3 ประเด็นที่ไม่ควรเขียนให้เป็นเรื่องปกติสำหรับนิยายยุคใหม่!

ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ค่านิยมบางอย่างก็เปลี่ยนไป แว่นหรือไม้บรรทัดที่เหล่าผู้อ่านใช้วิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรมหรือนิยายที่อ่านก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย พล็อต เค้าโครงเรื่อง ประเด็นยิบย่อยบางประเด็นที่มีปัญหากลับถูกผลิตซ้ำ ๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ มากไปกว่านั้น เรื่องปกติที่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติกลับถูกบรรยายเพิ่มเติมให้เป็นเรื่องที่ดี (ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่ดี) ชวนฝัน ชวนฟิน หรือเป็นเรื่องสนุก ขบขันให้กับผู้อ่านหลาย ๆ คนซะงั้น

ดังนั้น วันนี้เราเลยจะมาพูดถึง 3 ประเด็นที่นักเขียนนิยายไม่ควรเขียนให้เป็นเรื่องปกติ (Normalize) หรือบรรยายออกมาให้เป็นเรื่องที่ดี สร้างภาพจำชวนฝันผิดๆ (Romanticize) ให้กับผู้อ่านในยุค 2021

1. การคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) หรือการกระทำชำเรา (Sexual Assault)

การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมมานาน และไม่ว่าจะเวลาผ่านไปกี่ปี ก็ยังไม่มี่แววว่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การแซว พูดทะลึ่งตึงตัง หรือพูดจาแทะโลมผู้อื่น การลวนลาม จูบ หรือสัมผัสร่างกายผู้อื่นโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม รวมถึงการข่มขืน หรือการพยายามที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้ยินยอม ซึ่งอย่างสุดท้ายถือว่าเป็นความผิดฐานพยายามกระทำชำเรา

แต่ปัญหาการกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเหล่านี้กลับถูกผลิตซ้ำๆ ในนิยาย โดยเฉพาะนิยายรักตบจูบ จนกลายเป็นเรื่องปกติ คนหลายคนไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของการกระทำเหล่านั้น ซ้ำร้ายบางคนก็มองว่าเป็นเรื่องน่าจิ้นชวนฝัน เพราะสุดท้ายนิยายก็จบแบบตัวละครตกหลุมรักกัน และอยู่กับอย่างมีความสุข ทั้ง ๆ ที่เหยื่อหรือผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศในชีวิตจริงกลับต้องอยู่อย่างเจ็บปวดและทรมานกับฝันร้ายที่ต้องเจอ ดังนั้น การทำให้การล่วงละเมิดทางเพศหรือการกระทำชำเราเป็นเรื่องปกติจึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อต่าง ๆ รวมถึงนิยาย เพราะสื่อเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมุมมองของคนในสังคม (Media Effect)

2. โรคใคร่เด็ก (Pedophilia)

โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางจิตที่มีความปรารถนาทางเพศหรือเกิดอารมณ์ทางเพศกับเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์มากกว่าคนที่บรรลุนิติภาวะหรือคนวัยใกล้เคียงกัน อายุโดยเฉลี่ยของเด็กจะอยู่ในช่วงอายุ 13 ปี อย่างไรก็ตาม ก็รวมถึงเหยื่อที่มีอายุน้อยกว่าค่าเฉลี่ยด้วย เช่น เด็กอนุบาลและเด็กประถม สำหรับสาเหตุของโรคนั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เห็นกันไปในทางเดียวกันว่าเป็นผลกระทบจากการเลี้ยงดูหรือประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก

สาเหตุที่นักเขียนนิยายไม่ควรเขียนให้การมีความรักกับเด็ก หรือตัวเอกไปลงรักเด็กเป็นเรื่องปกติ ทำให้ผู้อ่านมองว่าน่ารัก น่าเชียร์นั้น เพราะโรคใคร่เด็กเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคนคุ้นเคย ใกล้ชิด สนิทสนมกับครอบครัวของเด็ก ซึ่งพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศนั้นจะเริ่มจากการสร้างความไว้ใจกับเด็ก เริ่มหาโอกาสอยู่กับเด็กตามลำพัง สัมผัส กอดจูบลูบไล้ร่างกายของเด็กรวมถึงจุดเร้าอารมณ์ เช่น อวัยวะเพศ ไปจนถึงการหลอกล่อหรือบังคับให้เด็กถอดเสื้อผ้าหรือร่วมเพศกัน

3. ความรักร่วมสายเลือด (Incest)

ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าความรักร่วมสายเลือด หรือ Incest ปรากฏอยู่ในสังคมเกือบทุกยุคสมัย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงของชนชั้นสูง ราชวงศ์ รวมถึงเรื่องราวจากนิยายปรัมปราชื่อดังอย่างปกรณัมกรีก (Greek Mythology) ก็ตาม ความรักร่วมสายเลือด (Incest) ก็ยังเป็นเรื่องต้องห้าม (Taboo) มาอย่างเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน ผิดทั้งกฎศีลธรรมและกฎหมาย

แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง (Controversial) ว่าควรยอมรับไหมถ้าหากทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุนิติภาวะและยินยอมพร้อมใจทั้ง 2 ฝ่าย หากก็มีข้อโต้แย้งที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีสายเลือดร่วมกันหรือมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ จะส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายแบบในรุ่นลูก (และส่งผลต่อไปยังรุ่นหลานได้) รวมถึงการที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าความสัมพันธ์ Incest นั้นเกิดจากความยินยอมพร้อมใจจริงๆ หรือไม่ เช่น ความสัมพันธ์ Incest ระหว่างพ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย เป็นต้น

จบกันไปแล้วกับ 3 ประเด็นที่นักเขียนนิยายยุคใหม่ไม่ควรเขียน ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นประเด็นที่สามารถเขียนหรือสอดแทรกลงไปในเนื้อหานิยายของคุณได้ เพียงแต่ไม่ควรเขียนให้เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องฟิน ๆ แล้วลดทอนความรุนแรงของปัญหาที่มีอยู่ในสังคมจริง ๆ เพราะอาชีพนักเขียนเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีอิทธิพลต่อสังคมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม