
ในปี 2022 มีประชากรจำนวน 304 ล้านรายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) บีและซีแบบเรื้อรัง โดยมากกว่าครึ่งผู้ติดเชื้อไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อ และมากกว่า 80% ไม่ได้เข้ารับการรักษา (ข้อมูลจาก Coalition for Global Hepatitis Elimination) ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบมียอดสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ (HIV) ถึงสามเท่า และถือเป็น 63% ของยอดผู้เสียชีวิตจากตับอักเสบทั่วโลก
ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการตั้งเป้ากำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดพิมพ์ Global Health Sector Strategy on viral hepatitis ขึ้นมาเพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
โดยมีคำขวัญว่า “กำจัดให้หมดสิ้นไป” โดยกำหนดให้อัตราเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีต้องลดลง 90% และอัตราการเสียชีวิตจะต้องลดลง 65% เมื่อเทียบจากปี 2015 ถึงปี 2030
แม้ว่าหลายประเทศจะปฏิบัติตามแนวทางแนะนำของ WHO แต่ความเป็นจริงยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบนั้นยังไม่ได้ขยายไปทั่วทั้งระบบสาธารณสุข และแนวทางบำบัดที่ง่ายและผู้คนจ่ายได้ถึงนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบริการปฐมภูมิ ในประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลาง
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดงาน Asia Pacific-International Roche Infectious Disease (IRIDS) 2024 ขึ้นที่ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 18-21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก 12 ประเทศในกลุ่ม APAC มาร่วมเจาะลึกถึงประเด็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรคตับอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมมนุษย์ ที่จะเป็นอุปสรรคกีดขวางการรักษา
รวมถึงการนำเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ก่อนถึงวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) ที่ WHO กำหนดให้เป็นวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี

“ดร.จอห์น วอร์ด” ผู้อำนวยการ Coalition for Global Hepatitis Elimination กล่าวว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบแซงหน้าเชื้อเอชไอวีไปแล้วในฐานะภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระดับโลก ในมุมหนึ่งภัยเรื่องตับอักเสบนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ในอีกมุมหนึ่งคือโอกาส เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ป้องกันได้
“ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมีความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบสูงมาก แต่ในฝั่งทวีปอเมริกาและยุโรปได้ก้าวไปสู่โลกที่ไร้ไวรัสตับอักเสบ และการรับมือกับการรังเกียจคนเป็นไวรัสตับอักเสบสำเร็จ เพราะมีนโยบายให้ความสำคัญไปที่การตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซีในกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมด
แม้ว่าความชุกของโรคนี้จะมีน้อยมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย แต่กลุ่มคนผู้ใหญ่ที่เกิดในยุคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ทวีปอเมริกาและยุโรปจึงโฟกัสที่คนกลุ่มเหล่านี้ นอกจากนั้น ยังมีนโยบายต่อต้านการรังเกียจผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบจะยังคงได้รับการจ้างงาน และเข้าถึงระบบสาธารณสุข”
หลายประเทศยังคงมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสหรือรับประทานอาหารร่วมกัน แต่ความจริงคือเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านเลือด ดังนั้น จะติดต่อได้ผ่านการถ่ายเลือด การใช้เข็มที่มีเชื้อปนเปื้อน และการใช้แปรงสีฟันหรือมีดโกนที่มีเชื้อร่วมกัน ส่วนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น การใช้ช้อน การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันไม่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

“โรเบอร์ตา ซาโน” ผู้อำนวยการสมาคมโรคตับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า สถานการณ์ด้านตับอักเสบในเอเชีย-แปซิฟิกยังไม่สู้ดีนัก โดยปัญหาหลักอยู่ที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ครอบคลุมพอ และยังมีความเชื่อผิด ๆ ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางว่า การกำจัดโรคตับอักเสบให้หมดสิ้นไปนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ข้อมูลต่าง ๆ กลับชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายตรงนี้หากเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่ทำอะไรเลย ถือว่าน้อยกว่ามาก
“หนึ่งในเป้าหมายของงาน APAC-IRIDS 2024 คือการดึงความสนใจของรัฐบาล และนำเสนอข้อมูลทางสาธารณสุขเพื่อให้ภาครัฐเข้าใจว่าโรคไวรัสตับอักเสบนั้นส่งผลกระทบถึงระดับประเทศได้มากเพียงใด รัฐบาลจะได้จัดสรรทรัพยากร ตลอดจนวางแนวทางในการตรวจและรักษาได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งการตรวจหาไวรัสตับอักเสบสามารถทำได้ผ่านบริการแบบ Point-of-Care ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถทำการตรวจ วินิจฉัย และเริ่มการรักษาผู้ป่วยได้ในคราเดียว นอกจากนี้ ลู่ทางและโอกาสสำหรับการตรวจหาไวรัสตับอักเสบแบบตรวจด้วยตนเองที่บ้านตอนนี้ก็มีแล้ว”

“ศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี” หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบเหมือนมังกรเงียบ มักไม่แสดงอาการอะไรออกมาจนกว่าเวลาจะผ่านไปนาน ๆ จนไวรัสค่อย ๆ ทำลายตับ และเมื่อใดก็ตามที่อาการเริ่มออก หลายคนก็พัฒนาจนเป็นมะเร็งตับแล้ว ซึ่งมีโอกาสหายยาก และเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับสามอีกด้วย
“คนทั่วไปต้องไปตรวจเพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองมีเชื้อหรือไม่ แต่เนื่องจากโรคนี้มักไม่แสดงอาการอะไรออกมา ผู้คนจึงไม่รู้หรือไม่คิดจะไปตรวจ ดังนั้น การมีแนวนโยบายระดับชาติมาปรับใช้เพื่อให้ทุกคนต้องเข้ารับการตรวจก็จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายตรงนี้ได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ตั้งเป้ากำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี และซีให้สำเร็จ ภายในปี 2030 จึงพยายามผลักดันให้ประชาชนตรวจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฟรี ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน”
เหตุผลที่ไวรัสตับอักเสบซีมีความชุกในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง เนื่องจากประชากรขาดการรับรู้ในเรื่องความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขไม่ดีพอ นำไปสู่การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาที่ไม่เพียงพอ นอกจากนั้น การใช้เข็มเสพยา ซึ่งพบได้บ่อยกว่าเนื่องจากความยากจน ขาดการศึกษา และมีบริการบรรเทาทุกข์ไม่เพียงพอ ทำให้คนติดไวรัสสู่กันได้
“นายแบค” (นามสมุมติ) ชาวเวียดนามที่เป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี มาร่วมแชร์ประสบการณ์ว่าได้รับการวินิจฉัยเป็นไวรัสตับอักเสบซีโดยบังเอิญเมื่อปี 2012 จากการตรวจสุขภาพประจำที่โรงพยาบาลท้องถิ่น ซึ่งได้สร้างความแปลกใจอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และมีวิถีชีวิตที่สุขภาพดีอยู่เสมอ
แต่สันนิษฐานว่าด้วยอาชีพเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งอาจจะได้สัมผัสเชื้อเข้ากระแสเลือดโดยไม่รู้ตัวจากปฏิบัติทางการแพทย์ไม่ถูกหลักอนามัย
“หลังจากที่รู้ถึงสถานะของตัวเอง ผมต้องเผชิญกับความเครียดจากการขนานนามว่าเป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี และกังวลเรื่องการติดต่อโรคภายในสมาชิกในครอบครัว แต่โชคดีที่มีทัศนคติบวก และใช้ความรู้ทางการแพทย์ของตัวเองและขอคำปรึกษาจากเพื่อนร่วมงานในด้านโรคติดเชื้อ
ทำให้เข้าใจโรคและวิธีการประคับประคองตนเองได้ดียิ่งขึ้น ไวรัสตับอักเสบซีเป็นการติดเชื้อที่สามารถรักษาได้ โดยยาต้านเชื้อโดยตรง (DAAs) สามารถรักษาได้มากกว่า 95% ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แต่การเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษายังคงต่ำ”
“ตอนนี้ผมมีผลตรวจเป็นลบหลังจากที่เขาทำการรักษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนในปี 2016 ในปัจจุบันมีการตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบทุก ๆ 12 เดือน ผมอยากให้คนเห็นความสำคัญของการตรวจ ถึงแม้ยังมีผู้คนมากมายมีความลังเลที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองเพราะกลัวจะถูกรังเกียจ คนที่เป็นโรคนี้จึงมักปิดปากเงียบ แต่ความจริงโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง”
ดังนั้น เพื่อให้เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดสิ้นไป ทุกประเทศต้องขยายการเข้าถึงบริการป้องกัน ตรวจวินิจฉัย และรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น