“CPAC-วัน แบ็งคอก” เบื้องหลังเทคอนกรีตอภิโปรเจ็กต์ 23,000 คิว 33 ชั่วโมง 15 นาที

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างบันทึกสถิติใหม่ของวงการก่อสร้างในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

เรากำลังพูดถึงปฏิบัติการเทคอนกรีตแบบต่อเนื่อง ในอภิมหาโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสแบรนด์ “วัน แบ็งคอก” บนเนื้อที่ 104 ไร่ มูลค่าโครงการ 120,000 ล้านบาท ของตระกูลสิริวัฒนภักดี

LEED เริ่มต้นที่งานฐานราก

งานนี้รับผิดชอบโดย “CPAC-บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด” ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จและคอนกรีตสำเร็จรูปรายแรกของไทย นำเสนอนวัตกรรมคอนกรีตสูตรเฉพาะ และโซลูชั่นการเทคอนกรีตสำหรับงานเทฐานรากขนาดใหญ่ที่ใช้ปริมาณคอนกรีตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกว่า 23,000 ลูกบาศก์เมตร

“ชนะ ภูมี” รองกรรมการผู้จัดการ ซีเมนต์และคอนสตรัคชันโซลูชันของ CPAC ระบุว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับผิดชอบ บริษัทมีการออกแบบให้คอนกรีตมีความร้อนต่ำมาก เพื่อช่วยลดปัญหาการแตกร้าว แต่เพิ่มกำลังอัดสูงถึง 600 ksc ซึ่งนับเป็นคอนกรีตที่มีกำลังอัดสูงที่สุดสำหรับงานเทฐานรากขนาดใหญ่ ที่มีความลึกมากถึง 21 เมตร กว้าง 59.1 เมตร ยาว 91.5 เมตร และหนา 4.5 เมตร ทำลายสถิติที่ได้บันทึกไว้ในวงการก่อสร้างไทย

นอกจากนี้ ปูนซีเมนต์ที่ใช้เป็นส่วนผสมคอนกรีตยังเป็นผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับฉลากเขียว (Green Label) ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบโจทย์ความต้องการของโครงการที่ต้องการได้รับใบรับรองมาตรฐานอาคารเขียวระดับสูงสุด หรือ LEED Platinum สหรัฐอเมริกา

สุดติ่ง “เทปูนต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ โครงการวัน แบงค็อก กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2569 ประกอบด้วยออฟฟิศบิลดิ้ง เกรดเอ 5 อาคาร ที่พักอาศัยระดับลักเซอรี่ 3 อาคาร พื้นที่ร้านค้าปลีก 4 โซน โรงแรมหรู 5 โรงแรม และพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึง Signature Tower สูง 430 เมตร ในอนาคตจะกลายเป็น 1 ใน 10 ตึกสูงที่สุดในอาเซียน

สำหรับการเทฐานรากโครงการนี้ CPAC ใช้ปริมาณ “เทคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง” มากที่สุดถึง 23,725 ลูกบาศก์เมตร ด้วยอัตราการเทสูงสุด 1,150 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง นับเป็นสถิติมากที่สุดในอาเซียน ใช้รถโม่จัดส่งคอนกรีตมาหน้างาน 547 คัน ใช้เวลาเทคอนกรีตจนแล้วเสร็จ 33 ชั่วโมง 15 นาที

ตลอดทั้งกระบวนการ CPAC ให้ความสำคัญด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนตามหลักบริหารจัดการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (green operation) ทั้งในโรงงานและระหว่างการจัดส่ง อาทิ การพ่นสเปรย์ละอองน้ำภายในโรงงานและบนวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มความชื้นในบรรยากาศและป้องกันฝุ่นละออง

มีบ่อหรือระบบน้ำวนล้างล้อรถโม่ก่อนออกจากโรงงาน ตรวจสอบสภาพรถไม่ให้มีการปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐานตามกฎหมายกำหนด ใช้ผ้าใบคลุมรางเทคอนกรีตท้ายรถโม่เพื่อป้องกันเศษคอนกรีตที่ติดค้างในรางหล่นบนพื้นถนน

นวัตกรรมคอนกรีตโลว์ฮีต

คำถามคือ นวัตกรรมคอนกรีตความร้อนต่ำสูตรพิเศษ เพิ่มกำลังอัดสูงถึง 600 ksc มีข้อดีอย่างไร

ผู้บริหาร CPAC ให้คำอธิบายโดยเริ่มต้นด้วยคำศัพท์ “ksc-kilogram per square centimeter” แปลว่า กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ดังนั้น 600 ksc คือ คอนกรีตจะรับแรงอัดต่อพื้นที่ได้ 600 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ซึ่งถ้า ksc สูง ๆ ยิ่งรับน้ำหนักอาคารได้มาก

“ปกติ ksc สูงมีการใส่สัดส่วนซีเมนต์ค่อนข้างมาก แต่ใส่มากก็ทำให้เกิดความร้อน โครงการนี้เก่งตรงที่เป็น low heat ด้วย และกำลังอัดสูงมากด้วย”

ทั้งนี้ คอนกรีตความร้อนต่ำจะช่วยลดปัญหาและความกังวลเรื่องการแตกร้าวเนื่องจากอุณหภูมิ (thermal crack) ด้วยคอนกรีตพิเศษที่ถูกออกแบบให้เกิดความร้อนต่ำกว่าคอนกรีตปกติคอนกรีตจะมีการคายความร้อนออกมาหลังจากที่ซีเมนต์ในคอนกรีตทำปฏิกิริยากับน้ำ

โดยเฉพาะโครงสร้างที่มีความหนามากกว่า 50 ซม.ขึ้นไป ความร้อนที่สะสมอยู่ภายในอาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส จึงก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิผิวและอุณหภูมิภายในโครงสร้าง (differential temperature) ทำให้คอนกรีตเกิดการหดตัวและการยึดรั้งที่ต่างกัน ในที่สุดก็จะแตกร้าว (thermal crack) ทำให้น้ำและความชื้นอาจซึมผ่านโครงสร้างคอนกรีตเข้าไปทำลายเหล็กเสริม ทำให้โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบไว้

การเทคอนกรีตความร้อนต่ำที่มีกำลังอัด 600 ksc ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เทในฐานรากขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติมักจะเห็นเฉพาะโครงสร้างเสา หรือผนัง shear wall รับแรงภายในอาคารเท่านั้น เท่ากับผลงานนี้คำนึง 2-3 แง่มุม เพื่อให้งานประสบความสำเร็จ อาทิ การออกแบบที่ลดความร้อนคอนกรีตลงเพราะการเทฐานรากขนาดใหญ่เกิดความร้อนสูง, ทำงานได้ง่าย ไหลลื่น รวดเร็ว และไม่ต้องใช้พลังงานมากเกินไป (เช่น ไม่ต้องจี้เขย่าคอนกรีตมาก)

From Waste to Wealth

ปฏิบัติการเทคอนกรีตต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืนในโปรเจ็กต์ One Bangkok เป็นงานเทคอนกรีตฐานรากขนาดใหญ่อาคาร O3 ขนาดกว้าง 59.1 เมตร ยาว 91.5 เมตร หนา 4.50 เมตร ใช้เหล็กเสริม 2,200 ตัน ใช้คอนกรีตความร้อนต่ำ (low heat, fc” = 600 ksc) ปริมาตรคอนกรีตเท 23,725 ลูกบาศก์เมตร

โดยเตรียม plant ผสมคอนกรีตเพื่อจัดส่ง 38 plant แหล่งสำรองวัสดุที่ใช้ผสมคอนกรีต 21 จุด รถจัดส่งมายังหน้างาน 547 คัน ทางหน้างานจัดกรวยและรางเทคอนกรีต 105 จุด รองรับการเทคอนกรีตพร้อมกันครั้งละ 41 คัน เริ่มเทคอนกรีตศุกร์ 7 กุมภาพันธ์ เวลา 4 ทุ่ม เสร็จสิ้นในวันอาทิตย์ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 7 โมงเช้า 15 นาที รวมเวลา 33 ชั่วโมง 15 นาที

จุดที่น่าทึ่ง ยังรวมถึงการใช้ BIM (building information modeling) โมเดล 3 มิติรวมงานแบบสถาปัตย์-โครงสร้าง-ระบบเข้าด้วยกัน ช่วยลดของเสียจากการเผื่อวัสดุ ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ เวลา และต้นทุนการก่อสร้าง นำวัสดุเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้ของเสียกลายมาเป็นประโยชน์ที่เกิดกับทุกฝ่าย (from waste to wealth)