกอบด้วย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, โครงการ One Bangkok, โครงการของ Singha Estate, โครงการ Samyan Mitrtown เป็นต้น

คาดรายได้ปีเสือ 1.5 หมื่นล้าน

ในส่วนผลประกอบการของ BEM คาดว่าในปีนี้รายได้ทั้งปีจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท โดยมีผลกำไรครึ่งปีแรกจำนวน 970 ล้านบาท คาดว่าปี 2565 ทั้งปีจะสามารถกลับมามีกำไรมากกว่าปี 2564 แน่นอน

ทั้งนี้ “ดร.สมบัติ” กล่าวถึงการประมูลร่วมลงทุนรูปแบบ PPP (public private partnership) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดย “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”

ซึ่งทาง รฟม.ได้แจ้งให้ BEM ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทผ่านเกณฑ์ และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐ -78,287.95 ล้านบาท (ในทางเทคนิค ตัวเลขติดลบหมายถึงรับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีกว่าคู่แข่งประมูล)

ขั้นตอนหลังจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอด้านการเงินเป็นสเต็ปต่อไป

มั่นใจสายสีส้มเปิดตามไทม์ไลน์

“ดร.สมบัติ” กล่าวยืนยันว่า BEM มั่นใจข้อเสนอของบริษัทเป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนด ทั้งในส่วนของข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อสร้าง

โดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด อีกทั้งระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน

และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2565) ปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่บริษัทก็ยังสามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม.ได้

“หาก BEM ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานสายสีส้มตะวันตก พร้อมที่จะเริ่มงานได้ทันที โดยมี บมจ.ช.การช่าง เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก บริษัทมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตกได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของบริษัท ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ”

ประมูลตามเงื่อนไข-กติการัฐ

“ดร.สมบัติ” กล่าวเสริมว่า สำหรับกรณีที่มีเอกชนบางรายซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือกเปิดเผยว่า มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ รฟม. มากกว่าที่ BEM เสนอ ก็เป็นสิทธิของเอกชนรายนั้นจะทำ แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการพาดพิงถึงข้อเสนอของบริษัท ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่า ข้อเสนอของบริษัททำให้รัฐเสียประโยชน์

ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องชี้แจงว่า บริษัทได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เข้าร่วมการคัดเลือกภายในเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนด

“การนำข้อเสนอด้านการเงินอื่นซึ่งไม่ทราบว่าอยู่บนเงื่อนไข สมมติฐานใด ผ่านเกณฑ์การประเมินของ รฟม.หรือไม่ มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอด้านการเงินของบริษัท คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้”

พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาทั้งรัฐ เอกชน พูดกันตลอดว่า โครงการรถไฟฟ้าเป็น infrastructure ขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนสูง หากรัฐไม่สนับสนุน (subsidy) ค่างานโยธา เอกชนลงทุนเองทั้งหมดคงไปไม่รอด เห็นได้จากในยุคเริ่มตั้งแต่สายสีเขียว เอกชนที่รับสัมปทานต้องลงทุนทั้งงานโยธาและเดินรถทั้งหมด สุดท้ายก็ไม่ไหว ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และมีการ hair cut ภาระหนี้

ส่วนสายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น “สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สีเหลือง” รัฐต้องสนับสนุนค่างานโยธาทุกโครงการ ดังนั้น หากมีเอกชนบอกว่าสามารถรับดำเนินการสายสีส้ม ซึ่งต้องลงทุนสูงมากเพราะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ผลตอบแทนการลงทุนก็ต่ำกว่า “สายสีเขียว สีน้ำเงิน” ใกล้ ๆ กับ “สีชมพู สีเหลือง” โดยแทบไม่ต้องขอรัฐสนับสนุนเลย ซึ่งคงเป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ ว่าทำได้อย่างไร

“BEM ยังคงมั่นใจว่าข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มของบริษัทเป็นประโยชน์ต่อรัฐ การก่อสร้างและการเปิดบริการ และมั่นใจว่าจะต้องประสบผลสำเร็จตามแผน ไม่มีการล่าช้า และต้องมีคุณภาพการบริการแก่ประชาชนที่ดี ตอบแทนคืนกลับสู่สังคมอย่างเต็มที่”