พระเมรุมาศ ร.๙ ชะลอสวรรค์สู่หล้า เทิดพระเกียรติเกริกไกร

วันที่ประชาชนชาวไทยไม่อยากให้มาถึงกำลังใกล้เข้ามาเต็มที นับเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนที่พสกนิกรชาวไทยจะได้น้อมรำลึกถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9)

ขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีกำลังเตรียมความพร้อมโค้งสุดท้ายกันอย่างแข็งขัน

ส่วนที่อยู่ในความสนใจของประชาชนไทยมากที่สุดก็คือ ความพร้อมของพระเมรุมาศและมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ขณะนี้การก่อสร้างพระเมรุมาศสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เริ่มต้นมานานเกือบปี ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดการ เหลือเพียงรายละเอียดปลีกย่อย อย่างเช่น การปูพรม การติดผ้าม่านในอาคาร ซึ่งทั้งหมดจะแล้วเสร็จในวันที่ 10 ตุลาคมนี้

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเมรุมาศในวันที่ 18 ตุลาคม ก่อนจะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ 26 ตุลาคม

หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างพระเมรุมาศคือกรมศิลปากร โดยสำนักสถาปัตยกรรมดูแลรับผิดชอบการก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารโดยรอบ สำนักช่างสิบหมู่รับผิดชอบ

การปั้นหุ่นประดับพระเมรุมาศ สำนักภูมิสถาปัตยกรรมดูแลรับผิดชอบการออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายนอกอาคาร

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า การออกแบบพระเมรุมาศยึดหลักสามข้อ คือ หนึ่ง-รวบรวมช่างฝีมือของแผ่นดินมาออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อแสดงถึงการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สอง-ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และ สาม-นำเอาคติความเชื่อว่าด้วยเรื่องพระมหากษัตริย์เสมือนสมมติเทพ เชื่อมโยงกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล

รูปแบบพระเมรุมาศ 

พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าหาพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ ทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ

บุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลางฐานชาลาชั้นบนสุด เป็นอาคารทรงบุษบกมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) ตรงกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ

ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารในตอนบนและ ตอนล่างเขียนภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฐานบุษบกประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง

มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดพระอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธาน จนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ

ถัดลงมา บนฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี

ฐานชาลาชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด ล้อมด้วยรั้วราชวัติ ประดับด้วยฉัตรและเทวดานั่งถือบังแทรก ที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาล ประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกประธาน รอบฐานพระเมรุมาศมีสระน้ำและเขามอจำลอง ประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่าง ๆ

การวางผังอาคารเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแกนเดียวกับพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

อาคารประกอบพระเมรุมาศ 

ภายในมณฑลพิธี นอกจากองค์พระเมรุมาศแล้ว มีอาคารประกอบพระเมรุมาศซึ่งยึดตามรูปแบบโบราณราชประเพณี ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม-เป็นอาคารสำหรับประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุและพระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ บุคคลที่จะอยู่ในพระที่นั่งทรงธรรมในระหว่างประกอบพิธี ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ พระสังฆราช พระราชาคณะชั้นสมเด็จ ประมุขต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ ข้าราชบริพาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นายกฯ คณะรัฐมนตรี และทูตานุทูต

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการก่อสร้างพระเมรุมาศบอกว่า การก่อสร้างพระที่นั่งทรงธรรมในครั้งนี้ขนาดใหญ่กว่างานพระราชพิธีทุกครั้งที่ผ่านมา สามารถรองรับผู้เข้าร่วมพิธีได้ประมาณ 2 พันคน

ศาลาลูกขุน-เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่รอบพระเมรุมาศ

รูปแบบเป็นอาคารโถงทรงไทยชั้นเดียว สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้ารับเสด็จทับเกษตร-เป็นอาคารโถง ตั้งอยู่สุดเขตปริมณฑลพระราชพิธี มักสร้างติดแนวรั้วราชวัติ เสมือนเป็นระเบียงล้อมรอบพระเมรุมาศหรือพระเมรุ

ทิม-ทับเกษตร, พลับพลายก, ศาลาลูกขุน, สัตว์หิมพานต์บริเวณสระอโนดาต

ศาลาเปลื้องเครื่อง (หอเปลื้อง)-ใช้เป็นสถานที่สำหรับพักพระโกศทองใหญ่ หลังจากที่เปลื้องออกจากพระโกศลองในแล้ว และยังเป็นที่เก็บเครื่องประกอบอื่น ๆ ในพระราชพิธีพระบรมศพ นิยมสร้างอยู่ทางด้านตะวันออกของพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ

ทิม-เป็นอาคารที่สร้างติดแนวรั้วราชวัติทั้งสี่ด้าน ใช้เป็นที่พักข้าราชบริพารและผู้มาเฝ้ารับเสด็จ

