สปป. ลาว กางแผนทิศทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศในอาเซียนที่น่าลงทุน

สปป.ลาว เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ จากความได้เปรียบของการตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงประเทศสมาชิก GMS ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และจีนตอนใต้ ที่มีโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ทุกสาย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วปานกลางลาว-จีน ซึ่งกำลังจะสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ ที่จะทำให้ สปป.ลาว กลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง GMS กับเส้นทางขนส่งสำคัญของจีนต่อเนื่องถึงยุโรป ถือเป็นการเปิดประตูการค้าที่ยกระดับความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างน่าจับตามอง

และด้วยความที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ทำให้เหมาะแก่การสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ทั้งในประเทศและส่งออก จนมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย โดยคาดว่าภายในปี 2573 สปป.ลาว จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 21,000 เมกะวัตต์ จากการผลิตทั้งหมดของประเทศที่ประเมินว่าระยะยาวจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 เมกะวัตต์

ประชาชาติธุรกิจได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ท่านสุลีวัด สุวันนะจุมคำ อธิบดีกรมการเงินต่างประเทศและคุ้มครองหนี้สิน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถึงทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศนับจากนี้

โควิดสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก ทาง สปป.ลาว ได้รับผลกระทบอย่างไร

ผลกระทบในปี 2563 อย่างแรกคือการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากเบื้องต้นที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า GDP จะเติบโตสูงกว่า 4% เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด ก็มีสถาบันการเงินต่างประเทศอย่างธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณการว่า การเติบโตจะติดลบหรือบวกไม่ถึง 1% แต่พอถึงปลายปี ก็มีรายงานตัวเลข GDP จากศูนย์สถิติแห่งชาติ ที่สรุปตัวเลขออกมาเติบโต 3.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบวก และดีกว่าการคาดการณ์จากหลาย ๆ องค์กรก่อนหน้านี้

สำหรับปี 2564 ได้คาดการณ์ไว้ว่า GDP จะเติบโตประมาณ 3.8-4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่คาดการณ์อย่างระมัดระวัง แต่เนื่องด้วยการระบาดของโควิดในเวฟที่ 2 ขณะนี้จึงทำการทบทวนถึงผลกระทบว่ามีมากน้อยอย่างไร อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตของ GDP จะไม่น้อยกว่าปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการค่อนข้างเข้มงวดในส่วนของการควบคุมการระบาดในตัวเมืองและชุมชน และการดำเนินกิจการตามเศรษฐกิจต่าง ๆ

ในส่วนของกิจการต่าง ๆ นั้น ยังดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ เนื่องจากการระบาดส่วนมากมาจากเขตกักกัน (Quarantine) และแรงงานที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ จึงไม่มีการแพร่เชื้อในแรงงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ดังนั้นโครงการต่าง ๆ จึงสามารถดำเนินการไปได้ตามแผนและเสร็จตามกำหนด เช่น โครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ลาว-จีน ระยะทาง 471 กิโลเมตร ที่เชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับบ่อเต็น เมืองที่มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการอินฟราสตรักเจอร์ขนาดใหญ่อื่น ๆ โครงการเหมืองแร่ และโครงการโรงไฟฟ้า ที่ยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้

แผนการพัฒนาและลงทุนในโครงการประเภทโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

อย่างที่กล่าวไป สำหรับโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ลาว-จีน ตามแผนคือจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งวิ่งจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปถึงบ่อเต็น และจะเชื่อมกับขบวนรถไฟไทย หนองคาย-กรุงเทพฯ และต่อไปจนถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งทั้งภายในประเทศและส่งออก เป็นเส้นทางหลักในการใช้ประโยชน์ร่วมกันในด้านโลจิสติกส์ของ EEC ทั้ง 5 ประเทศ ส่งผลให้ สปป.ลาว มีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ขณะเดียวกันก็เป็นการปลดล็อกจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงทางบก (Landlocked Country to Land-Link Country)

ที่สำคัญโครงการรถไฟความเร็วปานกลางสายบ่อเต็น-เวียงจันทน์ ไม่ได้สร้างภาระหนี้ให้กับ สปป.ลาว มากเกินไป เนื่องจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่คือ ตัวแทนของรัฐบาลจีน จากบริษัทเอกชนจีน (Boten-Vientiane Railway Co., Ltd. 40%, Beijing Yukun Investment Corporation 20%, Yunnan Investment Holding Group Co., Ltd. 10%) ที่ถือครองหุ้น 70% และตัวแทนรัฐบาล สปป.ลาว (รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว) ถือหุ้น 30% ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี หลังจากหมดระยะเวลาสัมปทานก็จะโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล สปป.ลาว

ส่วนโครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ซึ่งบริษัทเอกชนจีนเป็นผู้เข้ามาลงทุนทั้งหมด และแบ่งหุ้นให้รัฐบาลลาวถือ 5% โดยการลงทุนโครงการทางด่วนนี้เป็นรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) เพื่อแลกกับสิทธิสัมปทานค่าบริการผ่านทาง โดยแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ซึ่งในช่วงแรก ระหว่างเวียงจันทน์-วังเวียง ระยะทาง 113 กิโลเมตร ได้เปิดใช้งานไปเมื่อปลายปี 2563 ช่วงที่สอง วังเวียง-หลวงพระบาง ระยะทาง 137 กิโลเมตร จะเริ่มดำเนินการในปีนี้หรือปีหน้า ช่วงที่สาม หลวงพระบาง-อุดมไซ ระยะทาง 114 กิโลเมตร และช่วงสุดท้าย อุดมไซ-บ่อเต็น ระยะทาง 81 กิโลเมตร หากสร้างเสร็จครบทั้งหมดรวมระยะทาง 445 กิโลเมตร จะทำให้การเดินทางทางรถยนต์จากเวียงจันทน์ขึ้นไปยังชายแดนลาว-จีนที่เมืองบ่อเต็น ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงครึ่ง ลดเวลาจากเดิมที่ต้องใช้เวลาเดินทาง 15 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า การส่งออกและการลงทุน ระหว่าง สปป.ลาว กับภูมิภาคอาเซียน ทาง สปป.ลาว จะเป็นผู้เชื่อมโยงทุกประเทศในกลุ่ม CLMVT (Land Link) ไปสู่ประเทศจีนได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวก็จะขยายตัวมากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการทางด่วนลงไปทางใต้ จาก สปป.ลาว ไปถึงเวียดนาม ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนมาทำการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น และยังมีภาคเอกชนที่สนใจจะลงทุนในโครงการทางด่วนจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปถึงชายแดนเวียดนามโดยใช้เส้นทางหลักซาว คำม่วน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและประมูล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโครงการทางด่วนเลียบนครหลวงเวียงจันทน์ที่ภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนอีกด้วย

แนวทางพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังลงทุน

พลังงานไฟฟ้า ของ สปป.ลาว เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญ ที่สร้างเม็ดเงินจากการส่งออกเป็นลำดับ 2 ของประเทศ โดยในช่วงปี 2559-2563 สปป.ลาว สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจำนวน 53 โครงการ กำลังการผลิตการติดตั้ง 4,700 เมกะวัตต์ ความสามารถในการผลิต 22,500 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทำให้ในปัจจุบัน สปป.ลาว มีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 86 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 73 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 4 โครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดกว่า 14,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ สปป.ลาว มีแผนลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาเพิ่มทั้งหมด 48 โครงการ เพื่อผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen บริษัทรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ที่มีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดย สปป.ลาว มีเป้าหมายผลักดันให้ EDL-Gen เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ได้คาดการณ์ไว้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สปป.ลาว จะมีรายรับจากโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ประมาณ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติของแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศจะช่วยสนับสนุนให้ สปป.ลาว เป็นผู้ผลิตและส่งออกไฟฟ้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศและ สปป.ลาว มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำรายใหญ่ในการส่งออก “ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (renewable energy)” ป้อนภูมิภาคอาเซียน

แผนและปัจจัยอื่น ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ สปป.ลาว

เวลานี้มีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยที่สนใจมาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมที่อยู่ทางตอนเหนือ เขตหลวงน้ำทา ไซยะบุรี ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การเติบโต การส่งออก ไปถึงการสร้างงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ สปป.ลาว จะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิโปรดักต์หลายประเภท และเนื่องจากที่ผ่านมา สปป.ลาว มีการส่งออกทองคำ ทองแดง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติค่อนข้างสิ้นเปลือง แม้จะส่งผลให้ GDP เติบโต 7-8% แต่ก็เป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายคุ้มครองและใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิผลที่สุด จึงได้มีการทบทวนนโยบายการอนุญาตให้บริษัทเอกชนมาลงทุนในเหมืองแร่ โดยเฉพาะเหล็ก ทองคำ ทองแดง และถ่านหิน พร้อมกับกำหนดอัตราการเก็บภาษีอากรให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจช่วง 5 ปีจากนี้ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ และเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทยให้สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ได้มากยิ่งขึ้น