กทม.เล็งฟื้นฟูคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก ขุดสมัยพระเจ้าตาก

กทม.เล็งฟื้นฟูคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก ส่งหนังสือ “กรมศิลป์” พิจารณาอนุมัติแล้ว

วันที่ 14 กันยายน 2564 นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก (คลองบ้านขมิ้น, คลองบ้านหม้อ) คลองคูเมืองฝั่งตะวันตก เป็นคูคลองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น เพื่อใช้ป้องกันอริราชศัตรูเข้ามาจู่โจมพระนคร โดยขุดไว้ทั้ง 2 ฝั่งคือ คลองคูเมืองฝั่งตะวันออก หรือคลองคูเมืองเดิมในปัจจุบัน และคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก

โดยขุดแยกจากคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันคือ บริเวณใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ ผ่านวัดโมลีโลกยาราม วัดอรุณราชวราราม วัดเครือวัลย์วรวิหาร ตัดคลองนครบาลหรือคลองวัดอรุณ จากนั้นตรงขึ้นไปตัดกับคลองมอญ ตรงขึ้นไปตัดกับคลองวัดระฆัง ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ก่อนไปออกคลองบางกอกน้อยบริเวณใกล้ ๆ กับวัดอมรินทราราม

ลักษณะกายภาพของคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก ด้านเหนือมีชื่อเรียกว่า คลองบ้านขมิ้น เริ่มจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงคลองมอญ ความยาวประมาณ 1.59 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ปัจจุบันบริเวณทางรถไฟ ใต้วงแหวนอรุณอมรินทร์ไม่เหลือสภาพคลองแล้ว เป็นท่อระบายน้ำใต้ทางรถไฟ เพื่อระบายน้ำออกไปยังคลองบางกอกน้อย ความยาวประมาณ 60 เมตร

ส่วนทางด้านใต้มีชื่อเรียกว่าคลองบ้านหม้อ เริ่มจากคลองมอญไปจนถึงคลองบางกอกใหญ่ ความยาวประมาณ 0.97 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.56 กิโลเมตร ความกว้างคลองประมาณ 4-10 เมตร มีค่าระดับขุดลอกตามแผน เท่ากับ -1.50 เมตรจากค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ตลอดความยาวคลองบางช่วง มีการก่อสร้างเขื่อนแล้วความยาวประมาณ 1,500 เมตร เป็นเขื่อนรูปแบบมีค้ำยันกลาง และส่วนที่ยังไม่มีเขื่อนบางแห่งมีสภาพเป็นชานดินความยาวประมาณ 1,000เมตร

บางช่วงมีการรุกล้ำของสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งสภาพคลองบางช่วงมีความตื้นเขินและมีต้นไม้ขึ้นรกร้าง ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนโบราณสถานกับทางเว็บไซต์กรมศิลปากร ปรากฏคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก (คลองบ้านขมิ้น, คลองบ้านหม้อ) เป็นโบราณสถาน สถานการณ์พิจารณาขณะนี้อยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนกับทางกรมศิลปากร

สำหรับขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการกับทางกรมศิลปากร (อ้างอิงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง) กรุงเทพมหานครจัดทำรูปแบบเรียบร้อยแล้ว โดยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานร่วมประชุมพิจารณา โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามระเบียบพัสดุเพื่อหาตัวผู้รับจ้าง และมติที่ประชุมให้เพิ่มเติมแก้ไข เช่น ให้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี เพิ่มเติมแก้ไขรูปแบบ เป็นต้น

ต่อมากรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ แล้วเสร็จ ส่งเรื่องถึงอธิบดีกรมศิลปากรพิจารณา

ปัจจุบันคลองคลองคูเมืองฝั่งตะวันตกมีความแตกต่างกับคลองคูเมืองฝั่งตะวันออกโดยสิ้นเชิง ทั้งจากการปลูกสร้างต่อเติมที่อยู่อาศัยของประชาชนที่รุกล้ำลงไปในคูคลอง การทิ้งขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชน การถูกปิดกั้นตามแนวคูคลองด้วยการถมคลองเปลี่ยนเป็นถนนและสะพาน รวมถึงการก่อสร้างคานคอนกรีตกั้นระหว่างแนวคลองเป็นระยะ ๆ เรือไม่สามารถสัญจรผ่านคูคลองได้ ส่งผลให้สภาพวิถีชีวิตริมฝั่งคลองเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก (คลองบ้านขมิ้น, คลองบ้านหม้อ) การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง การจัดเก็บขยะกำจัดวัชพืช การขุดลอกคลองบางช่วงที่ตื้นเขิน เพื่อเปิดทางน้ำไหลเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนถ่ายเทของน้ำ คืนประวัติศาสตร์ความเป็นคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตกดั่งเช่นอดีตที่ผ่านม