วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร

ฉีดวัคซีนโควิด
แฟ้มภาพ
สุขภาพดีกับรามาฯ อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนากันขึ้นมานั้นมีหลากหลายชนิด บางชนิดเป็นองค์ความรู้เก่าที่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนโรคอื่น ๆ และบางชนิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้กันในครั้งนี้

วัคซีนแต่ละชนิดคืออะไร ต่างกันอย่างไร หมอจะอธิบายให้ฟังดังต่อไปนี้

1.วัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) เป็นการใช้เชื้อที่ปรับแต่งพันธุกรรมให้มีฤทธิ์อ่อนลงที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดโควิด-19 ได้ เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาทั้งการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และให้วัคซีนผ่านทางจมูกเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อบุต่าง ๆ

2.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated or killed vaccine) เป็นการผลิตโดยการเพาะเซลล์ไวรัสแล้วนำสารเคมีมาทำให้เชื้อตาย ภูมิคุ้มกันจะทำลายทั้งโปรตีนหนาม (spike protein) และส่วนอื่น ๆ ของไวรัส ส่วนมากมักฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขณะนี้มีการพัฒนาในจีน อินเดีย และคาซัคสถาน

3.วัคซีนแบบใช้ไวรัสอื่นเป็นพาหะ (viral vector vaccine) เป็นการใช้ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ มาเป็นพาหะ (vector) โดยการนำสารพันธุกรรมที่ตัดต่อเอาเฉพาะส่วนที่จะถอดรหัสเป็นหนาม (spike) ของไวรัส SARS-CoV2 เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ทำให้ร่างกายสามารถใช้ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายจดจำเอาไว้จากวัคซีนมาทำลายไวรัสที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ ได้แก่ วัคซีนจากสหราชอาณาจักร ชื่อ AstraZeneca-Oxford และจากรัสเซีย ชื่อ Gamaleya

4.วัคซีนที่ฉีดสารพันธุกรรม ได้แก่

4.1 ดีเอ็นเอวัคซีน (DNA vaccine) คือ วัคซีนที่มีสารพันธุกรรมหลักนิวเคลียสของเซลล์ (nucleus) สามารถผลิตได้ง่ายและได้ปริมาณมากโดยใช้แบคทีเรียบางชนิด เช่น อีคอไล (E.coli) วัคซีนชนิดนี้อาจมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันไม่ค่อยสูง

4.2 เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA vaccine) ซึ่งคำว่า mRNA ย่อมาจาก messenger RNA เป็นอาร์เอ็นเอที่ได้จากการถอดรหัสของยีน (gene) สำหรับสังเคราะห์เป็นโปรตีนต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเปลี่ยนถ่ายข้อมูลพันธุกรรม โดยตัวมันเองอยู่นอกนิวเคลียสของเซลล์ ทำให้วัคซีนไม่ได้มีผลกับดีเอ็นเอ ทำให้ผลิตได้ง่ายในห้องปฏิบัติการ ในขณะนี้มีการใช้วัคซีนชนิดนี้ในสหรัฐอเมริกา ชื่อ mRNA 1273 (Moderna COVID-19 vaccine) และ COVID-19 mRNA vaccines BNT162b2 (Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine)

5.วัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน (recombinant protein vaccine) เป็นการรวมโปรตีนที่ผลิตออกมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งมีหลายแบบที่ขณะนี้กำลังพัฒนา ได้แก่ กลุ่มที่เน้นที่โปรตีนหนามเป็นหลัก (recombinant spike-protein vaccine) หรือใช้อนุพันธ์โครงสร้างที่เหมือนไวรัส (virus-like particle vaccine : VLP vaccine)

วัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ และฉีดกี่ครั้ง ?

มีรายงานว่า มีอาการเจ็บหรืออักเสบบริเวณที่ได้รับวัคซีนบ้าง บางครั้งอาจมีอาการคล้ายเป็นหวัดหลังฉีดวัคซีน แต่มักจะหายไปเองใน 1-2 วัน เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ และยังมีการให้วัคซีนไม่นานมาก จึงยังไม่ทราบผลระยะยาว มีข่าวออกมาว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายเสียชีวิต แต่ขณะนี้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

การรับวัคซีนกี่ครั้งจะขึ้นอยู่กับวัคซีนที่ได้รับ ส่วนใหญ่วัคซีนที่ผลิตในขณะนี้จะให้ฉีด 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองจะกำหนดไว้ประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนครั้งแรก เพื่อที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสูงเพียงพอที่จะทำให้ไม่เกิดโรค หรือถ้าเกิดโรคก็จะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

ขณะนี้มีการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยโดยการวิจัยในประเทศเอง และทำความร่วมมือในการวิจัยจากต่างประเทศ และมีการทำสัญญาในการจัดซื้อ จัดหาเข้ามาในประเทศไทย หรือการนำเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาเพื่อเปิดโรงงานผลิตในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

โดยทั่วไปมีความจำเป็นจะต้องพิจารณาว่ากลุ่มใดมีความเสี่ยงสูงที่สุด หรือมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนมากที่สุด ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินงาน ปริมาณวัคซีนที่ผลิตได้ทั่วโลกคาดว่าจะเพียงพอสำหรับทุกคนภายใน 2-3 ปี แต่เนื่องจากวัคซีนเป็นที่ต้องการทั่วโลก และไม่สามารถผลิตได้โดยง่าย ในช่วงแรกอาจมีความจำเป็นต้องคัดเลือกกลุ่มคนที่รับวัคซีนอย่างเหมาะสม

อ้างอิง : https://www.who.int/publications/m/item/draft-landscape-of-covid-19-candidate-vaccines เข้าถึงข้อมูลล่าสุด วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/index.html เข้าถึงข้อมูลล่าสุด วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/coronavirus-vaccination/coronavirus-vaccine/ เข้าถึงข้อมูลล่าสุด วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล