โครงการพระราชดำริด้านแหล่งน้ำ ชโลมชีวิตอาณาประชาราษฎร์

“น้ำคือชีวิต” ข้อความตอนสั้น ๆ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่นำมาซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อบำบัดทุกข์ของปวงประชาชนชาวไทยทั่วประเทศมากกว่า 3,000 โครงการ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมชนกนาถ พระองค์ก็ทรงเล็งเห็นความสำคัญของน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์เฉกเช่นพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านแหล่งน้ำของพระองค์เอง มากกว่า 70 โครงการทั่วประเทศ

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 “ประชาชาติธุรกิจ” ขอยกตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของปวงประชาชนชาวไทย ดังต่อไปนี้

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 37 โครงการ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 37 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากถึง 19 โครงการ และทุกโครงการเป็นโครงการพระราชดำริตรงทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง โครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่ที่ 8 (บ้านธนูศิลป์) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินตามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปยังศูนย์ศิลปาชีพวัดชนาราม บ้านไทยสุข ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2545

ในครั้งนั้นพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านธนูศิลป์ และทอดพระเนตรเห็นสภาพปัญหา ชาวบ้านขาดแคลนน้ำดื่มและน้ำใช้ ส่วนใหญ่ใช้นํ้าจากลำธาร ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ มีเพียงฝายชั่วคราวขนาดเล็กที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นขณะที่ถนนหนทางที่ใช้สัญจรในพื้นที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเดินทางลำบาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎร และปรับปรุงถนนหนทางให้สามารถใช้สัญจรไปมาได้สะดวก

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร

ย้อนไปเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรผู้ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ณ โรงเรียนบ้านคำน้ำสร้าง ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่าปัญหาในพื้นที่ตำบลค้อเหนือเกิดจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่โดยรวม ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ 1.พัฒนาขุดลอกหนองอึ่งเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและขยายพันธุ์ปลา 2.พัฒนา ปรับปรุงพื้นที่ สภาพดิน รอบหนองอึ่ง ด้วยการปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน 3.ฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน

โครงการเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2544 ขอบเขตพื้นที่โครงการ 43.9 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 15 หมู่บ้านในตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร รวมจำนวนประชากร 2,036 ครัวเรือน 7,767 คน ซึ่งมี “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่” เป็นพื้นที่ส่วนสำคัญในพื้นที่โครงการการขุดลอกหนองอึ่งเร่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2545 กินพื้นที่ 430 ไร่ มีการสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อเปิดรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนมาเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งหรือเมื่อฝนทิ้งช่วง และมีการนำดินที่ขุดลอกหนองอึ่งขึ้นมาปรับสภาพบริเวณรอบหนองอึ่งจำนวน 100 ไร่ แล้วจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านที่เคยบุกรุกป่าได้ทำกินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 120 ราย

การพัฒนาพื้นที่เรื่องน้ำดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาเรื่องป่า ปี 2544 สำนักงานป่าไม้จังหวัดยโสธรเข้าไปดำเนินการพื้นฟูให้ป่าดงมัน โดยมีการทำประชาคม 7 หมู่บ้านรอบโครงการ ขอคืนพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพัฒนาเป็นป่าชุมชนที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และก่อตั้ง “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่”

ป่าชุมชนดงมันจึงค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการเก็บหาของป่าเป็นอาหารและนำไปขาย ปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้จากการขายของป่ารวมปีละ 3 ล้านบาท

หลังจากพัฒนาปรับปรุงพื้นที่และฟื้นฟูป่าแล้ว ในพื้นที่มีผลผลิตการเกษตรและมีของป่าจำนวนมาก จึงมีการพัฒนาต่อยอดแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปัจจุบันมีชาวบ้านราว 70 ราย รวมตัวกันตั้งสหกรณ์การเกษตรแปรรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อแบรนด์ “วนาทิพย์” มีรายได้ปีละล้านกว่าบาท

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำบ้านโพนไฮอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำบ้านโพนไฮไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่นางสาวปนัดดา แสนสุภา ราษฎรบ้านโพนไฮ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

ขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำบ้านโพนไฮ เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในฤดูแล้ง เมื่อทรงรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำบ้านโพนไฮไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว กรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ ส่งผ่านท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.30 เมตร ยาว 4,150 เมตร พร้อมอาคารประกอบ และบ่อพักน้ำขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำประปาหมู่บ้านให้กับราษฎรใช้สำหรับ อุปโภคบริโภค ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำบ้านโพนไฮฯ ทำให้ราษฎรบ้านโพนไฮจำนวน 140 ครัวเรือน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และสามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 1,300 ไร่ และในฤดูแล้ง 750 ไร่ ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โครงการฝายห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการฝายห้วยยางไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่นายอุดม เด่นดวง ราษฎรบ้านนาเมือง ตำบลกุดปลาดุกอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ขอพระราชทานโครงการฝายห้วยยาง บริเวณพื้นที่บ้านนาเมือง เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน จากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง

กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างฝายน้ำล้นลำห้วยยาง กว้าง 13.20 เมตร ยาว 55 เมตร สูง 2.50 เมตร เพื่อเป็นอาคารบังคับน้ำในลำน้ำให้มีระดับสูงขึ้น และขุดลอกลำห้วยยางด้านเหนือ ความยาว 1,600 เมตร ลึก 1.50 เมตร พร้อมกับดำเนินการรื้อฝาย มข. (เดิม) ที่ชำรุดเสียหาย ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2561

โครงการฝายห้วยยางฯ ได้นำประโยชน์มาสู่พื้นที่บ้านนาเมือง ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ทำให้ราษฎรจำนวน 183 ครัวเรือน มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 1,750 ไร่ และในฤดูแล้ง 60 ไร่ ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น

นายไพศาล บุญทศ เกษตรกรในพื้นที่กล่าวว่า เมื่อโครงการฝายห้วยยางแล้วเสร็จ สามารถส่งไปยังแปลงเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง ทุกคนสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี

“ราษฎรบ้านนาเมืองทุกคนดีใจ ภาคภูมิใจ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการฝายห้วยยางไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นายไพศาลกล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

นอกจากโครงการที่ยกตัวอย่างไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านน้ำเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดเกล้าฯให้องคมนตรีหรือผู้แทนพระองค์ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านแหล่งน้ำทั่วประเทศอยู่เสมอ ทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์เอง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับเป็นความโชคดีของปวงประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชนมากเช่นนี้