สนข.เปิดพิมพ์เขียวลงทุน 2.7 ล้านล้านบาท แผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟรองรับเขตศก.พิเศษ-อีอีซี

แฟ้มภาพ

วันที่ 22 ก.ย. 2560 นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน เปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำเสนอผลการศึกษา วัตถุประสงค์ของโครงการ และแนวทางการจัดทำแผนแม่บทตลอดจนประโยชน์ของการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุน เขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชน ร่วมงานกว่า 200 คน

นายชยธรรม์กล่าวว่า สนข.ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในภูมิภาคต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการและนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทาง พร้อมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนการดำเนินงานระยะสั้น (ระยะเร่งด่วน) เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และโครงการที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน 5 ปีแรกตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ.2560 – 2564) แผนการดำเนินการระยะกลาง เป็นโครงการที่สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปีที่ 6 – 10 ตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ.2565 – 2569) แผนการดำเนินการระยะยาวเป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายหลังปีที่ 10 ตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ.2570 – 2579)

สำหรับการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟปัจจุบัน รวมระยะทาง 2,777 กม. แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน เช่น รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, รถไฟทางคู่ สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ แผนระยะกลาง เช่น รถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ-เด่นชัย, รถไฟทางคู่สายชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด, รถไฟทางคู่สายสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, รถไฟทางคู่ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ แผนระยะยาว เช่น รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ

2) แผนพัฒนาโครงการทางรถไฟสายใหม่ (Meter gauge) รวมระยะ 2,352 กม. แบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน เช่น รถไฟสายเด่นชัย-เขียงของ, รถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม แผนระยะกลาง เช่น รถไฟสายนครสวรรค์-ตาก-แม่สอด, รถไฟสายกาญจนบุรี-บ้านภาชี แผนระยะยาว เช่น รถไฟสายมาบตาพุด–ระยอง–จันทบุรี–ตราด, รถไฟสายอุบลราชธานี–ช่องเม็ก, รถไฟสายสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก

3) แผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (Standard gauge) รวมระยะ 2,457 กม. แบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง, รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน แผนระยะกลาง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – พิษณุโลก, รถไฟความเร็วสูงสายนครราชสีมา-หนองคาย ส่วนแผนระยะยาว ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงสายพิษณุโลก-เชียงใหม่, รถไฟความเร็วสูงสายหัวหิน-สุราษฎร์ธานี, รถไฟความเร็วสูง สายสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์

4) การจัดสรรตำแหน่งคลังเก็บสินค้า (Container yard : CY) แบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน เช่น หว้ากอ, หนองปลาดุก แผนระยะกลาง เช่น ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าโลจิสติกส์นาทา ส่วนแผนระยะยาว เช่น ห้างฉัตร, สารภี

5) แผนการพัฒนาระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน คือ การศึกษาเพื่อจัดทำแผนที่นำทางของการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบไฟฟ้าในการเดินรถ ส่วนแผนระยะกลาง เช่น การก่อสร้างและติดตั้งระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางช่วงชุมทางบางซื่อ-บ้านภาชี-แก่งคอย-ถนนจิระ และยังมีแผนระยะยาวเช่น การก่อสร้างและติดตั้งระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า ในเส้นทางช่วงชุมทางบางซื่อ–หนองปลาดุก-หัวหิน นอกจากนี้ ในแผนแม่บทฯ ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย และการวางแผนจัดหารถจักรและล้อเลื่อนด้วย

ด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการตามแผนแม่บทนั้น แบ่งเป็น 3 ระยะเช่นกัน โดยรวมทุกแผนงานในระยะเร่งด่วนมูลค่า 829,802 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 642,802 ล้านบาท และจากภาคเอกชน 187,000 ล้านบาท ส่วนระยะกลางการลงทุนรวม 897,568 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 692,128 ล้านบาท และภาคเอกชน 205,441 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในระยะยาว มีมูลค่าอยู่ที่ 975,564 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 638,922 ล้านบาท และภาคเอกชน 336,642 ล้านบาท

รวมงบประมาณในการลงทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่ระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) รวมมูลค่ากว่า 2,702,934 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐทั้งสิ้น 1,973,851 ล้านบาท และจากภาคเอกชนรวม 729,083 ล้านบาท

โดยหากคิดค่าเฉลี่ยของการลงทุนในระยะเวลา 20 ปีของแผนแม่บท จะมีมูลค่าลงทุนเฉลี่ยปีละ 135,147 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐเฉลี่ย ปีละ 98,693 ล้านบาท และภาคเอกชนเฉลี่ยปีละ 36,454 ล้านบาท

สำหรับการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการลงทุนตามแผนแม่บท ซึ่งจะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2580 รวมกว่า 408,008.64 ล้านบาทต่อปี


ทั้งนี้ การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สะดวกและปลอดภัย จะเอื้อประโยชน์ให้การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาพื้นที่ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย