“ทฤษฎีใหม่” ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ทางรอดประชาชน-สังคมไทย

“โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระภัทรมหาราช มาประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤต และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เล่าถึงหัวใจและความสำคัญของโครงการที่จะนำพาให้ชีวิตประชาชนมีความรู้ มีกิน มีใช้ ในห้วงสถานการณ์วิกฤตนี้

สำหรับจุดเริ่มต้น นายสุทธิพงษ์ เผยว่า เดิมทีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นเจ้าภาพในนามตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวเนื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว ตั้งแต่ประมาณช่วงปี พ.ศ.2548 ในชื่อว่า “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” จากนั้นได้มีการทำงานต่อเนื่องมาตลอด จนมาถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผมได้เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 ตัวผมเองได้มีโอกาสไปฝึกอบรมจิตอาสา 904 และก็มีโอกาสไปฝึกอบรมเรื่องของการน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง กับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ มาก่อนหน้านั้น พอผมมารับตำแหน่งก็ได้น้อมนำหลักและทฤษฎีที่พระองค์พระราชทานไว้มาขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือประชาชนต่อ

“ทฤษฎีใหม่” เป็นทฤษฎีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงค้นพบและพระราชทาน ไว้ให้คนไทย มีมากกว่า 40 ทฤษฎี ในการจัดพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน พวกเราสามารถน้อมนำเอาสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานเอาไว้ มาช่วยให้การดำรงชีวิต ทำมาหากิน ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดี ต่อตัวเอง ต่อชีวิต ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ได้มากมายหลายทฤษฎี ตัวอย่างเช่นปัญหาที่บ้านเรามักประสบ คือ วิกฤตภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อน ชาวบ้านหลายพื้นที่ไม่มีน้ำใช้ “ทฤษฎีหลุมขนมครก” จึงเป็นคำตอบสำคัญในการทำรูปแบบที่กักเก็บน้ำ เป็นจุดๆกระจายอยู่เต็มพื้นที่ โดยไม่ต้องทำที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ทำจุดเล็กๆ ให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำ หรือทำให้เกิดความชุ่มชื้นของดิน เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ดีได้ง่ายและได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ หรือยังมีทฤษฎี ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกไม้ต่างระดับ 5 ชั้น หรือทฤษฎีการห่มดิน เหล่านี้ล้วนเป็นทฤษฎีใหม่ทั้งสิ้น รวมทั้งเรื่องฝนหลวง ฝนเทียม ที่พระองค์ทรงพระราชทานทฤษฎีไว้มากมาย

นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา พช. เราได้ทดลองขับเคลื่อน น้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โดยมีส่วนสำคัญ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1) การทำให้คนมีความรู้ความเข้าใจและได้ฝึกปฏิบัติจริง หรือที่เรียกว่า learning by doing ในขั้นตอนนี้ พช.เรา ได้นำเอาข้าราชการทุกระดับมาฝึกอบรม ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เพื่อเรียนรู้และถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชน 2 ) เมื่อคนมีความเข้าใจแล้ว ก็ต้องลงมือทำจริงในพื้นที่ของตัวเอง ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต คือต้องพัฒนาพื้นที่ของตัวเองให้เป็น โคก หนอง นา และนำหลักทฤษฎีใหม่ลงไปใช้ เพื่อให้เกิดผลในแง่ของการสร้างความอุดมสมบูรณ์ ตามบันได 4 ขั้นแรก ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเรื่องของการ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น เพื่อทำให้ครอบครัวมีความสุขมีกิน มีที่อยู่อาศัย แล้วทำให้พื้นที่อาณาบริเวณอุดมสมบูรณ์ ไม่มีการใช้สารพิษสารเคมีใดๆทั้งสิ้น

จากนั้นมาทางกรมก็เริ่มทำพื้นที่ต้นแบบนำรองที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ทั่วประเทศ และศูนย์ของภาคีเครือข่าย อีก 22 แห่ง รวมเป็น 33 แห่ง สำเร็จขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเราถึงถ่ายทอดไปสู่พี่น้องประชาชน เริ่มแรก 1,500 ครอบครัว เริ่มทดลองทำกับชาวบ้าน ในพื้นที่ขนาดเล็กหน่อย พอไปทำแล้วได้ผลดี ตรงตามหลักที่ศึกษาอบรมมา คือพื้นที่สวยงาม สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เองได้ในหน้าแล้ง หน้าฝนน้ำก็ไม่ไหลบ่าไปท่วมพื้นที่อื่น มีที่ให้น้ำอยู่ ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนในเรื่องของอุทกภัย และเราก็มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีพืชผักสวนครัว มีไม้ยืนต้นเกิดขึ้น ประชาชนก็มีความสุขความพอใจ

ในช่วงจังหวะนั้นก็เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้ทุกกรมได้ยื่นของบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาด กรมการพัฒนาชุมชนได้นำเอาบัญชีรายชื่อคนที่ตกงาน ขาดรายได้และได้รับผลกระทบโดยมีผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วม ประมาณ 34,000 ครอบครัว ยื่นขอในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบนี้ มีงบประมาณ 4,700 ล้านบาท โดยจะมีการจ้างงาน คนที่ตกงาน รวมถึงคนที่ผ่านโครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการที่จะคืนคนดีกลับสู่สังคมเพื่อให้เขาสามารถที่จะไปประยุกต์ทฤษฎีนี้ กลับไปใช้ทำมาหากินหลังพ้นโทษ

ในการขับเคลื่อน เราใช้ชื่อว่า “นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ” ไม่ใช้คำว่าลูกจ้าง สาเหตุเพราะว่าเราต้องการกระตุ้น ให้คนที่สมัครเข้ามาได้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะศึกษาหาความรู้ในโปรแกรมนี้ เราให้ไปฝึกอบรมในหลักสูตร 5 วัน 4 คืน ให้เขามีความเข้าใจ ซึ่งพวกเราได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ , มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สจล. ที่มีคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมมาช่วยงาน , สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีวิศวกรทั่วประเทศก็มาช่วยทำด้วยจิตอาสา อีกทั้งยังมีเครือข่ายคณะสงฆ์เข้ามาร่วมมือกันเป็นภาคีขับเคลื่อนเรื่องดีๆนี้ไปสู่พี่น้องประชาชน พวกเราก็ได้พูดคุยติดตามงาน ผลปรากฎเป็นที่น่าพึงพอใจมาก จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ผมเล่าวันนี้มาสู่โครงการที่มีคนร่วมมากกว่า 50,000 คน เป็นที่น่าภาคภูมิใจ เพราะมีผลตอบรับที่ดีมากจากพี่น้องประชาชน

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการประกอบด้วย 7 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรม 2) ปรับปรุงพื้นที่ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ 3) การสร้างงานสร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน 4) การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน 5) การบูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล 6) การพัฒนาสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย และ 7) การพัฒนาระบบดิจิทัลรองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูล ที่สามารถใช้ต่อยอดในประโยชน์ด้านต่างๆ ในอนาคต

อีกทั้งยังมีการดำเนินการจัดเก็บภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน):GISTDA เข้ามาช่วย เก็บรวบรวมประมวลผลการดำเนินงานของพื้นที่ในก่อนและหลังดำเนินการว่ามีสภาพการพัฒนาเปลี่ยนไปอย่างไร เปลี่ยนสภาพจากทุ่งโล่งๆสีน้ำตาล เหมือนเขาหัวโล้น จากสภาพแห้งแล้ง กลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียวชอุ่มสวยงาม ตลอดทั้งปีได้

นอกจากด้านการสร้างอาชีพจ้างงานในยามวิกฤตแล้ว เรายังมีวัตถุประสงค์เราต้องการให้เกิดความรักความสามัคคี อยากดึงเอาสังคมไทยในอดีตกลับมาใหม่ นั่นคือสังคมแห่งน้ำใจ สังคมแห่งความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเจือจุน ยังมีกิจกรรม “การเอามื้อสามัคคี” เป็นการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง แบ่งคน แบ่งงาน ภายใต้แนวคิด “คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง”

ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับมาตรฐาน ผลิตผล ผลิตภัณฑ์จากแปลง โคก หนอง นา และภาคีเครือข่ายของเรามาเสริม ช่วยสอนช่วยแนะนำเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ กับพี่น้องประชาชน เราต้องการให้เกิดการรวมตัวรวมผลิตภัณฑ์ต่อยอด เพื่อพัฒนา ผลิตเข้าสู่ตลาดด้วย ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์ขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ แปรรูป ภาคีเครือข่ายก็จะเข้ามาช่วยและดูแลเรื่องทั้งหมดนี้ รวมถึงตลาดที่จะขายด้วย สำคัญที่สุดคือการเน้นย้ำว่าการดำเนินโครงการทั้งหมดนี้จะต้องไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้สารพิษ ในการดูแลทางการเกษตรเลย

การดำเนินงานที่ผ่านมาก็มีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายก็พอใจและเห็นว่า เรื่อง โคก หนอง นา คือมิติใหม่และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และยังมีลักษณะสำคัญเหมือนกับเป็นการปฏิวัติเขียว และจะเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิรูปประเทศเรา ให้อยู่รอดปลอดภัย และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ได้ โดยการน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา เป็นคำตอบเพื่ออนาคต