“คมนาคม” สปีดลงทุนครึ่งปีหลัง ลุยประมูล “เมกะโปรเจ็กต์” 1 ล้านล้าน

วันที่ 30 ก.ค.นี้ จะครบ 1 ปีที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สังกัดพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมลุยงานบก ราง น้ำ อากาศ ในบัญชีร่วม 2 ล้านล้านบาท แม้จะมี 2 รัฐมนตรีช่วยต่างพรรค “ถาวร เสนเนียม” จากประชาธิปัตย์ และ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” จากพลังประชารัฐมาช่วยงาน แต่เป็นที่รับรู้ในวงข้าราชการ งานทุกอย่างต้องผ่านการสแกนจากเจ้ากระทรวงแต่เพียงผู้เดียว

ผลงาน 1 ปีคมนาคม

ตลอด 1 ปีนอกจากจะพยายามผลักดันนโยบายซิ่ง 120 กม./ชั่วโมง ยกเลิกไม้กั้นบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ ผลิตแบริเออร์ยางพารา แกร็บถูกกฎหมาย แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการใหญ่ ส่วนใหญ่สางปมเก่า เร่งเคลียร์ดีลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปิดมหากาพย์ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) อีก 15 ปี 8 เดือน แลกยุติข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท ทะลวงค่าเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี รีสตาร์ตงานก่อสร้างหลังติดหล่มปมค่าที่ดินแพง 2 ปี เร่งงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เพื่อแก้ปัญหารถติด

ขณะที่โครงการใหม่ดูเหมือนจะ “รื้อ-ทบทวน” มากกว่าเดินหน้าทันที ไม่ว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มให้แยกประมูลหลายสัญญา จัดซื้อรถเมล์ใหม่ การเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะจัดแพ็กเกจใหญ่ให้เอกชนลงทุนแสนล้านบาทสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง แลกสัมปทานเดินรถและบริหารพื้นที่สถานีทั้งโครงการ รวมถึงสถานีไข่แดง “สถานีกลางบางซื่อ”

แต่พลันที่การเมืองเปลี่ยนทิศ ยกเครื่องทีมเศรษฐกิจ-ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ “ศักดิ์สยาม” คงยังยืนหนึ่งคมนาคม ส่วน “ถาวร-อธิรัฐ” ต้องลุ้นจะฝ่าแรงกระเพื่อมการเมืองได้หรือไม่

โด๊ปลงทุนครึ่งปีหลัง

ฟาก “ศักดิ์สยาม” ออกมาตอกหมุดดับกระแสร้อน “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะไม่มีปรับคณะรัฐมนตรีในส่วนของกระทรวงคมนาคม ทุกโครงการจึงเดินหน้าไปได้และเร็ว ครึ่งปีหลังนี้จะเห็นการขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียอีกครั้ง

“ศักดิ์สยาม” ฉายภาพการลงทุน 4 มิติในครึ่งปีหลัง นอกจากเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ 197,149.69 ล้านบาทให้ได้ตามเป้า ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี รูปแบบ PPP gross cost 30 ปี วงเงิน 39,138 ล้านบาท โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR มี บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ราชกรุ๊ป

โครงการใหม่จะเร่งประมูล PPP มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาทมาเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี จะเปิดในปี 2566 กรมทางหลวง (ทล.) กำลังสรุปปัญหาเวนคืนและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จ.เพชรบุรี เมื่อยุติจะเสนอ ครม.อนุมัติ หากยังค้านอาจจะเปลี่ยนแนวใหม่ และเร่งต่อขยายมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 7 กม.

“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณ 2563 จำนวน 105,824 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 50,000 ล้านบาท หรือ 50% เซ็นสัญญางานก่อสร้าง 1 ปีครบแล้ว เหลืองานใหญ่ 115 โครงการ จะเร่งให้เสร็จเดือน ส.ค.นี้ เริ่มเบิกจ่ายเงินงวดแรก 15% วงเงิน 12,000 ล้านบาท จะผลักดันมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ และบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ให้เริ่มต้น PPP ปีนี้

ปิดจ็อบเซ็นสัญญารถไฟไทย-จีน

งานระบบราง “ศักดิ์สยาม” แจกแจงว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท งานโยธาติดปัญหา EIA ช่วงสถานีอยุธยา เพราะต้องอนุรักษ์สถานีรถไฟเดิมกำลังหารือกับกรมศิลปากรสรุปรูปแบบก่อสร้าง

ส่วนสัญญา 2.3 งานวางราง ระบบการเดินรถ อาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633 ล้านบาท คาดว่าในเดือน ต.ค.นี้ จะเซ็นสัญญากับฝ่ายจีนที่ประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังเดินหน้าตามแผน จะสร้างเสร็จในปี 2568

ประมูลสีส้ม-สีม่วงใต้ปีนี้

สำหรับรถไฟฟ้าสารพัดสี “ศักดิ์สยาม” ลิสต์ชื่อจะประมูลปีนี้ มีสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ขายซอง TOR ถึงวันที่ 24 ก.ค.นี้ และสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ขณะที่สายสีแดงงานก่อสร้างคืบหน้า 70-80% ติดปัญหาสัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างราง ระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ระบบติดต่อสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่า 32,399 ล้านบาท ที่ช้าจากแผนและผู้รับเหมาขอยืดเวลา 500 วัน ทำให้เลื่อนเปิดบริการจาก ปี 2564 เป็นปี 2566

“สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้รถไฟศึกษาเป็น PPP แทนให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นผู้เดินรถ โดยเปิดประมูลสัญญาเดียว ทั้งก่อสร้างส่วนต่อขยาย งานระบบที่รถไฟลงทุนไปแล้ว งานโยธาที่เพิ่มขึ้นอีกหมื่นกว่าล้านบาท บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ 29 สถานีรวมถึงสถานีกลางบางซื่อ ลดภาระรัฐ เพราะจากผลศึกษาจะขาดทุน 7 ปีแรก” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

