ธรรมศาสตร์พบ “ศักดิ์สยาม” เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายรังสิต “รถไฟ” คาดลงเข็มมิ.ย.63

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เนื่องจากปัจจุบันการจราจรโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (มธ. ศูนย์รังสิต) ติดขัดมาก โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน

ทางคณะ มธ.ศูนย์รังสิต ได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟเพื่อใช้ถนนเลียบคลองเปรมประชากรเชื่อมเข้าสู่ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด เพิ่มจุดสัญญาณไฟจราจรบริเวณประตูเชียงราก 1 ขยายจุดกลับรถโดยเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 3214 ระหว่าง กม.3+630 และขยายสภาพทางหลวงหมายเลข 3214 ให้สมบูรณ์ในรูปแบบของ ULTIMATE DESIGN

ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแล้ว อาทิ ได้ศึกษาเพิ่มจุดสัญญาณไฟจราจรบริเวณประตูเชียงราก 1 ร่วมกับ ทาง มธ. เป็นต้น พร้อมทั้งสอบถามความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม ได้รับข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา มธ.

โดยกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินโครงการรถไฟฯ ช่วงบางซื่อ – รังสิต เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 กรอบวงเงิน 59,888 ล้านบาท และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงาน EIA โครงการรถไฟฯ ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต และ ครม.มีมติอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการรถไฟฯ ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิตเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท

โดยสถานะโครงการรถไฟฯ ช่วงบางซื่อ – รังสิต ก่อสร้างงานโยธา ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี สัญญา 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ความคืบหน้างานก่อสร้าง ร้อยละ 86.01 สัญญาที่ 2 งานโยธาทางรถไฟบางซื่อ – รังสิต ความคืบหน้างานก่อสร้าง ร้อยละ 99.56 สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าเครื่องกลและตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ – รังสิต ความคืบหน้างานก่อสร้าง ร้อยละ 45.60 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2564

สำหรับช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต ทางร.ฟ.ท. เตรียมประกวดราคา โดยในเดือนตุลาคม 2562 จ้างที่ปรึกษาประกวดราคา เดือนธันวาคม 2562 เปิด E-Bidding และเดือนมิถุนายน 2563 เริ่มก่อสร้าง คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายน 2566

ซึ่งโครงการรถไฟฯ ดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งขนาดรอง (Feeder) ในพื้นที่โดยรอบและภายใน มธ. ศูนย์รังสิต จะช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับสถานีได้อย่างสะดวก และแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณ มธ. ศูนย์รังสิตได้