รีวิวไฮสปีดเทรนไทยแลนด์ ซี.พี.ทุ่มแสนล้านปลุก EEC ไทย-จีนอืด “เจริญ” รอตีตั๋วสายใต้ไปสุราษฎร์ฯ

แผนการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง เชื่อม 4 ภูมิภาค มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลทหาร ผ่านมา 4 ปียังไม่ลื่นไหลอย่างที่ใจหวัง

ครบรอบ 4 ปีไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท โปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน นับจากเซ็น MOU ร่วมกันวันที่ 19 ธ.ค. 2557

4 ปีรถไฟไทย-จีน

เพิ่งมาสะเด็ดน้ำตอกเข็มต้นแรกเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 งานสัญญาแรกจากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ทั้งโครงการจะเปิดใช้ในปี 2566 โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด มีรัฐบาลจีนช่วยออกแบบรายละเอียดและจัดหาระบบให้

“ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หัวหิน และเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แบ่งสร้าง 15 สัญญา ความคืบหน้าสัญญาที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ที่กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้รับผิดชอบมีผลงานอยู่ที่ 60-70% คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2562

“ความล่าช้ามาจากการที่ฝ่ายจีนมีการตรวจสอบงานด้านวิศวกรรมทุกขั้นตอนค่อนข้างละเอียด ต้องยอมรับว่าไทยไม่เคยมีประสบการณ์ทำรถไฟความเร็วสูงมาก่อน งานถมคันทาง 3.5 กม.ที่ทางหลวงรับผิดชอบจึงไม่ใช่การทำคันทางธรรมดา แต่ต้องเป็นคันทางมีความแข็งแรงสูงกว่าปกติ สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ การที่คันทางทรุดตัวเพียง 1 ซม.ก็ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้แล้ว ดังนั้น ทางจีนจึงต้องคุมงานอย่างเคร่งครัด”

เร่งออกแบบช่วงโคราช-หนองคาย

ส่วนความคืบหน้าการเจรจากับจีนสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 38,558 ล้านบาท อยู่ระหว่างหารือ เช่น เรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่ขอในอัตรา 2.6% คาดว่าจะเซ็นสัญญาในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 วันที่ 25 ม.ค. 2562 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ขณะที่อีก 12 ตอน ระยะทาง 238.5 กม. ค่าก่อสร้างกว่า 1.1 แสนล้านบาท จะทยอยเปิดให้เอกชนประกวดราคาต่อไป ล่าสุด ร.ฟ.ท.เปิดประมูลสัญญาที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,350.47 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม.ไปพร้อมกันด้วย ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างปรับลดค่าจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จากเดิมเสนอมา 1,200 ล้านบาท

ญี่ปุ่นยังไม่โอเคร่วมหุ้นสายเหนือ

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หรือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ระยะทาง 672 กม. เงินลงทุนประมาณ 508,637 ล้านบาท ที่ญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาให้แต่ยังไม่ตกลงปลงใจร่วมลงขัน

ปลัดคมนาคมอธิบายว่า เนื่องจากวงเงินลงทุนสูงมาก สาเหตุสำคัญมาจากแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ที่มีภูเขาเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องเจาะอุโมงค์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งผลการศึกษาให้สร้างเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. เงินลงทุน 276,226 ล้านบาท

“ไม่ได้มองทั้งเส้นทาง แต่หากมองทั้งเส้นค่าก่อสร้างก็จะทวีคูณ เราก็พยายามชักชวนญี่ปุ่นมาลงทุนอยู่ แต่ญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจ ให้เหตุผลว่าโครงการนี้เป็นโครงการของประเทศไทยควรจะลงทุนเอง แต่อย่างไรก็ตาม เรากำลังหาโมเดลการลงทุนใหม่อยู่ เช่น การกู้เงินกองทุน JOIN ที่เป็นกองทุนของญี่ปุ่นที่ช่วยด้านโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่จะพูดคุยเจรจากันในรอบต่อไป”

ยืดสายใต้ถึงสุราษฎร์ฯ

ด้านโครงการกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 100,125 ล้านบาทที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี สนใจจะลงทุนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปลัดคมนาคมอัพเดตข้อมูลว่า กำลังรอประเมินผลจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่อยู่ใกล้กันคุ้มค่าหรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นการลงทุนโดยให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เช่นกัน

“เดิมที่ศึกษาไว้เป็นรัฐลงทุน 100% จึงวางเส้นทางถึงแค่หัวหิน เพื่อให้รัฐลงทุนน้อยที่สุด แต่ในผลการศึกษาระบุว่า ต้องต่อลงไปถึง จ.สุราษฎร์ธานีถึงจะคุ้มทุน จึงเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็น PPP Net Cost ซึ่งเอกชนมีคำถามว่า การก่อสร้างถึงแค่หัวหินไม่คุ้มค่า จึงให้ ร.ฟ.ท.ไปศึกษาออกแบบเพิ่มให้ถึง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในงบประมาณปี 2562 ของ ร.ฟ.ท.”

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวเจริญเตรียมจองลงทุนในเส้นทางนี้มองว่า แม้ว่ากลุ่มของเจ้าสัวเจริญจะมีความพร้อมทั้งด้านการเงินและที่ดิน แต่ก็ต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนเหมือนกรณีกลุ่ม ซี.พี.ที่ร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

และการมองว่าเหมือนแบ่งเค้กให้เฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ลงทุนนั้นตนมองว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังที่จะพัฒนาโครงการใหญ่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้กระจายโอกาสให้กลุ่มอื่น ๆ เช่น การจ้างงาน เพราะมีงานในมือมหาศาล จะจ้างคนภายในประเทศไปร่วมทำงานได้หรือไม่

ม.ค. 62 ไฮสปีดอีอีซีเซ็นสัญญา

ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท หลังเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี ก่อสร้าง เดินรถ บริหาร และซ่อมบำรุงโครงการ พร้อมพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่

ผลการพิจารณาราคาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ากลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตรเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยให้รัฐอุดหนุนเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 119,425 ล้านบาท อยู่ที่ 2,198 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ย 10 ปี คิดเป็นวงเงิน 149,652 ล้านบาท โดยรัฐผ่อนชำระคืน 10 ปี ตั้งแต่ปีที่ 6-15 จำนวน 14,965 ล้านบาทต่อปี

ตามไทม์ไลน์ของ ร.ฟ.ท.หลังปีใหม่จะเร่งเจรจารายละเอียดกับกลุ่ม ซี.พี.รวมถึงข้อเสนอซอง 4 ให้จบโดยเร็ว เพื่อเซ็นสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค. 2562 ส่วนการก่อสร้างจะเริ่มดำเนินการได้ต่อเมื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับไฟเขียว คาดว่าได้เริ่มต้นลงเข็มต้นแรกภายในปี 2562 ที่จะถึงนี้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!