พลับพลายก-เป็นอาคารโถงสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประทับเพื่อรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันมีการก่อสร้างพลับพลายก 3 แห่ง คือ พลับพลายกบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตั้งอยู่หน้าพระเมรุมาศ พลับพลายกด้านหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพลับพลาด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท

อาคารและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์สอดคล้องกับองค์พระเมรุมาศ เพื่อเสริมสร้างให้พระเมรุมาศมีความสง่างามตามพระบรมราชอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

นอกจากอาคารที่ตั้งอยู่ในขอบเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศแล้ว ยังมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ อาทิ เครื่องประกอบในการตั้งพระบรมศพ พระศพ เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล เครื่องประกอบในการถวายพระเพลิง เครื่องสูง เครื่องราชูปโภค เครื่องประโคม เครื่องประดับตกแต่งพระเมรุมาศ ที่สำคัญ เช่น พระโกศ พระจิตกาธาน (เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ หมายถึงเชิงตะกอนหรือฐานสำหรับเผาศพ) ฉัตร ฉากบังเพลิง

ภูมิสถาปัตยกรรม 

แนวความคิดด้านภูมิสถาปัตยกรรมต้องการแสดงให้เห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความผูกพันกับน้ำ เห็นได้จากโครงการพระราชดำริกว่า 4,500 โครงการ มีกว่า 3,000 โครงการที่เกี่ยวกับน้ำ น้ำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิสถาปัตยกรรมรอบฐานพระเมรุมาศ

การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นการออกแบบโดยตีความจากแผนภูมิจักรวาล โดยเปรียบเทียบพระเมรุมาศเป็นเขาพระสุเมรุ บริเวณรอบ ๆ เป็นจักรวาล ประกอบด้วยสัตตบริภัณฑคีรี มหาสมุทร ทวีปทั้ง 4 ได้แก่ อุตรกุรุทวีป อยู่ทางเหนือของเขาพระสุเมรุ บุฟพวิเทหะ อยู่ทางตะวันออกของเขาพระสุเมรุ ชมพูทวีป (โลกมนุษย์) อยู่ทางใต้ของเขาพระสุเมรุ และอมรโคยาน อยู่ทางตะวันตกของเขาพระสุเมรุ

ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือและทิศใต้สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการนำเสนอการจัดการพื้นที่ พืชพรรณ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตรนำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ส่วนภายในรั้วราชวัตรเลือกพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณ และพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ

พื้นที่ว่างระหว่างอาคาร เป็นพื้นที่ใช้สอย จะมีต้นไม้ดอกไม้ประดับ และมีการทำลานเพื่อให้คนสัญจรไปมาหรือทำกิจกรรม การออกแบบในส่วนนี้ไม้ได้เน้นตีความในเชิงภูมิจักรวาล แต่เป็นการออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย ให้ความร่มรื่นและความสวยงาม

พื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัตรทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของพระเมรุมาศ เป็นงานภูมิสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจหรืองานโครงการหลวงในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น โครงการที่เกี่ยวกับหญ้าแฝก ข้าว แก้มลิง กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ต้นยางนา ในส่วนนาข้าวจะมีขอบคันนา ซึ่งเป็นการออกแบบเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นเป็นเลขเก้าไทยสีดินทอง

อธิบดีกรมศิลปากรบอกอีกว่า การออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ในมณฑลพิธียึดตามหลักโบราณราชประเพณี แต่ในแง่รายละเอียดถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย อย่างเช่นขนาดพื้นที่มณฑลพิธี และขนาดอาคารต่าง ๆ ที่ขยายให้รองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเมืองไทยมีประชากร 65 ล้านคน จำนวนข้าราชการก็มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้นผู้ที่จะเข้าร่วมพิธีก็มีจำนวนมากขึ้น แต่เดิมอาณาเขตมณฑลพิธีใช้เส้นกลางสนามหลวงเป็นขอบเขต แต่ครั้งนี้ต้องขยายเพิ่มขึ้นอีกถึง 100 เมตร

ภาพพระเมรุมาศที่ปรากฏ บอกเล่าความงามและความยิ่งใหญ่ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เทียบไม่ได้เลยกับการได้เข้าไปเห็นด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าปีติยินดีสำหรับประชาชนชาวไทย เนื่องจากหลักเสร็จงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมพระเมรุมาศและเขตมณฑลพิธีได้ในระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายนนี้ เป็นเวลาหนึ่งเดือนที่คนไทยจะได้เข้าใกล้สรวงสวรรค์อันเป็นที่ประทับของในหลวงผู้เป็นที่รักยิ่งของพวกเรา