เร่งพัฒนาที่รอบสถานีดึงคนใช้รถไฟฟ้า-ลดค่าใช้จ่าย

นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการดำเนินการแล้ว 110 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 122 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 97 กิโลเมตร และรอดำเนินการ 9.45 กิโลเมตร

ซึ่งจะทำให้แผนแม่บทรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะแรกดำเนินครบ หลังจากนี้ทาง สนข.กำลังศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะที่ 2 ร่วมกับองค์กรเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า)

“ในอดีตที่ผ่านมาการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ ไม่มีผังเมืองเฉพาะกำหนดการพัฒนารอบสถานี จึงทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่เป็นระบบ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” นายวิจิตต์กล่าว

ด้าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่พื้นที่รอบแม่น้ำ ถนน แล้วถึงมาเป็นระบบราง ซึ่งการคมนาคมและพื้นที่ถือเป็นหัวใจหนึ่งในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“กรุงเทพฯ สวรรค์ของระบบรางต้องดูว่าความเป็นจริงจะชนะรถยนต์ได้ไหมใน 100 ปีที่ผ่านมามีผลอะไรกับเรา คนจนมีรถเก๋ง ส่วนคนรวยใช้บริการระบบขนส่งมวลชน เพราะค่าใช้จ่ายในระบบขนส่งมวลชนสูง” ดร.ชัชชาติกล่าวและว่า

ปัจจุบันรถไฟฟ้าเกิดขึ้น คอนโดก็เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเทียบแล้วสัดส่วนมากกว่าบ้านเดี่ยว อนาคต กรุงเทพฯจะมีสกายวอล์กมากขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง เพราะระบบฟืดเดอร์เข้าไม่ถึงและมีค่าใช้จ่ายสูงในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ก็ต้องสร้างระบบฟืดเดอร์รับ-ส่งให้กับผู้พักอาศัย

“การออกแบบสถานีที่ผ่านมาไม่ได้ดูคอนเซ็ปต์ เช่น การใช้ประโยชน์จากโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอาคารจอดและจร ให้มีคอมเมอร์เชียล” ดร.ชัชชาติกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา นักวิชาการด้านผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าที่ดินตามแนวรถไฟฟ้ามีราคาที่สูง ทำให้คนย้ายที่พักอาศัยไปอยู่นอกเมือง เมื่อเฉลี่ยค่าเดินทางเท่ากับผ่อนรถยนต์ได้ 1 คัน จึงทำให้คนหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น


“ต่อให้มีรถไฟฟ้า 10 สาย รถยนต์ก็มากขึ้นอยู่ดี เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่ได้เข้าถึง เพราะฉะนั้นรัฐควรจะมีนโยบายให้คนอยู่ใกล้สถานีเพื่อดึงคนเข้าระบบ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย” ดร.พนิตกล่าว