“คมนาคม” ทะลวงงบ 2 แสนล้าน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปลุกเศรษฐกิจปี’63

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ทุบระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่รัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการเยียวยา ยุติปัญหาโดยเร็ว เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ให้เดินหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “งบประมาณปี 2563” ที่เพิ่งบังคับใช้ จะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้ไม่มากก็น้อย ในเมื่อรัฐบาลต้องใช้เงินอีกมหาศาลเพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ส่วนหนึ่งนำมาจากงบประมาณของแต่ละกระทรวง และการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนของ “คมนาคม” ก็น่าจะเป็นกระทรวงไฮไลต์ที่จะหมุนเงินเข้าสู่ระบบได้ระดับหนึ่งในปีนี้

เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เกาะติดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563

ที่กระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณปกติจำนวน 208,317 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 37,792 ล้านบาท คิดเป็น 18% และงบฯลงทุน 170,525 ล้านบาท คิดเป็น 82% หากจำแนกงบฯลงทุนออกมา จะพบว่าเป็นงบฯผูกพัน 1 ปี จำนวน 100,442 ล้านบาท งบฯผูกพันเดิม 52,222 ล้านบาท และเป็นงบฯผูกพันใหม่ 17,961 ล้านบาท

“ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง และสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงจำเป็นต้องบริหารงบประมาณปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้”

ตั้งเป้ารายเดือน

โดยการเบิกจ่ายเดือน มี.ค.จะต้องให้ได้ 40% เม.ย. 48% พ.ค. 57% มิ.ย. 65% ก.ค. 77% ส.ค. 88% และ ก.ย. 100% ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนแผนการเบิกจ่ายใหม่ ให้เร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้ามากสุด จากเดิม เม.ย.-พ.ค. เป็นช่วงที่ประกาศประกวดราคาโครงการ และต้น พ.ค.จะเป็นช่วงเซ็นสัญญา

ดังนั้น เป้าหมายใหม่ในเดือน พ.ค. จะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 42% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 87,493 ล้านบาท, มิ.ย. 66% คิดเป็นจำนวนเงิน 137,487 ล้านบาท, ก.ค. 82% คิดเป็นจำนวนเงิน 170,819 ล้านบาท และ ส.ค. 92% คิดเป็นจำนวนเงิน 191,657 ล้านบาทจะใกล้เคียงเป้าของรัฐในเดือน ก.ย.ต้องให้ได้ 100%

“ทุกหน่วยงานยืนยันสามารถทำได้ตามเป้า ให้รายงานผลรายสัปดาห์ และจะนำประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นตัวชี้วัด (KPI) แต่งตั้งโยกย้ายช่วงปลายปีนี้ด้วย” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

ช่วยโควิดไม่กระทบงานใหญ่

นอกจากนี้ ให้แต่ละหน่วยประสานงานกับสำนักงบประมาณ เพื่อปรับแผนใช้งบประมาณใหม่ โดยจะไม่ปรับลดเงินลงทุนโครงการใหม่ แต่จะปรับลดงบฯผูกพันประมาณ 10% เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19

“หากจำเป็นต้องตัดงบฯลงทุนบางส่วนออกไปจริง ๆ กระทรวงก็พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งบางอย่างไม่เร่งด่วนก็ชะลอได้ มีหลายวิธี เช่น ตั้งงบฯผูกพันไปเป็นปีหน้า ลดเป้าหมายการเบิกจ่ายลง เป็นต้น”

ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็ยังเดินหน้าไปตามกระบวนการ ไม่ได้ติดขัดอะไร เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงินลงทุนรวมงานระบบ 142,789 ล้านบาท จะให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปี ยังอยู่ในไทม์ไลน์จะให้เซ็นสัญญาภายในเดือน ต.ค. 2563 ซึ่งปัจจุบันรอการอนุมัติร่างประกาศทีโออาร์เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลจากคณะกรรมการ PPP ที่ยังไม่มีกำหนดการประชุม