ศาลปกครองสูงสุด ยืนทุเลาคำสั่งประมูลสัญญา 3-1 รถไฟไทยจีน

ศาลปกครอง

ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้นยืนทุเลาคำสั่ง กรมบัญชีกลาง ระงับประมูลไฮสปีดไทย-จีนสัญญา 3-1 ไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ชี้การยกเว้นคุณสมบัติให้ “บีพีเอ็นพี” ส่อไม่ชอบกฎหมาย ส่วนข้ออ้างกระทบโครงการฟังไม่ขึ้น เพราะ 14 สัญญา เพิ่งเสร็จแค่สัญญาเดียว-ประมูลงานเป็นเอกเทศไม่เกี่ยวกัน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น กรณีคณะกรรมการดังกล่าว มีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา งานโยธาสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30 กม.ราคากลาง 11,063 ล้านบาทของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามมาตรา 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

สำหรับโจทก์และจำเลยที่มีในคดีนี้ประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีคือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป และมีบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เป็นผู้ร้องสอด และผู้ถูกฟ้องคดีมี 3 ราย ประกอบด้วย 1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2. คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง

ยกเว้นคุณสมบัติส่อไม่ชอบ

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่ใช้หนังสือคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุดที่ กค (กนบ) 0405.2/ว410 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เรื่อง การกำหนดแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ และวิธีสอบราคา และหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุดที่ กค (กวล) 0405.2/ว289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เรื่อง แนวปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า เป็นแนวพิจารณาให้แก่ บีพีเอ็นพีเป็นการเฉพาะรายนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เพราะตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง การพิจารณาจะต้องโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องปฏิบัติกับผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน การยกเว้นเฉพาะให้บีพีเอ็นพีอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้ เพราะบีพีเอ็นพีนำบุคคลธรรมดาเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่เป็นนิติบุคคลและไม่มีผลงานตามเงื่อนไขของ TOR และการนำผลงานของบริษัท บีทู พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด มาแสดงแต่ไม่ระบุมูลค่างาน ก็ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใน TOR อีก การยกเว้นตามหนังสือดังกล่าวจึงเป็นการยกเว้นในสาระสำคัญ อาจจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้

การสั่งทุเลาไม่กระทบโครงการ

นอกจากนี้ การที่อ้างว่า หากศาลมีคำสั่งทุเลาจะส่งส่งผลกระทบต่อโครงการนี้ ศาลเห็นว่าปัจจุบันงานก่อสร้างทั้ง 14 สัญญา มีเพียงสัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศกเท่านั้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างส่งมอบงานงวดสุดท้าย ส่วนอีก 13 สัญญา ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมีการประกวดราคาที่แยกจากกันและดำเนินการแบบเอกเทศ

ประกอบกับ ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนใช้บริการหรือขนส่งสินค้าแต่อย่างใด ดังนั้น การทุเลาคำสั่งจึงไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานและการบริการสาธารณะของ ร.ฟ.ท. แต่อย่างใด

ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งทุเลาคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางต่อไป