ขณะที่ทางน้ำ เร่งปิดดีลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี มี บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (ปตท.) และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากจีน ได้สรุปการเจรจาผลตอบแทนเพิ่มให้รัฐแล้ว จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ในเดือน ก.ค. และเสนอ ครม.อนุมัติเดือน ส.ค.นี้

ลุยแลนด์บริดจ์บูมภาคใต้

นอกจากนี้จะศึกษาก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกภาคใต้เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน รองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้งบฯ 75 ล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบ PPP จะเสร็จปี 2564 จะมีก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนองเชื่อม 2 ท่าเรือ ระยะทาง 123 กม. โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้งบฯศึกษาความเป็นไปได้แล้ว จะทำให้การเดินทางสองฝั่งทะเลเหลือเพียง 1 ชม. จากเดิม 2 วันครึ่ง จะพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ในอนาคต

“จะพัฒนาท่าเรือระนองและชุมพร ให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ผ่านได้ และหาพื้นที่ใหม่สร้างท่าเทียบเรือยื่นออกไปในทะเล เหมือนที่มาเก๊าและสิงคโปร์”

งานทางอากาศขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาปกติเมื่อไหร่ แต่การพัฒนาศักยภาพของสนามบินทั้งสนามบินหลักสุวรรณภูมิและดอนเมือง ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และสนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังเดินหน้าตามแผนพัฒนาที่วางไว้ และในอนาคตจะมีสนามบินอู่ตะเภา จะทำให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เป็น 180 ล้านคน/ปี

ขายไอเดีย อุโมงค์ทางด่วน

นอกจากนี้ หลังนายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้แก้ปัญหาระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งประเทศ เพื่อแก้จราจรพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จึงมีแผนจะผลักดัน 2 โครงการสำคัญนั่นคือ อุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จะนำร่องช่วง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์-สำโรง ระยะทาง 8.7 กม. ค่าก่อสร้าง 84,300 ล้านบาท ร่วมศึกษารายละเอียดกับญี่ปุ่น

อีกโครงการคือบูรณาการรถไฟทางคู่ร่วมกับมอเตอร์เวย์ หรือ MR-MAP ในปี 2564 จะศึกษารายละเอียดแนวทั้ง 8 เส้นทาง รวม 5,000 กม. แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง รวม 2,620 กม. ได้แก่ 1.เชียงราย-สงขลา ระยะทาง 1,660 กม. 2.หนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม. และ 3.บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 470 กม.

และแนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง ระยะทาง 2,380 กม. ได้แก่ 1.ตาก-นครพนม ระยะทาง 710 กม. 2.กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ระยะทาง 830 กม. 3.กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 310 กม. 4.กาญจนบุรี-ตราด ระยะทาง 220 กม. 5.ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 120 กม. และ 6.ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 190 กม.

ลุ้นงบฯฟื้นฟูโควิด-งบฯปี’64

แม้ขาหนึ่งจะลุยลงทุนต่อเนื่อง แต่จากเอฟเฟ็กต์โควิด-19 เขย่าเศรษฐกิจไทยให้ซึมลึก “ศักดิ์สยาม” ระบุว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังกลั่นกรองงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีโครงการที่กระทรวงคมนาคมเสนอไป 137,000 ล้านบาท จะพิจารณารอบที่ 2 เดือน ส.ค.นี้

“รอพิจารณา 2 โครงการ มี 90,000 ล้านบาท ก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและท่องเที่ยวภายในประเทศอีก 40,000 ล้านบาท เป็นแผนใช้ยางพาราผสมสร้างอุปกรณ์เสาหลักนำทางและแบริเออร์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน”

ยังรอลุ้นงบประมาณ 2564 ที่ยื่นคำขอ 231,924.78 ล้านบาท แยกเป็นงบฯส่วนราชการ 193,554.31 ล้านบาท และงบฯส่วนรัฐวิสาหกิจ 38,370.47 ล้านบาท เป็นงบฯสำหรับเน้นการดำเนินการสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางบก 186,359 ล้านบาท ทางราง 33,603 ล้านบาท ทางน้ำ 4,867 ล้านบาท ทางอากาศ 6,120 ล้านบาท

เร่งปลดหนี้รถไฟ-ขสมก.

ขณะเดียวกัน เร่งแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ที่แบกหนี้ 1.67 แสนล้านบาท สั่งการให้ “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คนใหม่ เร่งดำเนินการโดยเร็ว ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีภาระหนี้ 1.29 แสนล้านบาท คณะทำงานจะเร่งสรุปประเด็นคำถามต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังเคลียร์หนี้ที่รัฐจะรับภาระให้ จะเสนอ ครม.อนุมัติต้นเดือน ส.ค.นี้

เนื่องจากแผนมีปรับใหม่จากมติ ครม.เดิม เปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่ารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น NGV EV จำนวน 2,511 คัน จ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง ระยะเวลา 7 ปี จะรับมอบรถกลางปี 2564-2565 ยังมีปรับปรุงเส้นทางเดินรถใหม่ จาก 269 เส้นทาง เหลือ 108 เส้นทาง ลดความซับซ้อน เก็บอัตราค่าโดยสารเป็นตั๋ววัน 30 บาท นั่งได้ทุกสายทั้งวัน

หากเดินตามแผนใหม่จะทำให้ ขสมก.มีผลการดำเนินงาน เป็นบวกใน 7 ปี ต่างจากแผนเดิม 4 ปี เพราะกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่างกันจากเดิมใช้โครงสร้างคิดตามระยะทาง 15-20-25 บาท/คน/เที่ยว