ลากยาวสัมปทาน สีเขียว-สีส้ม เดิมพันแสนล้าน ภูมิใจไทย VS กทม.

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ดูท่าจะลากยาวสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” กำลังรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะขยายสัญญาสัมปทานให้ “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” อีก 30 ปี นับจากปี 2572-2602 พร้อมเขย่าโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ เสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15-65 บาท

คาด ครม.เคาะหลังอภิปราย

แนวโน้มดีลนี้คงไม่ปิดในเร็ววัน รอให้พ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ครม.” ถึงหยิบเผือกร้อนมาพิจารณา หาก “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีผลีผลามจะกลายเป็นสายล่อเป้า

ระหว่างรอ ครม.ทุบโต๊ะ ผู้ว่าฯ กทม. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ชิงประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่จะเริ่มใช้วันที่ 16 ก.พ. 2564 หลังหมดเวลาให้นั่งฟรี 2 ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ หวังนำรายได้โปะหนี้ค่าจ้างบีทีเอสเดินรถ 9,200 ล้านบาท

ค่าโดยสารใหม่เป็นราคาชั่วคราว จะปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท เริ่มต้น 15 บาท สูงสุดไม่เกิน 104 บาท แยกเป็นส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ราคา 15-45 บาท

ช่วงสัมปทานสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน และกรุงธนบุรี-วงเวียนใหญ่ เก็บปกติ 16-44 บาท เนื่องจากสัมปทานยังไม่สิ้นสุด ส่วนต่อขยายช่วงสถานีบางจาก-สถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ ราคา 15-45 บาท และช่วงสถานีโพธิ์นิมิตร-บางหว้า 15-24 บาท

บีทีเอส

กทม.แจงเก็บค่าตั๋วใหม่

โดย กทม.แจงเก็บค่าโดยสารใหม่ส่วนต่อขยายเพราะไม่ได้เก็บ 3 ปี แต่เมื่อสายสีเขียวเปิดเต็มทั้งระบบแล้ว จำเป็นต้องเก็บ และราคาสูงสุด 104 บาท โดยปรับลดจากเดิม 158 บาท และมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564-2572 จะขาดทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

ขณะที่การต่อสัญญาสัมปทาน เห็นว่า PPP เหมาะสมให้เอกชนรับภาระหนี้ 120,000 ล้านบาท ทำให้ กทม.สามารถกำหนดค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร หาก ครม.เห็นชอบจะเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท

สัมปทานใหม่ จะปลดภาระให้ กทม. หนี้สินค่างานโยธา 55,000 ล้านบาทดอกเบี้ย 10,000 ล้านบาท งานระบบ 20,000 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถ 9,000 ล้านบาท ผลขาดทุนส่วนต่อขยายปี 2564-2572 อีก 30,000-40,000 ล้านบาท และ กทม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้หลังปี 2572 จนสิ้นสุดสัญญากว่า 200,000 ล้านบาท และส่วนแบ่งเพิ่มเติมอีก

คลอดตั๋วเที่ยวสีม่วง-สีน้ำเงิน

พลันที่ “กทม.” ออกประกาศ วันรุ่งขึ้น “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สั่ง “คมนาคม” เรียกร้อง กทม.ชะลอการเก็บค่าโดยสารสายสีเขียว พุ่งเป้าขย่มราคาสูงสุดที่แพงเมื่อเทียบค่าแรง ซึ่งก็ตรงใจประชาชน จากนั้นอีกไม่กี่วันสั่ง “รฟม.” ผุดตั๋วเที่ยว หลังยกเลิกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ออกมาข่มบีทีเอส โดยวาระนี้ถูกพิจารณาในบอร์ด รฟม.วันที่ 20 ม.ค.แบบไม่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองวาระเหมือนทุกครั้ง

ครั้งนี้ รฟม.ผนึก “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน หั่นสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) เริ่ม 1 ก.พ. 2564 มีตั้งแต่ 15-60 เที่ยว ราคา 450-1,200 บาท เฉลี่ย 20-30 บาทต่อเที่ยว สายสีน้ำเงิน มี 15-50 เที่ยว 30 วัน ราคา 450-1,250 บาท เฉลี่ย 25-30 บาทต่อเที่ยว และบัตร Multiline Pass เดินทางข้ามระบบสีน้ำเงินกับสีม่วง มี 15-50 เที่ยว 30 วัน ราคา 810-2,250 บาท เฉลี่ย 45-54 บาทต่อเที่ยว

โดย รฟม.รับภาระค่าแรกเข้าแทนประชาชน 14 บาท และไม่คิดค่าแรกเข้าเมื่อซื้อตั๋วเที่ยวนั่งข้ามระบบ พร้อมเคลมตั๋วเที่ยวของสีน้ำเงินถูกกว่าบีทีเอส 1 บาท และใช้เดินทางได้ตลอดสาย แต่ของบีทีเอสใช้ได้เฉพาะสัมปทานเดิมเท่านั้น

คมนาคม-กทม.ซัดกันนัว

นอกจาก “คมนาคม” จะงัด 4 ข้อบีบให้ กทม.แจง ครม.ให้ครบ 1.ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 2.เสียประโยชน์ในการใช้ทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของรัฐในปี 2572 3.ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทแพงกว่าสายสีน้ำเงิน และ 4.ข้อพิพาทสัญญาจ้างเดินรถหมดปี 2585 ถูกยื่นไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังแตะมือ “โสภณ ซารัมย์” ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ บีบ กทม.แจงปมขยายสัมปทานและให้ชะลอเก็บค่าโดยสารใหม่จนกว่าจะได้ข้อยุติสัมปทาน

“การเสนอความเห็นดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกับกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เป็นการเสนอประเด็นคำถามเพิ่มเติมที่อาจตกหล่นไปเท่านั้น เป็นการทำหน้าที่ปกติ” นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำ

ฝั่ง “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” พ่อเมืองเสาชิงช้าก็ตอกกลับดุเดือด “ตอบคำถาม 4 ประเด็นต่อเลขาฯ ครม.แล้ว ไม่ใช่เป็นการตอบคำถามไปที่คมนาคม กทม.ไม่เคยยุ่งกับคมนาคม แล้วคมนาคมมายุ่งกับ กทม.ทำไม ถ้าเห็นว่าค่าโดยสารควรถูกกว่านี้ กทม.ก็คิดบ้างได้ไหมว่า การประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิก็ควรจะได้ราคาที่ดีกว่านี้หรือไม่ บ้านคุณเก็บกวาดหรือยัง ถึงมาเก็บกวาดบ้านคนอื่น”

อัศวินไม่ถอยเก็บ 15-104 บาท

ล่าสุดปมค่าโดยสารแพง “ผู้ว่าฯอัศวิน” ออกมาโต้ “จำเป็นต้องเก็บวันที่ 16 ก.พ.นี้แน่นอน หากจะให้ชะลอ ครม.ต้องสั่ง เพราะถ้าไม่เก็บไม่รู้จะทำอย่างไร ยืนยันสิ่งที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย หากเห็นว่าไม่มีความจริง ไปยื่น ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้เลย ส่วนสัมปทานสายสีเขียวจะผ่าน ครม.เมื่อไหร่ ยังไม่ทราบ รอ ครม.ตัดสินใจ”

จากปฏิบัติการออกโรงค้านของ “คมนาคม” หลายคนมองว่าอาจจะเป็นศึกคุกรุ่นจากปมประมูล PPP สายสีส้ม “บางขุนนนท์-มีนบุรี” วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ระหว่างเจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด กรณี “รฟม.” เปลี่ยนเกณฑ์ชี้ขาดผลประมูลกลางคัน จนทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อ ต้องรอคำตัดสินจากศาลปกครอง

ในเมื่อเดิมพันสัมปทานสายสีเขียว-สีส้มนั้นสูง จึงยากที่จะลงเอยได้ง่าย แต่ไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย อย่าผลักภาระให้ประชาชน เพราะถึงค่าตั๋วรถไฟฟ้าจะถูกลง แต่ถ้านั่งหลายสายก็ต้องควักหลายต่อกว่าจะถึงจุดหมาย คงถึงเวลาที่ “คมนาคม” ต้องโชว์ทำคลอด “ระบบตั๋วร่วม” ให้เกิดซักที หลังแท้งแล้วแท้งอีกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา