ปี”62 กทม.จัดเต็ม 8 หมื่นล้าน ลุยซ่อมสร้าง 212 โครงการ

ใกล้ปิดงบประมาณปี 2561 ทุกหน่วยสังกัดรัฐบาลกลางเร่งสปีดเบิกจ่ายให้ทะลุเป้า พร้อมกับเร่งจัดสรรงบประมาณปี 2562 ไว้รองรับรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งในปีหน้า

ไม่เว้นแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ที่มี “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เป็นพ่อเมืองคนปัจจุบัน ก็กำลังเซตงบประมาณปี 2562 โดยตั้งเป้าอยู่ที่ 80,445.801 ล้านบาท

ล่าสุดกำลังยื่นเสนอขออนุมัติจากสภา กทม.ผ่านการพิจารณาวาระแรกแล้ววันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะผ่านการอนุมัติปลายเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,398 ล้านบาท จากปี 2561 ที่ได้รับอนุมัติ 79,047 ล้านบาท

รายละเอียดงบประมาณ 80,445.801 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายของ กทม. 80,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์กทม. 451.801 ล้านบาท

ด้านสถานะการคลัง ณ วันที่ 31 พ.ค. 2561 มีเงินฝากธนาคาร 57,547.50 ล้านบาท มีภาระหนี้โครงการที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 212 โครงการ จำนวน 47,393.09 ล้านบาท

และมี 4 สำนักที่ขอจัดสรรงบฯ สูงสุด ได้แก่ สำนักการโยธา 10,105.17 ล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อม 7,068.65 ล้านบาท สำนักการระบายน้ำ 4,871.45 ล้านบาท และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) 3,138.16 ล้านบาท

เร่งสร้าง 36 โครงการ

โดย”สำนักการโยธา” ใช้งบฯสำหรับบริหารทั่วไป 702 ล้านบาท 6 โครงการ แผนงานโยธา 7,444 ล้านบาท 34 โครงการ อาทิ ปรับปรุงถนนพระราม 2 ซอย 82 วงเงิน 70 ล้านบาท ก่อสร้างถ.ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า

ช่วงที่ 2 คลองหัวหมาก-คลองลำสาลี 232 ล้านบาท และช่วงที่ 5 ทางยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 วงเงิน 132 ล้านบาท ก่อสร้างทางลอด ถ.พัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช 144 ล้านบาท ปรับปรุง ถ.ประชาร่วมใจ-มิตรไมตรี 150 ล้านบาท และปรับปรุงอาคารธานีนพรัตน์ ศาลากลาง กทม.ดินแดง 90 ล้านบาท

ปรับปรุงทางเท้า-ถนน-สะพานพรึ่บ

ส่วนแผนพัฒนาการโยธา-ระบบจราจร 1,958 ล้านบาท มี 8 โครงการ เช่น งานก่อสร้างและบูรณะ 1,691 ล้านบาท ปรับปรุงสะพานพระราม 8 วงเงิน 50 ล้านบาท ปรับปรุง ถ.ฉิมพลี ช่วง ถ.บรมราชชนนี-ถ.เลียบทางรถไฟ และ ถ.ราชพฤกษ์ 32 ล้านบาท ปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยก ถ.เพชรบุรีตัดใหม่-รัชดาภิเษก (อโศก) 75 ล้านบาท ปรับปรุงทางเท้า ถ.ประชาอุทิศ ช่วง ถ.สุขสวัสดิ์-สุดเขต กทม. 23 ล้านบาท ปรับปรุง ถ.บางเชือกหนัง ช่วง ถ.พุทธมณฑลสาย 1-ถ.ตัดใหม่ 38 ล้านบาท ปรับปรุงภูมิทัศน์ ถ.พหลโยธินช่วงห้าแยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยฯ 25 ล้านบาท

ดัน 3 โรงขยะใหม่

ขณะที่ “สำนักสิ่งแวดล้อม” มีรายจ่าย 4 แผน มีแผนงานบริหารทั่วไป 72 ล้านบาท พัฒนาและส่งเสริม 47 ล้านบาท รักษาความสะอาด 5,493 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ เช่น จ้างเหมาเอกชน

กำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขนาด 300 ตัน/วัน ที่หนองแขม 177 ล้านบาท จ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขนาด 1,000 ตัน/วัน ที่อ่อนนุช 10 ล้านบาท และโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขนาด 1,000 ตัน/วัน ที่หนองแขมวงเงิน 10 ล้านบาท ยังมีโครงการจ้างเหมาเอกชนอื่น ๆ อีก เช่น จ้างเหมาเอกชนนำขยะมูลฝอยจากอ่อนนุชไปฝังกลบ 739 ล้านบาท จ้างเหมาเอกชนนำขยะมูลฝอยจากสายไหมไปฝังกลบ 540 ล้านบาท จ้างเหมาเอกชนนำขยะมูลฝอยจากหนองแขมไปฝังกลบ 759 ล้านบาท และ 4.แผนงานพัฒนาสภาวะสิ่งแวดล้อม 1,455 ล้านบาท

ผุดแก้มลิง-พัฒนาระบบน้ำท่วม

ฝั่ง “สำนักการระบายน้ำ” มีรายจ่ายเป็น 4 แผน มีแผนงานบริหารงานทั่วไป 36 ล้านบาท แผนพัฒนาระบบระบายน้ำ 9 โครงการ 709 ล้านบาทประกอบด้วย งานพัฒนาระบบระบายน้ำ 379 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองพระยาราชมนตรี ตอนที่ 1 วงเงิน 62 ล้านบาท ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองระหาญ 60 ล้านบาท ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงแม่น้ำเจ้าพระยา 56 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอน 25 ล้านบาท

ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงร้านอาหารครัวระฆังทอง-ร.ร.สตรีวัดระฆัง 15 ล้านบาท ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองหลุมน้ำไผ่ ตอนคลองลาดพร้าว 10 ล้านบาท ก่อสร้างแก้มลิงสวนเบญจกิติ 15 ล้านบาท และงานสารสนเทศระบายน้ำ 85 ล้านบาท ที่เหลือเป็นแผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 17 โครงการ วงเงิน 2,913 ล้านบาท และแผนงานจัดการคุณภาพน้ำ 13 โครงการ วงเงิน 1,211 ล้านบาท

ทุ่ม 3 พันล้านพัฒนาระบบจราจร

ปิดท้ายที่ “สำนักการจราจรและขนส่ง” เสนอขอ 3,138 ล้านบาท ส่วนใหญ่ไปอยู่ในแผนงานพัฒนาการใช้ที่ดินและระบบการจราจร 3,112.42 ล้านบาท เพื่อเดินหน้า 19 โครงการ อาทิ สกายวอล์กลานจอดแล้วจร 19.87 ล้านบาท จ้างเดินรถบีทีเอสส่วนต่อขยายตากสิน-เพชรเกษม 749.94 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 382.06 ล้านบาท ก่อสร้างลิฟต์ผู้สูงอายุและคนพิการของบีทีเอส 205 ล้านบาท พัฒนาระบบเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม 45.86 ล้านบาท งานวิศวกรรมจราจร 504.52 ล้านบาท พัฒนาระบบจราจร 754.25 ล้านบาท

นำสายสื่อสารลงดินบน ถ.จรัญสนิทวงศ์ ถ.พหลโยธิน ถ.ลาดพร้าว ถ.พระราม 3 ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ถ.รัชดาภิเษก ถ.พระราม 9 และ ถ.รัชดาภิเษก-ถ.อโศก รวมกว่า 118.42 ล้านบาท