โมเดล “โดมครอบทางด่วน” ลุ้น “ม.เกษตร” เปิดทางปักตอม่อ

โมเดล

ยังลูกผีลูกคนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1-N2 และ E-W Corridor เชื่อมการเดินทางกรุงเทพฯ โซนตะวันออก-ตะวันตก ที่เขย่ารูปแบบก่อสร้างและแนวเส้นทางช่วง N1 อยู่หลายครั้ง

หลัง “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” คัดค้านไม่เอาทางด่วนสร้างเป็นทางยกระดับพาดผ่านหน้ามหาวิทยาลัย หวั่นเกิดมลพิษทางเสียงและฝุ่นละออง แต่เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี

ที่ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ศึกษาภาพรวมจะลงทุนสร้างทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนบนเส้นทางเดียวกัน ซึ่ง “คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” เปิดไฟเขียวแล้ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบนถนนเกษตร-นวมินทร์ โดยใช้เงินลงทุนร่วม 1 แสนล้านบาท

ล่าสุด “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ปรับแนวช่วง N1 จากเดิมสร้างบนถนนรัตนาธิเบศร์ตรงไปเชื่อมกับวงแหวนตะวันตก เป็นเชื่อมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก เลาะไปตามคลองเปรมประชากรจากจตุจักรผ่านหลังวัดเสมียนนารี แล้วเลี้ยวเข้าถนนงามวงศ์วาน ข้ามโทลล์เวย์ ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระยะทาง 7.1 กม. เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท จากนั้นแนวจะสร้างบนตอม่อเดิมบนเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ ไปบรรจบกับวงแหวนรอบนอกตะวันออก

ภาพจำลอง โครงการทางด่วน บริเวณ ม.เกษตรศาตร์

ม.เกษตรฯ โอเครถไฟฟ้าสีน้ำตาล

ความคืบหน้าล่าสุด “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาเชิญตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมประชุมพร้อมกับตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กทพ. กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ สนข.หารือถึงรูปแบบก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นด้วยกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและยินดีให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในรูปแบบของการรอนสิทธิที่ดิน โดยภาครัฐจะจ่ายค่าใช้จ่ายสิทธิที่ดินให้

จากข้อมูล รฟม. ต้องใช้ที่ดินปักเสาตอม่อรถไฟฟ้า 2 จุด คือ บริเวณฝั่ง ถ.วิภาวดีรังสิต ก่อสร้างทางรถไฟฟ้าจะต้องข้ามสะพานข้ามแยกบางเขนและโทลล์เวย์ ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดที่ตั้งของสถานีร่วมสถานีบางเขนสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตด้วย และจุดที่ 2 คือบริเวณฝั่ง ถ.งามวงศ์วานสร้างทางขึ้นลงสถานีบริเวณประตูงามวงศ์วาน 2 ขณะที่สถานีจะอยู่กลาง ถ.งามวงศ์วาน มีทางขึ้นลงสถานี 2 ข้าง

“สายสีน้ำตาลสร้างได้สำเร็จ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะมี 3 รถไฟฟ้าเชื่อมการเดินทาง 3 ด้าน ถ.พหลโยธิน มีสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้าน ถ.วิภาวดีรังสิต มีสายสีแดงและด้าน ถ.งามวงศ์วาน มีสายสีน้ำตาล จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูและสีม่วงที่แครายอีกด้วย คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวมทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัย ชุมชนโดยรอบ และผู้ที่ต้องเรียน ทำงานในบริเวณเดียวกันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ 80% หรือคิดเป็น 70,000-80,000 คน/วัน” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวและว่า

ผุดโดมครอบทางด่วน

ส่วนการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 กทพ. เสนอควรทำเป็นทางยกระดับโดยใช้แนว N1 เดิมเพราะช่วงทดแทน N1 ผ่านคลองบางบัวมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและติดเรื่องใช้พื้นที่ของหน่วยราชการอื่น ๆ มากมาย ส่วนแนวคิดสร้างอุโมงค์ใต้ดินทาง กทพ.ศึกษาพบว่าต้องขุดอุโมงค์ลึกลงไปใต้อุโมงค์ลอดแยกเกษตรอีก จะเพิ่มความชันช่วงทางขึ้นลงทั้งสองด้านมาก และต้นทุนก่อสร้างแพงกว่าแบบยกระดับถึง 20,000 ล้านบาท และไม่เกิดการเชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัชตามที่วางเป้าหมายโครงการไว้ ทางออกคือต้องกลับมาใช้แนวและรูปแบบเดิมสร้างยกระดับ ผ่านแยกเกษตร เข้าสู่ ถ.งามวงศ์วาน และต้องใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สร้างตอม่อร่วมกับสายสีน้ำตาล

“ข้อกังวลเรื่องมลพิษทางเสียงและอากาศ กทพ.ได้ออกแบบหลังคาครอบทางด่วนและรถไฟฟ้าตลอดแนวจากแยกเกษตรถึงแยกวิภาวดี โดยออกแบบลักษณะเป็นโดมครอบเพื่อป้องกัน ภายในมีติดตั้งเครื่องพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ถูกกว่าสร้างอุโมงค์แน่นอน ให้ตั้งคณะทำงานย่อยหารือด้านเทคนิคร่วมกับเกษตรศาสตร์อีกครั้ง นำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในอีก 2-3 สัปดาห์”

หากยังค้านไม่เลิกล้มโปรเจ็กต์

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ท่าทีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่เห็นด้วยที่ให้มีโครงการดังกล่าว มองว่ารัฐบาลสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแล้วควรส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่า ขณะที่กระทรวงมองภาพใหญ่การก่อสร้างทางด่วนเพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง รูปแบบใหม่ที่เสนอหากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่คัดค้าน จะเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับทราบต่อไปจากนั้นให้ กทพ.ออกแบบโครงการร่วมกับ รฟม.เพราะต้องใช้แนวร่วมกับรถไฟฟ้า

ขณะเดียวกันจะเริ่มทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เฉพาะช่วงทดแทน N1 พร้อมกันไปด้วย และนำโครงการช่วง N2 และต่อขยาย E-W Corridor ช่วง ถ.เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงิน 15,200 ล้านบาท ก่อสร้างก่อน เพราะ กทพ.มีเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) สำหรับการก่อสร้างแล้ว แต่หากยังคัดค้านอาจจะยกเลิกโครงการนี้ไปเลย เพราะไม่มีทางเลือกอีกแล้ว

เมื่อโปรเจ็กต์มาถึงทางตัน ต้อง “วัดใจ” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะโอเคหรือเซย์โนโมเดลใหม่ และสุดท้าย กทพ.จะปิดมหากาพย์ปลุกผีตอม่อ 281 ต้น ที่ทุ่มเงินกว่าพันล้านสร้างไปเมื่อ 26 ปีที่แล้วได้สำเร็จ หรือจะตามหลอนคนกรุงต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด


โครงการทางด่วนและรถไฟฟ้า บริเวณ ม.เกษตรศาตร์ โครงการทางด่วนและรถไฟฟ้า บริเวณ ม.เกษตรศาตร์