หลักการทรงงานในหลวง ร.9 บริหารคน-บริหารองค์กรยั่งยืน

หลักการทรงงานในหลวง ร.9 บริหารคน-บริหารองค์กรยั่งยืน
แฟ้มภาพ

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติปกครองประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนไทย และทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาในการดูแลสารทุกข์สุกดิบของปวงอาณาประชาราษฎร์ตลอดมา

พระองค์เสด็จฯเยี่ยมเยือนราษฎรทั่วทุกสารทิศ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย และตระหนักถึงสภาพความเป็นอยู่ของปวงราษฎรที่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไข และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พสกนิกรไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด และไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม เพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,600 โครงการ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงถือเป็นหลักการที่องค์กรต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กร และบริหารทรัพยากรบุคคล อันเป็นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ที่นำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9

1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยในการทรงงานของพระองค์ จะทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ และเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงกับความต้องการ

2. ระเบิดจากข้างใน ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคน โดยจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนมีความพร้อมก่อน ไม่ใช่นำเอาความเจริญหรือบุคลากรจากภายนอกเข้าไปในชุมชน ทั้งที่ชุมชนไม่ได้มีการเตรียมตัว

3. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก พระองค์จะทรงแก้ไขปัญหา ด้วยการมองปัญหาในภาพรวม (macro) ก่อนเสมอ แต่ในขณะที่การแก้ปัญหานั้น พระองค์จะทรงเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม

4. ทำตามลำดับขั้นตอน ในการทรงงาน พระองค์จะเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน อย่างเช่น ด้านสาธารณสุข เมื่อประชาชนร่างกายแข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ เพราะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบอาชีพ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีที่เรียบง่าย การปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรนำไปปฏิบัติ และเกิดประโยชน์สูงสุด

5. ภูมิสังคม โดยในการพัฒนาใด ๆ พระองค์จะให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นเป็นอย่างไร และสังคมวิทยา วัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

6. องค์รวม พระองค์ทรงมีวิธีคิดอย่างเป็นองค์รวม (holistic) หรือจะเรียกว่า มองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ครบวงจร และเป็นพลวัตที่ทุกมิติเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการใดโครงการหนึ่งจะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

7. ไม่ติดตำรา โดยในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พระองค์จะทรงอนุโลม และรอมชอมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน โดยไม่ผูกติดกับวิชาการ และเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง

8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร พระองค์ทรงใช้หลักการแก้ปัญหา ด้วยความเรียบง่าย และประหยัด โดยราษฎรสามารถทำเองได้ หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาแก้ไขปัญหา ไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก

9. ทำให้ง่าย ในการคิดค้น ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาของประเทศ พระองค์ทรงทำในสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ ระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพสังคมของชุมชนนั้น ๆ อันจะเห็นจากการพัฒนาประเทศในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

10. การมีส่วนร่วม ในการทรงงาน พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งสาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมกันทำงานโครงการพระราชดำริ และทรงคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชนด้วย ดังวิธีการหนึ่งที่พระองค์ทรงใช้ คือ ประชาพิจารณ์

11. ประโยชน์ส่วนรวม โดยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนา ช่วยเหลือพสกนิกร พระองค์ทรงระลึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ

12. บริการที่จุดเดียว (one stop services) พระองค์ทรงใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อที่ผู้มาขอใช้บริการจะประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการ และให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว ซึ่งถือเป็นรูปแบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย

13. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ พระองค์ทรงเข้าใจธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ มองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด ซึ่งหากต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาเสื่อมโทรม ด้วยการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก โดยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ

14. ใช้ธรรมปราบอธรรม พระองค์ทรงนำความจริง ในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ

15. ปลูกป่าในใจคน เป็นอีกหนึ่งหลักการที่พระองค์มองว่าการที่จะฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมาดังเดิมนั้น สิ่งสำคัญจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน

16. ขาดทุน คือ กำไร เป็นอีกหนึ่งหลักการที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรไทย ซึ่ง “การให้” และ “การเสียสละ”เป็นการกระทำอันมีผลเป็น “กำไร” คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ที่สามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านการทรงงานตลอด 70 ปีของพระองค์

17. การพึ่งตนเอง ในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ และขั้นต่อไป คือ การพัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ ตามสภาพแวดล้อม และพึ่งตนเองได้ในที่สุด

18. พออยู่พอกิน ในการพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ประสบความสุข สมบูรณ์ในชีวิต พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรทุกภาคของประเทศ และทรงเข้าใจในสภาพปัญหาที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จึงพระราชทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อพสกนิกรมีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้นพออยู่พอกิน ก่อนที่จะขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

19. เศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นปรัชญาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มาโดยตลอดกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยให้ดำเนินชีวิตไปบนทางสายกลาง และเมื่อมีกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ พระองค์ทรงย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ในการพัฒนาและบริหารให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

20. ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2522 ที่ว่า…คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงที่สำเร็จ

21. ทำงานอย่างมีความสุข ในการทรงงาน พระองค์จะทรงมีพระเกษมสำราญ และมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน

22. ความเพียร ในการริเริ่มดำเนินโครงการต่าง ๆ ในระยะแรกที่ไม่ได้มีความพร้อมในการดำเนินงาน พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น และพระองค์ไม่ได้ท้อพระราชหฤทัย ทรงอดทน และมุ่งมั่นดำเนินงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์พระมหาชนก

23. รู้ รัก สามัคคี ถือเป็นหลักการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสามคำมีค่า และมีความหมายลึกซึ้ง และสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย

โดยคำว่า “รู้” คือ “การที่จะลงมือทำสิ่งใด จะต้องรู้ถึงปัจจัย รู้ถึงปัญหา รู้ถึงวิธีการแก้ไข”

“รัก” คือความรัก เมื่อรู้ครบแล้ว จะต้องมีความรัก และพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ

“สามัคคี” คือในการที่จะลงมือปฏิบัติ ควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ดังนั้น เชื่อว่าหากองค์กรใดนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่สร้างความอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา